xs
xsm
sm
md
lg

อธิการบดีธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรัก “มาลีนนท์”

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

“ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน”

วาทะสำคัญนี้มีต้นเค้ามาจากบทความอันลือลั่นของ กุหลาบ สายประดิษฐ์ สะท้อนชัดหลักการของประชาคมธรรมศาสตร์ นับแต่มหาวิทยาลัยนี้กำเนิดขึ้นมาเมื่อ พ.ศ. 2477 ภายใต้อุดมการณ์ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเสมอภาคทางการศึกษา

อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรรมศาสตร์คนปัจจุบันคือ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ได้มาเป็นประธานกรรมการบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) หลายคนจึงมีความคาดหวังว่าจะมาเป็นผู้ที่จะสามารถนำความรู้ความสามารถมาพัฒนาและสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศชาติและประชาชน ด้วยอุดมการณ์ของธรรมศาสตร์

ไทยทีวีสีช่อง 3 คือกรณีศึกษาของตัวอย่างในการตัดสินใจว่าจะเลือกประโยชน์ของประเทศชาติประชาชน หรือจะเลือกประโยชน์ของ “มาลีนนท์” ในนาม “บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด”

สัญญาร่วมดำเนินการไทยทีวีสีช่อง 3 ของ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด จะหมดสัญญาในวันที่ 25 มีนาคม 2553 นี้ โดยในสัญญาที่แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ระบุเอาไว้ว่า:

“หาก บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ปฏิบัติตามเงื่อนไขและ ไม่มีการกระทำผิดสัญญา อสมท ตกลงให้บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ร่วมดำเนินการออกอากาศสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคไปอีก 10 ปี (พ.ศ. 2553 – 2563) และกำหนดเงื่อนไขให้จ่ายค่าตอบแทนให้ อสมท “ไม่น้อยกว่า 2,002.61 ล้านบาท” (เฉลี่ยปีละประมาณไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาทเท่านั้น)

แปลว่า อสมท มีสิทธิที่จะไม่ต่อสัญญาไทยทีวีสีช่อง 3 ได้หากมีการกระทำผิดสัญญา และหากจะเลือกต่อสัญญาก็สามารถเรียกค่าตอบแทนได้ให้เท่ากับสิ่งที่ อสมท พึงจะต้องได้ตามราคาตลาด

ก่อนหน้านี้ วันที่ 6 มีนาคม 2550 ปรากฏเป็น รายงานข้อเท็จจริงเบื้องต้นเกี่ยวกับสัญญาร่วมดำเนินกิจการไทยทีวีสีช่อง 3 ของคณะกรรมการพิจารณาด้านสัญญาและกฎหมาย ที่มีนายจรัญ ภักดีธนากุล เป็นประธานคณะกรรมการฯ ลง ซึ่งแต่งตั้งโดย นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร อดีตรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. อสมท พบความผิดปกติมากมายรวมถึงข้อเสนอให้ยกเลิกสัญญาในกรณีที่พบว่าได้ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ กระทำผิดต่อสัญญา และแจ้งต่อคณะกรรมการ อสมท ให้ทราบแล้ว

ขอบันทึกตรงนี้เอาไว้ก่อนว่าคณะกรรมการ อสมท ได้รับทราบความผิดปกติของสัญญาและประเด็นการกระทำผิดต่อสัญญาแล้ว!!!


เมื่อมีผลการศึกษาการกระทำที่อาจเข้าข่ายผิดสัญญา และกำลังจะเข้าสู่การหมดสัญญา วิธีการที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐก็คือ “เปิดประมูล”โครงการที่มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินโครงการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535

28 พฤษภาคม 2552 คณะกรรมการ อสมท มีมติในการประชุมครั้งที่ 8/2552 ให้แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินโครงการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 มาตรา 13 (หมายถึงตั้งคณะกรรมการโครงการเพื่อเชิญชวนเอกชนให้เข้าร่วมดำเนินการด้วยการประมูล)

4 มิถุนายน 2552 นายชิตณรงค์ คุณะกฤดาธิการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ทำหนังสือเชิญถึงหลายหน่วยงานของรัฐเพื่อส่งตัวเแทนเข้ามาเป็นคณะกรรมการดำเนินโครงการในการให้เอกชนเข้าร่วมงาน เพื่อทำการประมูลตามมติคณะกรรมการ อสมท และเป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินโครงการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 มาตรา 13

3 กรกฎาคม 2552 หน่วยราชการต่างๆ ที่เชิญไปได้ตอบรับและส่งตัวแทนเข้าเป็นคณะกรรมการโครงการตามมาตรา 13 และได้มีการประชุมกัน 1 ครั้ง มีความเห็นให้สอบถามไปยัง อสมท ในข้อกฎหมายหลายประการ และได้ทำหนังสือบันทึกถึงประธานกรรมการ อสมท เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 เพื่อให้ประธานกรรมการ อสมท มีบัญชาให้นำเสนอคณะกรรมการ บมจ.อสมท ในหลายประเด็นโดยมีประเด็นที่สอบถาม 4 ประเด็นคือ

1. ความเห็นของ บมจ.อสมท ว่าควรดำเนินการต่อสัญญากับ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ตามเงื่อนไขของสัญญาที่แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 หรือไม่ อัตราค่าตอบแทนตามสัญญา ตลอดจน บมจ.อสมท มีความประสงค์ให้ บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ปฏิบัติอะไรเพิ่มเติมสำหรับระยะเวลาที่จะขยายไปอีก 10 ปี

2. เนื่องจากสัญญาร่วมดำเนินการกิจการไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นสัญญาซึ่งเกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ จึงต้องพิจารณาพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ประกอบด้วย รวมทั้งขั้นตอนการต่อสัญญาร่วมดำเนินกิจการไทยทีวีสีช่อง 3 หากต่อสัญญาอาจมีปัญหาขัดแย้งกับพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือไม่ ขอให้ บมจ. อสมท เร่งมีหนังสือหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นดังกล่าว รวมทั้งหารือแนวทางและขั้นตอนการต่อสัญญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ไปคราวเดียวกัน

3. แม้สัญญาร่วมดำเนินกิจการไทยทีวีสีช่อง 3 เห็นสมควรจัดจ้างที่ปรึกษากฎหมาย และที่ปรึกษาด้านการเงิน
เพื่อช่วยพิจารณาตีความข้อกฎหมายและสัญญา รวมทั้งพิจารณาค่าตอบแทนที่เหมาะสมหรือไม่

4. มอบสำนักกฎหมายและเลขานุการคณะกรรมการดำเนินโครงการฯ จัดรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องและประสานงานกับคณะกรรมการประสานงานตามมาตรา 22 เพื่อนำผลการพิจารณาเกี่ยวกับการติดตามกำกับดูแลสัญญา นำเสนอคณะกรรมการดำเนินโครงการฯ

การทำหนังสือครั้งนี้ทำมาจาก คณะกรรมการดำเนินโครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินโครงการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 มาตรา 13 ไม่ใช่คณะกรรมการหัวหลักหัวตอ และไม่ใช่คณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นมาเล่นๆ

หลังจากได้รับหนังสือบันทึกดังกล่าว ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ อสมท ได้นำบันทึกประชุมดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุม แล้ว ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ได้กล่าวในที่ประชุมว่า:

“เห็นว่าคณะกรรมการ บมจ.อสมท ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมาย 2-3 ท่าน ซึ่งอาจร่วมกันพิจารณาได้ จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา”

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตาม มาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการกฤษฎีกา พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดให้มีอำนาจหน้าที่หลายประการรวมถึง

(2) พิจารณาและจัดทำร่างกฎหมายตามที่คณะรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรีมอบหมาย และเสนอความเห็นเกี่ยวกับการให้มีหรือแก้ไข ปรับปรุงหรือยกเลิกกฎหมาย

(3) ช่วยเหลือและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการร่างกฎหมายแก่หน่วยงานของรัฐ

(4) ให้ความเห็นหรือปฏิบัติงานอื่นอันเกี่ยวกับกฎหมายให้แก่หน่วยงานของรัฐ หรือตามที่รัฐบาลต่างประเทศหรือสถาบันระหว่างประเทศร้องขอ

ขนาดคณะรัฐมนตรีซึ่งมีนักกฎหมายและอดีตผู้พิพากษามากมาย ยังต้องขอความเห็นจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อไม่ให้ถูกครหาว่าวินิจฉัยข้อกฎหมายเข้าข้างตัวเอง แต่ อสมท เลือกที่จะหารือเรื่องข้อกฎหมายกันเอง และตัดสินใจกันเอง จะเหมาะสมหรือไม่!?

เพราะถ้ามั่นใจว่าข้อกฎหมายตัวเองถูกต้องจริง การยื่นขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกานอกจากจะไม่ทำให้เกิดความเสียหายแล้ว ยังทำให้เกิดความรอบคอบมากยิ่งขึ้น ใช่หรือไม่?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีนี้มีผลประโยชน์ “นับแสนล้านบาท” ในการต่อสัญญาอีก 10 ปีข้างหน้า ความรอบคอบรัดกุมจะทำให้เป็นเกราะคุ้มครองป้องกันตัวเองมิให้ถูกครหาหรือถูกเคลือบแคลงในเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนได้ไม่ใช่หรือ?

ในการประชุมคณะกรรมการ อสมท ครั้งที่ 10/2552 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2552 ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ได้นำร่างหนังสือ (ร่างมาด้วยตัวเอง
) ถึง บริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ เพื่อขอให้ชี้แจงกรณีที่ยังมิได้ปฏิบัติตามสัญญาร่วมดำเนินการไทยทีวีสีช่อง 3 และสัญญาที่แก้ไขเพิ่มเติม 3 ครั้ง เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญา แจกให้กับคณะกรรมการ อสมท โดยมี 2 ประเด็นคือ

1. การย้ายสถานีเครื่องส่งโทรทัศน์และเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนสิ่งก่อสร้างบนที่ดินไปยังที่ทำการของบริษัท ณ สถานที่ตั้งปัจจุบันนั้น บริษัทบางกอก เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ มิได้มีการส่งมอบแจ้งโอนสิทธิหรือแจ้งให้ บมจ.อสมท ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิรับทราบหรือได้รับโอนสิทธิ

2. รายงานประจำปีของบริษัท บีอีซีเวิลด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งถือหุ้นบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด อยู่ 99.99% และเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า บีอีซีเวิลด์ ดำเนินงานธุรกิจบริหารสถานีวิทยุโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 โดยที่ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ มิได้โต้แย้งหรือขออนุมัติเป็นลายลักษณ์อักษรจาก บมจ. อสมท ซึ่งขัดต่อสัญญาว่าบางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จะต้องดำเนินการเองและจะให้บุคคลอื่นใดเช่า หรือรับไปดำเนินการแทนมิได้ อันเป็นสาระสำคัญอย่างยิ่งในสัญญา

แสดงว่าคณะกรรมการ อสมท ได้รับทราบว่ามีการทำผิดสัญญาในอดีตครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว และการ “ต่อสัญญา” ไปอีก 10 ปีนั้น ต้องไม่มีการกระทำผิดสัญญา เป็นเงื่อนไขสำคัญ

ผลปรากฏว่า อสมท ได้มอบหมายให้นายชิตณรงค์ คุณะกฤดาธิการ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ทำหนังสือตามที่ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ร่างมาแล้วส่งไปให้ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 21 กรกฎาคม 2552 และครั้งที่ 2 วันที่ 17 สิงหาคม 2552

17 กันยายน 2552 ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ได้เกษียนหนังสือด้วยลายมือตัวเองถึง ผอ.อสมท มีใจความตอนหนึ่งว่า:

“ให้ฝ่ายกฎหมายยกร่างหนังสือแจ้งบอกเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง เนื่องจาก บ.บางกอกเอนเตอร์เทนเม้นต์ ฝ่าฝืนข้อสัญญาโดยให้ผู้อื่นเป็นผู้ประกอบการแทน เสนอให้คณะ กก.อสมท พิจารณาในการประชุมคราวต่อไป”

หลังจากนั้น ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ อสมท ได้แจ้งต่ออนุกรรมาธิการฯ ของคณะกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎรว่า ได้มีการ “จับเข่าคุยกันเป็นการส่วนตัวระหว่าง ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ และผู้บริหารระดับสูงของ บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์”

13 พฤศจิกายน 2552
หลังการจับเข่าคุยกัน คณะกรรมการ อสมท ได้มีการประชุมครั้งที่ 19/2552 ได้มีผลการประชุมว่า

“มีมติรับหลักการในข้อเสนอของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด ในการจ่ายผลประโยชน์ 405 ล้านบาท ให้กับ บมจ.อสมท ในคราวเดียวกัน และจะได้พิจารณาในเรื่องแนวทางปฏิบัติตลอดทั้งข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งรายละเอียดในสัญญาสำหรับการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อเสนอดังกล่าว”

มีข้อน่าเคลือบแคลงสงสัยว่า การตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินโครงการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 มาตรา 13 และการสอบถามไปยังคณะกรรมการ อสมท เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2552 ว่าให้ส่งสำนักงานกฤษฎีกาเพื่อให้ความเห็นเรื่องข้อกฎหมายและจัดจ้างที่ปรึกษาด้านการเงินเพื่อพิจารณาค่าตอบแทนที่เหมาะสม กลายเป็นขยะไปแล้ว ใช่หรือไม่?

ผลตอบแทน 405 ล้านบาท กับการต่อสัญญาร่วมดำเนินการไทยทีวีสีช่อง 3 ไปอีก 10 ปี โดยจ่ายค่าตอบแทนให้ อสมท เพียง 2,002.61 ล้านบาท หรือเฉลี่ยจ่ายเพียงปีละ 242 ล้านบาทนั้นได้ประโยชน์กับใคร?

ทรูวิชั่นส์ หรือ ยูบีซี มีคนดูน้อยกว่ายังจ่ายค่าตอบแทนให้กับ อสมทปีละ 650 ล้านบาท ในขณะที่ธุรกิจฟรีทีวีไทยทีวีสีช่อง 3 นั้นจะมีรายได้อีก 10 ปีข้างหน้าไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทมีกำไรตลอด 10 ปีข้างหน้าไม่ต่ำกว่า 2-3 หมื่นล้านบาท โดยที่ไม่ต้องลงทุนอุปกรณ์อะไรเพิ่มเติมอีกแล้ว ถามสามัญสำนึกของ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ว่าผลการเจรจาเช่นนี้เรียกว่าประสบผลสำเร็จได้อย่างไร?

นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร
ซึ่งมีความใกล้ชิดกับคนในตระกูล “มาลีนนท์” ได้ทวิตเตอร์ตอบใน Thaksinlive เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 ถึงกรณีที่คนเสื้อแดงหมั่นไส้คนอ่านข่าวข่อง 3 ว่า:

“เพิ่งได้ต่อสัญญาก็เลยต้องเอาใจหน่อยมังครับ ทั้งที่ต้องจ่ายไปหลายตัง 555”

เวลายังเหลืออีก 22 วัน ก่อนหมดสัญญา จะดูว่าวันพุธนี้หลังกรรมาธิการการสื่อสารและโทรคมนาคม สภาผู้แทนราษฎรทำหนังสือแจ้งผลการศึกษาให้ยุติการต่อสัญญาครั้งนี้ถึง ประธาน อสมท, รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง และนายกรัฐมนตรีแล้ว จะสามารถหยุดยั้งความอัปลักษณ์นี้ได้หรือไม่?...โปรดติดตามตอนต่อไป!!!

กำลังโหลดความคิดเห็น