xs
xsm
sm
md
lg

17. พันธมิตรฯ รำลึกพงหนามของประชาธิปไตยไทยกับความจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองของพันธมิตรฯ (ต่อ)

เผยแพร่:   โดย: ดร.สุวินัย ภรณวลัย

ถ้าไม่มีพลังกดขี่กดดันอันหนักหน่วงรุนแรง ก็ย่อมไม่มีพลังต่อต้านอย่างรุนแรงเช่นกัน การปกครองที่ดีและผู้ปกครองที่ดี ย่อมไม่สร้างการกดขี่กดดันที่หนักหน่วงรุนแรงต่อประชาชน เพราะมีแต่ผู้ปกครองที่ไร้ธรรมะ และไร้สมรรถนะเท่านั้นที่คิดกดขี่ทำร้ายประชาชน แต่ยิ่งกดขี่ ยิ่งกดดัน ยิ่งทำร้ายมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งถูกต่อต้านจากประชาชนมากยิ่งขึ้นเพียงนั้น

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่ในทศวรรษที่ 2490 พร้อมๆ กับการก่อตัวของระบอบพิบูลสงคราม ซึ่งมีลักษณะเป็นอำนาจนิยมและกึ่งเผด็จการ ในขณะเดียวกันก็ได้เกิดพัฒนาการของขบวนการมวลชน หรือการเคลื่อนไหวของประชาชนในวงกว้างเพื่อเรียกร้องสิทธิ และเสรีภาพของประชาชนขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก

ขบวนการมวลชนไทยที่เพิ่งพัฒนาขึ้นในทศวรรษที่ 2490 โดยเฉพาะภายหลังการปฏิวัติจีนในปี 2492 ที่ได้ส่งผลสะเทือนทางความคิด และทางการเมืองไปทั่วโลกซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วยนี้ ได้ค่อยๆ เปิดทางให้ประชาชนคนธรรมดาระดับล่างมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองในวงกว้างมากขึ้นเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ แทนที่จะทำให้เรื่องการเมืองการปกครองถูกผูกขาดอยู่ในหมู่ชนชั้นนำเหมือนแต่ก่อน จริงอยู่ที่ในช่วงก่อนปี 2490 ก็เคยมีการเคลื่อนไหวของมวลชนอยู่บ้างอย่างประปรายและอย่างกระจัดกระจาย

การปฏิวัติ 2475 โดยคณะราษฎร ซึ่งเป็นเพียงกลุ่มชนชั้นนำในระบบราชการกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ได้ช่วยทำให้อำนาจทางการเมืองกระจายตัวมากขึ้น และทำให้ชนชั้นนำที่เป็นสามัญชนมีบทบาทมากกว่าแต่ก่อนก็จริง แต่อำนาจนั้นก็ยังมิได้กระจายออกจากชนชั้นนำในระบบราชการแต่อย่างใด จะว่าไปแล้ว จอมพล ป. พิบูลสงคราม คือผู้นำสามัญชนคนแรกที่สามารถสร้างความสนับสนุนจากประชาชนในวงกว้างได้เป็นผลสำเร็จ และได้นำประชาชนจำนวนมากออกมาเคลื่อนไหวเดินขบวนได้เป็นครั้งแรก โดยผ่านการปลุกระดมลัทธิชาตินิยมเพื่อเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศสในปี 2483 แต่กระแสตื่นตัวของมวลชนก็ซาลงหลังจากที่ชิงดินแดนคืนได้แล้ว

ขบวนการมวลชนไทยได้พัฒนาขึ้นอย่างจริงจัง หลังจากการปฏิวัติจีนประสบชัยชนะในปี 2492 (ค.ศ. 1949) ซึ่งทำให้อุดมการณ์สังคมนิยมซึ่งให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับประชาชนชั้นล่างที่ยากจน และถูกกดขี่ได้รับความสนใจในหมู่ปัญญาชนไทยหัวก้าวหน้าอย่างจริงจัง

อันที่จริงจุดเริ่มต้นของขบวนการคอมมิวนิสต์ในสยามนั้นเก่ากว่า การปฏิวัติ 2475 (ค.ศ. 1932) เสียอีก เพราะได้มีการจัดตั้ง “สาขาที่ 2” นั้น (เม้ง เซียงหวย) ขึ้นในปี 2467 (ค.ศ. 1924) ซึ่งต่อมาได้พัฒนาไปเป็น คณะคอมมิวนิสต์สยามในปี 2473 (ค.ศ. 1930) โดยที่คณะคอมมิวนิสต์สยามนี้ประกอบไปด้วยชาวจีนกับชาวเวียดนามที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยเป็นส่วนใหญ่ องค์กรนี้จึงเป็นเรื่องของคนต่างชาติในเมืองไทยมากกว่าเป็นเรื่องของคนไทยโดยตรงเหมือนในช่วงทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ดี การเผยแพร่ลัทธิมาร์กซ์หรืออุดมการณ์สังคมนิยมในประเทศไทย รวมทั้งการเกิดขึ้นของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในเวลาต่อมานั้นปฏิเสธไม่ได้ว่า ได้รับผลสะเทือนมาจากการเคลื่อนไหวปฏิวัติของจีน และเวียดนามเป็นหลัก ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษที่ต่างไปจากประเทศอื่นๆ ในเอเชียอาคเนย์ ซึ่งเป็นนักเรียนนอกของประเทศนั้น ไปศึกษาและได้รับอิทธิพลของอุดมการณ์สังคมนิยมจากยุโรป แต่ไม่ใช่ในกรณีของประเทศไทย เพราะก่อนหน้านั้นก็มีนักเรียนนอกจากประเทศไทยไปศึกษาที่ยุโรปเป็นจำนวนไม่น้อย แต่นักเรียนนอกเหล่านี้ก็ไม่ได้นำลัทธิมาร์กซ์หรืออุดมการณ์สังคมนิยมกลับมา

สำหรับขบวนการความคิดสังคมนิยมไทย ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของมวลชนในเวลาต่อมานั้น ได้เริ่มสำแดงบทบาทที่โดดเด่นในทศวรรษ 2490 โดย ปัญญาชนหัวก้าวหน้า อย่าง สุภา ศิริมานนท์ อัศนี พลจันทร์ สมัคร บุราวาศ กุหลาบ สายประดิษฐ์ ฯลฯ ได้ร่วมกันออกวารสาร “อักษรสาส์น” ฉบับแรกเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2492 และได้กลายมาเป็นหนังสือทรงอิทธิพลทางความคิดแนวสังคมนิยมในเวลาไม่นานนัก

นอกจากนี้ องค์กรทางการเมืองฝ่ายซ้ายอย่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการในปี 2485 ก็ได้พัฒนาขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงทศวรรษ 2490 นี้ เดิมทีแกนนำบางส่วนในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ก็มีแนวคิดที่จะไปต่อสู้ทางรัฐสภาโดยผ่านการผลักดันของประเสริฐ ทรัพย์สุนทร แต่แล้วการรัฐประหารปี 2490 ได้ทำให้หนทางนี้ปิดฉากลงไปโดยปริยาย ยังดีที่ในระยะแรกหลังการรัฐประหาร พรรคคอมมิวนิสต์ยังมิได้เป็นเป้าหมายหลักในการกวาดล้างของรัฐบาลเหมือนกับกลุ่มของปรีดี พนมยงค์ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย และขบวนการสังคมนิยมไทย จึงยังสามารถเคลื่อนไหวทางความคิด และเคลื่อนไหวแบบองค์กรลับได้อยู่

การเคลื่อนไหวมวลชนครั้งใหญ่ที่ถูกชี้นำโดยกลุ่มสังคมนิยมไทยเป็นครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นในปี 2493 โดยเรียกว่าเป็น “ขบวนการสันติภาพ” ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อคัดค้านไม่ให้ประเทศไทยส่งทหารไทยไปร่วมรบในสงครามเกาหลีขบวนการสันติภาพนี้ นำโดยปัญญาชนไทยหัวก้าวหน้ากลุ่มสังคมนิยม ที่ได้เคลื่อนไหวแสวงหาการสนับสนุนจากประชาชนให้มาลงชื่อคัดค้านสงครามกับเรียกร้องสันติภาพ ปรากฏว่า ภายในปีเดียวสามารถล่าลายชื่อได้นับแสนคน แถมขบวนการสันติภาพนี้ยังได้จัดตั้งสาขาตามจังหวัดต่างๆ กลายเป็นขบวนการมวลชนที่มีเป้าหมายอย่างเปิดเผยในการระดมประชาชนจำนวนมากให้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง จนรัฐบาลจอมพล ป.เริ่มหวั่นไหว และไม่อาจยอมรับต่อไปได้ จึงทำการกวาดล้างจับกุมครั้งใหญ่ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2495 และเรียกการจับกุมครั้งนั้นว่า กบฏสันติภาพ

ไม่แต่เท่านั้น รัฐบาลยังได้ออกพระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2495 ตามมาเพื่อเป็นหลักประกันในการปราบปรามการเคลื่อนไหวมวลชนที่จะมีขึ้นอีกในอนาคต โดยที่กฎหมายนี้มีลักษณะครอบจักรวาลในการกดขี่ปราบปรามประชาชน

สามปีต่อมา หรือในปี 2498 เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม เปิดให้มีการรื้อฟื้นประชาธิปไตย ขบวนการเคลื่อนไหวมวลชนก็เริ่มก่อกระแสขึ้นใหม่คราวนี้ ไม่เพียงแต่มีขบวนการปัญญาชนสังคมนิยมเท่านั้น ยังมีขบวนการนักศึกษาเกิดขึ้น พร้อมๆ กับขบวนการกรรมการด้วย

สำหรับขบวนการกรรมกรนั้น ได้เกิดการนัดหยุดงานครั้งใหญ่หลายครั้งใน พ.ศ. 2499 และ พ.ศ. 2500 และได้มีการตั้งสหภาพแรงงานขึ้นเป็นจำนวนมาก จนรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ต้องออกพระราชบัญญัติแรงงานฉบับแรก ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2499 ยอมรับสิทธิที่กรรมกรจะนัดหยุดงาน และจัดตั้งสหภาพแรงงานของตนได้ ขณะที่บทบาทสำคัญที่เด่นชัดของขบวนการนักศึกษาในช่วงนั้น คือ การเดินขบวนใหญ่คัดค้านการเลือกตั้งสกปรก ในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 โดยมีประชาชนชาวพระนครจำนวนมากเข้าร่วมการประท้วงด้วย

การประท้วงครั้งนั้นยุติลงด้วยการที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก เข้ามาไกล่เกลี่ยทำให้ภาพลักษณ์ของจอมพลสฤษดิ์โดดเด่นขึ้นมากในหมู่ประชาชน และทำให้จอมพลสฤษดิ์ใช้เป็นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร โดยเคลื่อนกำลังเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่มี พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีตำรวจหนุนหลังเป็นผลสำเร็จในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500

จะเห็นได้ว่า เหตุการณ์นี้ถือเป็นครั้งแรกที่การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนได้เป็นตัวเร่งทางการเมืองทำลายความชอบธรรมของรัฐบาล จอมพล ป. และสร้างความชอบธรรมให้แก่จอมพลสฤษดิ์ นับเป็นครั้งแรกที่การเคลื่อนไหวของประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของชนชั้นนำไทยเป็นครั้งแรก หลังจากการปฏิวัติ 2475 เป็นต้นมา

แต่ที่น่าสลดใจก็คือ การเคลื่อนไหวของประชาชนในครั้งนั้น เป็นได้แค่ “กบเลือกนาย” เท่านั้น เพราะเมื่อจอมพลสฤษดิ์สามารถยึดอำนาจของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้สำเร็จแล้ว ก็หันมาปราบปรามการเคลื่อนไหวของประชาชนหนักยิ่งกว่าเก่าเสียอีก มิหนำซ้ำยังกลายมาเป็นเผด็จการทหารเต็มรูปแบบอีกด้วย

ระบอบเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ได้ชื่อว่าเข้มงวด และรุนแรงที่สุดนั้นเกิดขึ้นภายหลังการรัฐประหารครั้งที่ 2 ของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 ทั้งนี้ก็เพราะว่า การรัฐประหารครั้งแรกของจอมพลสฤษดิ์ เมื่อวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 นั้น ยังมิได้ก่อให้เกิดระบอบเผด็จการ เพราะยังมีความพยายามรักษาความสืบเนื่องจากสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม โดยยังคงรักษารัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2475 แก้ไข พ.ศ. 2495 เอาไว้ แต่ตัวจอมพลสฤษดิ์เองนั่นแหละที่ไม่นิยมระบอบประชาธิปไตย เพราะตัวเขาเห็นว่าเป็นความวุ่นวาย เนื่องจากพวก ส.ส.และนักการเมืองไม่มีวินัยเหมือนทหาร มีการช่วงชิงแก่งแย่งกันเป็นรัฐมนตรี

ขณะเดียวกัน จอมพลสฤษดิ์ก็ไม่พอใจที่ฝ่ายค้านมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล และมาขุดคุ้ยเรื่องคอร์รัปชัน สิ่งที่จอมพลสฤษดิ์ต้องการคือ การสร้างระบอบรัฐที่ทุกคนต้องเชื่อฟังรัฐบาล และไม่ต้องมีฝ่ายค้าน

ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่หลังการยึดอำนาจ คณะปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ จึงเริ่มทำการกวาดล้างจับกุมนักศึกษา ปัญญาชน และฝ่ายค้านเป็นจำนวนหลายร้อยคนโดยไม่มีการไต่สวนตามกฎหมายแต่อย่างใด แค่ใช้อำนาจปฏิวัติขังไว้เฉยๆ คนที่ถูกจับกุมได้แก่ อุทธรณ์ พลกุล อิศรา อมันตกูล กรุณา กุศลาศัย จิตร ภูมิศักดิ์ แคล้ว นรปติ ทองใบ ทองเปาด์ อุดม ศรีสุวรรณ ทวีป วรดิลก สุพจน์ ด่านตระกูล เป็นต้น

ไม่เพียงแค่นี้ จอมพลสฤษดิ์ยังได้สั่งบุกค้นปิดหนังสือพิมพ์ และสำนักพิมพ์หลายสิบแห่ง ปิดโรงเรียนจีน และออกประกาศคณะปฏิวัติล้มเลิกกฎหมายแรงงานทั้งหมดกับห้ามการชุมนุมของกรรมกรอย่างเด็ดขาด อีกทั้งยังเข้าไปควบคุมกิจกรรมนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ อีกด้วย ยุคมืดแห่งประชาธิปไตยเริ่มขึ้นแล้ว จอมพลสฤษดิ์ได้ใช้อำนาจสูงสุดในนามของคณะปฏิวัติ ทำการออกประกาศคณะปฏิวัติซึ่งมีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย 47 ฉบับ ในระหว่างนั้น ก็ได้ใช้อำนาจประหารชีวิตผู้ต้องสงสัยวางเพลิง 4 ราย โดยไม่มีการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด

ที่แย่ยิ่งไปกว่านั้น คือ การสถาปนา “ระบอบปฏิวัติ” ซึ่งเป็นระบอบที่อาศัยรัฐสภาที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมดโดยไม่มีการเลือกตั้งเลย โดยผู้ที่ถูกแต่งตั้งส่วนใหญ่มาจากทหารและข้าราชการประจำ สภานี้จอมพลสฤษดิ์เรียกว่า สภาร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเป็นสภานิติบัญญัติไปด้วยในเวลาเดียวกัน สภาร่างรัฐธรรมนูญนี้เองที่เป็นผู้ลงมติให้จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ หัวหน้าคณะปฏิวัติเป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 โดยที่ตัวเขายังคงควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก และอธิบดีกรมตำรวจไปพร้อมๆ กันด้วย

ในด้านการปกครอง ระบอบปฏิวัติของจอมพลสฤษดิ์ได้ทำการยกเลิกการเลือกตั้งในทุกระดับ แม้กระทั่งระดับท้องถิ่นก็ได้ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งผู้บริหารเทศบาล สุขาภิบาลทั้งหมด แม้กระทั่งในวงการสงฆ์เอง รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ก็ได้ออกกฎหมายคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 ล้มเลิกประชาธิปไตยของคณะสงฆ์ตั้งระบบมหาเถรสมาคมที่มีสังฆราชเป็นประธาน ทำให้การปกครองคณะสงฆ์รวมศูนย์อยู่ในมือของพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่เท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ยังปลุกและสร้างกระแสต่อต้าน และปราบปรามคอมมิวนิสต์อย่างจริงจัง โดยใช้มาตรา 17 ประหารชีวิตผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งๆ ที่ผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิดชัดเจน และไม่ได้ผ่านกระบวนการยุติธรรม

ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ การประหารชีวิต ครอง จันดาวงศ์ (31 พฤษภาคม พ.ศ. 2504) กับ รวม วงศ์พันธ์ (24 พฤษภาคม พ.ศ. 2505) ในข้อหาคอมมิวนิสต์ได้กลายเป็นเงื่อนไขสำคัญทำให้ปัญญาชนจำนวนไม่น้อยที่เลื่อมใสความคิดสังคมนิยม ตัดสินใจออกสู่ชนบทเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เตรียมการที่จะก่อการลุกขึ้นสู้ด้วยอาวุธ ทั้งๆ ที่ในขณะนั้น พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ยังไม่ได้เป็นภัยคุกคามแต่อย่างใดเลย

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นผู้นำปกครองประเทศได้ 5 ปี ก็ถึงแก่กรรมในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 แต่ระบอบเผด็จการทหารของเขาได้รับการสืบทอดโดย พล.อ.ถนอม กิตติขจร และพล.อ.ประภาส จารุเสถียร (ยังมีต่อ)

                                                           www.suvinai-dragon.com
กำลังโหลดความคิดเห็น