xs
xsm
sm
md
lg

“สมเกียรติ” ชี้บันได 5 ขั้นการเมืองภาค ปชช. ดันตั้ง “พรรคการเมือง” รองรับการเมืองใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 1 ใน 5 แกนนำพธม.นำทีม ร่วมเวทีถก“การเมืองใหม่ภาคประชาชน” มีผู้นำท้องถิ่น นักศึกษา ประชาชนและนักรบมือตบร่วมงานคึกคัก ที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา
ศูนย์ข่าวนครราชสีมา “สมเกียรติ” ชี้บันได 5 ขั้นการเมืองภาคประชาชน “ยกระดับความคิด-ตั้งพรรค-สร้างหน่วยเศรษฐกิจ-กำหนดวาระแห่งชาติ-เคลื่อนไหวใหญ่พลังมวลชนตามวาระแห่งชาติ” ย้ำหมดยุค “เตะหมูเข้าปากหมา” พอกันทีกับการเมืองเก่า ถึงเวลา ปชช.หันหน้ามุ่งสู่การเมืองใหม่ ด้าน “ไชยวัฒน์” ระบุพรรคการเมืองภาค ปชช.เกิด 5 ปี ไทยเป็นผู้นำเอเชีย หากไม่ผุดอีก 10 ปีล้าหลังตามก้น “ฟิลิปปินส์”แน่ เผยศูนย์การเรียน ม.ราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง โคราชและบุรีรัมย์ ตั้ง “ชมรมการเมืองภาคพลเมือง” ทุกอำเภอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การจัดเสวนา “การเมืองภาคประชาชน” ของ คณาจารย์และนักศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ศูนย์การเรียนพิมาย ชุมพวง ประทาย ห้วยแถลง จักราช โคกสวาย อ.เมือง จ.นครราชสีมา และอ.นางรอง หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ และเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พิมาย ชุมพวง จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 18 มกราคม ที่หอประชุมวิทยาลัยการอาชีพพิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา เต็มไปด้วยความคึกคัก มีผู้นำชุมนุม ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักศึกษา พ่อค้า นักธุรกิจ และประชาชนทั่วไป ในอ.พิมาย และอำเภอใกล้เคียง ใน จ.นครราชสีมา รวมทั้ง จ.บุรีรัมย์ ตื่นตัวเข้าร่วมการเสวนาจำนวนหลายร้อยคน

ทั้งนี้ มีวิทยากรสำคัญขึ้นเวทีเสวนา ประกอบด้วย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ 1 ใน 5 แกนนำพันธมิตรฯ รุ่นที่ 1, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเลขาธิการสมัชชาประชาชนแห่งประเทศไทย, นายพิเชฐ พัฒนโชติ อดีตรองประธานวุฒิสภา-อดีต ส.ว.นครราชสีมา และ ผศ.ดร.สามารถ จับโจร นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นต้น

นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ กล่าวว่า การเมืองภาคประชาชน คือการเมืองที่ประชาชนเป็นตัวแทนของตัวเอง ไม่มอบความเป็นตัวแทนให้กับใคร ประชาชนต้องปกป้องสิทธิ -ใช้สิทธิของตัวเองอย่างเต็มที่และร่วมสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม พร้อมทั้งร่วมกันตรวจสอบลงโทษนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชันโกงชาติกินเมือง ซึ่งการเมืองภาคประชาชน เป็นการเมืองที่ต่อกรและต่อสู้กับนักเลือกตั้งที่มาจากการซื้อเสียง แล้วมาซื้อ ส.ส. และซื้อพรรคการเมือง เพื่อเข้าไปกอบโกยผลประโยชน์กลับคืนให้ตัวเองและพวกพ้อง โดยจะสังเกตได้ว่า นักการเมืองหลายคนที่เข้ามาเป็น ส.ส.ได้ไม่กี่ปีก็ร่ำรวยมีเงินทองมหาศาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากการโกงชาติกินเมือง รวมถึงการขายชาติ

จากการศึกษาค้นคว้า การเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อกว่า 50 ปี ก่อน จากนักคิดนักหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้าในขณะนี้ คือ กุหลาบ สายประดิษฐ์ โดยใช้คำว่า “การเมืองประชาชน” ที่ผลักดันแนวคิดนี้ต่อสู้กับการเมืองนักเลือกตั้ง จากนั้นการเมืองภาคประชาชนได้สถาปนาตัวเองขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน และโค่นล้มรัฐบาลทรราชมาแล้ว 3 ครั้ง คือ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516 ถือเป็นการสถาปนาการเมืองภาคประชาชนขึ้นและโค่นล้มนักการเมืองเป็นครั้งแรก, ครั้งที่ 2 คือ เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 โดยมีบุคคลสำคัญเข้าร่วมในครั้งนั้น เช่น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ เป็นต้น

ส่วนการเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้นครั้งที่ 3 คือ ปรากฏการณ์ ของ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ในปี 2549-2551 ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวพลังประชาชนครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์เพื่อโค่นล้มทรราชระบอบทักษิณ และนอมินี คือรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเข้ามาบริหารอยู่ได้ไม่นานก็ต้องออกไป เพราะการก่อตัวที่เข้มแข็งของพันธมิตรฯ

“การต่อสู้ของภาคประชาชนทั้ง 3 ครั้ง เป็นบทเรียนสำคัญในอดีตที่กลุ่มพันธมิตรฯ นำมาใช้เป็นกลยุทธ์ต่อสู้ทุกวิถีทาง และล่าสุดกำลังเริ่มต้นการจัดตั้งคาราวานพันธมิตรฯให้ เกิดขึ้นในทุกจังหวัด รวมทั้งการจัดคอนเสิร์ตการเมืองภาคประชาชนขึ้นตามหัวเมืองหลักที่พันธมิตรฯ มีความเข้มแข็ง ซึ่งครั้งแรกจัดไปแล้วที่ จ.ชลบุรี ได้รับการตอบรับจากประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก จากนั้นจะจัดขึ้นทั่วทุกภาค โดยครั้งที่ 4 จะจัดคอนเสิร์ตการเมืองครั้งใหญ่ที่ จ.นครราชสีมา 7 มีนาคม เพื่อให้ประชาชนในทุกอำเภอได้ตื่นตัวสนใจสถานการณ์บ้านเมืองและร่วมกันสร้างการเมืองใหม่” นายสมเกียรติ กล่าว

นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ทัศนะของ 5 แกนนำพันธมิตรฯ ในการพัฒนาการเมืองภาคประชาชนแบ่งออกได้เป็น 5 ขั้น ประกอบด้วย ขั้นที่ 1 การยกระดับความคิดของประชาชน โดยเฉพาะการเปิดโลกข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเท่าเทียมกัน ทั้งในรูปของสื่อโทรทัศน์ผ่านดาวเทียว ASTV, เว็บไซต์ วิทยุชุมชนและการจัดคอนเสิร์ตการเมือง รวมถึงพัฒนาจิตสำนึกของประชาชนต่อการต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียง

ขั้นที่ 2 การจัดตั้งองค์กรมารองรับผลพวงแห่งการต่อสู้ของประชาชน หรือ ตั้งพรรคการเมืองภาคประชาชน ขึ้นมา เพื่อให้มีนักการเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้น มีเครือข่ายและองค์กรที่เข้มแข็งกระจายอยู่ทั่วประเทศในทุกระดับ ซึ่งจะทำให้การต่อสู้ของภาคประชาชนไม่ใช่การ “เตะหมูเข้าปากหมา” ให้กลุ่มนักการเมืองมากอบโกยผลประโยชน์ และกลับไปสู่วังวนของการเมืองเก่าที่ไม่ใช่การเมืองใหม่อีกแล้ว ซึ่งการเมืองใหม่ ก็คือ การยกระดับการเมืองภาคประชาชนให้เป็นใหญ่ ไม่มีการโกงกิน มุ่งผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก และสร้างความเป็นธรรมในสังคม

ขั้นที่ 3 สนับสนุนให้มีหน่วยเศรษฐกิจการเมืองภาคประชาชน เพื่อเป็นฐานหลักให้กับการเมืองภาคประชาชน โดยการเป็นรวมกลุ่มหน่วยเศรษฐกิจต่างๆ ให้เกิด ขึ้น เช่น กลุ่มร้านค้าและธุรกิจจำหน่ายข้าวสาร, สถานีบริการน้ำมัน, ร้านอาหาร และร้านขายผัก ผลไม้ เป็นต้น ซึ่งร้านค้าเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุน เกื้อหนุนและส่งเสริมกิจการซึ่งกันและกัน ในเครือข่ายของภาคประชาชนให้เข้มแข็งยืนหยัดต่อไปได้

ขั้นที่ 4 กำหนดเรื่องต่างๆ เป็นวาระแห่งชาติ เช่น การรณรงค์ต่อต้านซื้อสิทธิขายเสียง ,ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน, ส่งเสริมเกษตรอินทรีย์, เศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น และ ขั้นที่ 5 การเคลื่อนไหวตามวาระแห่งชาติ ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวใหญ่ของพลังมวลชนตามวาระแห่งชาติ

“ดังนั้น มาถึงวันนี้ประชาชนตั้งพูดว่าพอกันทีกับนักการเมืองสารเลว แล้วหันหน้ามาร่วมกันมุ่งเดินไปสู่การเมืองใหม่ เพื่อให้การเมืองภาคประชาชนเป็นใหญ่ในแผ่นดินได้แล้ว เมื่อถึงวันนี้ตนก็จะไม่ขอเป็นส.ส.อีก แต่จะมาเป็นนักการเมืองภาคประชาชน เพราะเป็น ส.ส.ไปก็ไร้ประโยชน์ ไม่สามารถแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนได้ แม้แต่เข้าสภาฯ ก็ยังถูกถีบ” นายสมเกียรติ กล่าว

ด้าน นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ กล่าวว่า การเมืองภาคประชาชนในปัจจุบันมีความเข้มแข้ง และตื่นตัวมากขึ้น จะเห็นได้จากการตื่นตัวของประชาชนพันธมิตรฯ หรือกลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดง เพียงแต่เสื้อแดงยังเป็นการตื่นตัวแบบหลงเชื่อ ซึ่งการเมืองภาคประชาชนที่แท้จริงต้องไม่อยู่ภายใต้การหลงเชื่อ แต่ต้องจัดตั้งองค์กรให้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และรวมตัวกันเป็นเครือข่ายอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนทั้งในระดับชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัดและระดับชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดขึ้นของ พรรคการเมืองภาคประชาชน

“หากพรรคการเมืองภาคประชาชนเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง เชื่อว่าภายใน 5 ปี ประเทศไทยจะกลายเป็นผู้นำของเอเชีย แต่หากเกิดขึ้นไม่ได้ อีก 10 ปี ข้างหน้าไทยจะเป็นประเทศล้าหลังกว่าประเทศฟิลิปปินส์อย่างแน่นอน” นายไชยวัฒน์ กล่าว

ขณะที่ ผศ.ดร.สามารถ จับโจร นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า การเมืองภาคประชาชน คือ ประชาชนเข้าไปจัดการนักการเมืองที่โกงกิน และต้องเป็นการเมืองที่หวังสร้างผลประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีความเข้มแข็ง และเป็นรูปร่าง โดยเฉพาะการรวมตัวกันของเครือข่าย พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งสะท้อนให้เห็นการต่อสู้ทางการเมืองที่เข้มแข็งของภาคประชาชนได้อย่างชัดเจน

ส่วน ผศ.ยงยศ เล็กกลาง ผู้อำนวยการโครงการมหาวิทยาลัยชีวิต กล่าวว่า ในวันนี้ นักศึกษา สาขา ยุทธศาสตร์การพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง ศูนย์การเรียนต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้นำชุมชน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ่อค้านักธุรกิจ และประชาชนใน อ.พิมาย ชุมพวง ห้วยแถลง จักราช อ.เมืองนครราชสีมา (2 ศูนย์) จ.นครราชสีมา อ.หนองกี่ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ รวม 8 ศูนย์ ได้จัดตั้ง “ชมรมการเมืองภาคพลเมือง” ของแต่ละศูนย์แต่ละอำเภอ ขึ้นเพื่อเป็นองค์กรเครือข่ายขับเคลื่อนการเมืองภาคประชาชน ให้เกิดขึ้นอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม




กำลังโหลดความคิดเห็น