xs
xsm
sm
md
lg

ชิงดำที่จอดรถสุวรรณภูมิ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ทอท.เตรียมสรุปผลประมูล สัมปทานบริหารที่จอดรถสุวรรณภูมิ ในสัปดาห์นี้ หลัง 3 บริษัทยื่นชิงดำ เผยบริษัท วีวิน มาแรงเสนอผลตอบแทนดีที่สุด ยันไม่เข้าพ.ร.บ.ร่วมทุน 35 เหตุมูลค่าอาคารไม่ถึง 1,000 ล้านบาท หลังคำนวณตามสมมุติฐานการใช้งานแค่ 5 ปีจากอายุการใช้อาคารถึง 30 ปี “ผอ.สุวรรณภูมิ”คาดระบบมาตรฐานป้องกันรั่วไหลรายได้เพิ่มกว่าวันละ 7 แสนบาท ขณะที่เอกชนประเมินเสี่ยงจำนวนรถลดลงหลังเปิดแอร์พอร์ตลิ้งค์

นายนิรันดร์ ธีรนาทสิน ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เปิดเผยว่า หลังจากทอท.ได้ประกาศประมูลโครงการบริหารจัดการอาคารลานจอดรถหน้าอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยให้สัมปทาน 5 ปีปรากฏว่ามี เอกชน 3 ราย ยื่นข้อเสนอ ประกอบด้วย บริษัท เอพี พาร์คกิ้ง จำกัด , บริษัท วี.อาร์.เจ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (เป็นบริษัทในเครือ คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุ๊ป ) และ บริษัท วีวิน จำกัด โดยเชื่อว่าการให้สัมปทานเอกชนบริหารที่จอดรถจะทำให้ทอท.มีรายได้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ทอท.ดำเนินการจัดเก็บเอง มีรายได้เฉลี่ยประมาณ 6-7 แสนบาทต่อวัน

นางดวงใจ คอนดี รองผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (สายการพาณิชย์) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาโครงการบริหารจัดการอาคารลานจอดรถฯ กล่าวว่า คาดว่าสัปดาห์นี้จะสรุปผลการประมูลได้ โดยการเปลี่ยนจากการจ้างบริหารเป็นการให้สัมปทานนั้น กำหนดเบื้องต้นว่า บริษัทจะต้องลงทุนติดตั้งระบบและอุปกรณ์ กว่า 40 ล้านบาท รวมถึงบริหารจัดการทั้งหมด โดยจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้ให้ทอท. 75 % และจ่ายค่าเช่าพื้นที่อีกประมาณ 3 ล้านบาทต่อเดือน

“เดิม ทอท.เป็นผู้บริหารจัดการที่จอดรถเองกว่า 3 ปี โดยจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการเป็นแบบชั่วคราวทำให้เอกชนไม่กล้าลงทุนเรื่องระบบและอุปกรณ์ เป็นผลทำให้รายได้รั่วไหล มีรายได้ประมาณ 7 แสนบาทต่อวัน หรือประมาณ 20 ล้านบาทต่อเดือน มีค่าใช้จ่ายประมาณ 3 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่การให้สัมปทาน 5 ปีแม้ว่าเอกชนต้องรับความเสี่ยงแทนทอท.ในเรื่องรายได้แต่ในแง่การบริหารจัดการจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นและไม่เกิดการรั่วไหล”นางดวงใจกล่าว

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งข้อสังเกตว่า การให้สัมปทานเข้าข่ายต้องปฎิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เนื่องจากมีมูลค่าของอาคารที่จอดรถ 4 อาคาร รองรับรถได้วันละประมาณ 10,000 คันนั้น นางดวงใจกล่าวว่า อาคารที่จอดรถมีค่าก่อสร้างเกือบ1,000 ล้านบาทไม่ถึง1,000 ล้านบาท มีอายุการใช้งาน 30 ปี ในการคำนวณมูลค่าอาคารสำหรับสัมปทานที่จอดรถนั้น ทอท.ใช้สมมุติฐาน ว่า สัมปทานที่จอดรถอายุ 5 ปี จากอายุการใช้งานอาคาร 30 ปี ดังนั้นมูลค่าจึงไม่เกิน 1,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสมมุติฐานเดียวกับการคำนวณมูลค่าพื้นที่สัมปทานของกลุ่มคิงเพาเวอร์

รายงานข่าวแจ้งว่า เบื้องต้นจากผลการเปิดข้อเสนอราคา ปรากฏว่า บริษัท วีวิน เป็นผู้ยื่นข้อเสนอผลตอบแทนให้ทอท.ดีที่สุดโดยตลอดอายุสัมปทาน 5 ปี ให้ผลตอบแทนกว่า 900 ล้านบาท โดย อาคารจอดรถมีพื้นที่ทั้งสิ้นประมาณ 160,000 ตารางเมตร ทอท. คิดค่าเช่า 20 บาทต่อตารางเมตรหรือประมาณ 3,200,000 บาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม การให้สัมปทานที่จอดรถสุวรรณภูมิครั้งนี้ เอกชนต้องรับความเสี่ยงหลายด้าน ทั้งการติดตั้งระบบและอุปกรณ์ที่ทันสมัยซึ่งทำให้วงเงินลงทุนค่อนข้างสูง และมีความเสี่ยงในด้านจำนวนรถที่อาจ ลดลงหาก โครงการแอร์พอร์ตลิ้งค์ เปิดให้บริการในเดือนส.ค. 2553 ทำให้เอกชนบางรายที่มีความชำนาญด้านการบริหารที่จอดรถไม่ร่วมประมูล เช่น บริษัท เจนก้องไกล จำกัด เป็นต้น

โดยก่อนหน้านี้ ทอท.ได้เปิดประมูลจ้างบริหารจัดการอาคารและลานจอดรถ พร้อมติดตั้งระบบและอุปกรณ์ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้วแต่มีการร้องเรียนฮั้วประมูล และผลเปิดซองราคาผู้ชนะเสนอวงเงินสูงกว่างบประมาณมาก นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธาน คณะกรรมการ ทอท. จึงให้นโยบายฝ่ายบริหารทอท.ยกเลิกประมูลและทบทวนกรอบการดำเนินการโครงการใหม่ และได้มีการปรับจากการจ้างบริหารเป็นให้ สัมปทาน
กำลังโหลดความคิดเห็น