xs
xsm
sm
md
lg

อวสาน อีลิท การ์ด แชร์ลูกโซ่ของระบอบทักษิณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...โชกุน

ปิดฉากลงได้เสียที สำหรับโครงการอีลิท การ์ด บัตรเทวดา ที่เกิดขึ้นจากความ เพ้อฝันของ นช.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อ 6 ปีก่อน เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ มีมติให้ขายกิจการบริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด เจ้าของโครงการนี้ โดยให้เอกชนเข้ามาประมูล แต่ถ้าภายใน 3 เดือนยังขายไม่ออก ก็จะโอนสมาชิกไปให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ดูแลแทน และจะไม่มีการรับสมาชิกเพิ่มอีกแล้ว

6 ปีของอีลิท การ์ด ที่เริ่มดำเนินการ ในเดือนพฤศจิกายน 2546 โดยตั้ง เป้าหมายไว้ว่า จะหาสมาชิกให้ได้ 1 ล้านคน ค่าสมาชิกคนละ 1 ล้านบาท ภายใน 5 ปี ทำให้มีเงินไหลเข้าประเทศไทยถึง 1 ล้านล้านบาท ปรากฏว่า ตัวเลขยอดสมาชิก ที่รายงานใน ครม. วานนี้ มีแค่ 2,570 ราย เท่านั้น ไม่ถึงครึ่งเปอร์เซ็นต์ของเป้าหมาย ที่คุยโม้เอาไว้

หนำซ้ำ ในจำนวนนี้ มีถึง 795 ราย ที่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งผิดเงื่อนไขที่สมาชิกต้องเป็นคนต่างชาติเท่านั้น

6 ปีของอีลิท การ์ด มีรายได้จากการ ขายสมาชิก ประมาณ 2,300 ล้านบาท ตอนที่เริ่มดำเนินการ รัฐบาลทักษิณ เอาเงินภาษีของประชาชน 1,000 ล้านบาท ใส่ให้เป็นทุนประเดิม ถึงวันนี้ บริษัทมีเงินสดเหลือไม่ถึง 400 ล้านบาท

คิดเป็นเงิน เกือบ 3,000 ล้านบาท ที่คนไทยทุกคนต้องจ่ายไปเพื่อสนองความ เพ้อฝันของ นช.ทักษิณ รวมทั้งหมดไปกับ การโกงกินบริษัทของกรรมการ และผู้บริหารบริษัทในยุคแรก และยุคต่อๆมา

แนวความคิดในการทำโครงการอีลิท การ์ด ตอนนั้นคือ ขายบัตรราคา 1 ล้านบาท ให้แกต่างชาติที่เป็นบุคคลธรรมดา และ 2 ล้านบาท สำหรับนิติบุคคล ผู้ถือบัตรมีสิทธิพักโรงแรมชั้นดี ตีกอล์ฟในสนามชั้นเลิศ ใช้บริการสปา และสิ่งอำนวยความสะดวกได้อย่างไม่จำกัด ตลอดชีวิต ได้วีซ่าเข้าประเทศไทยโดยอัตโนมัติ 5 ปี มีสิทธิถือครองที่ดิน 10 ไร่ ได้ด้วย

เป็นแนวคิดที่ฟังดูดี แต่มีปัญหาในทางปฏิบัติ

ประเทศไทยไม่ใช่เมืองปิด ที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ยาก ต้องอาศัยบัตรใบนี้เป็นใบเบิกทาง จะมีนักท่องเที่ยวสักกี่คนที่ยอมเสียเงิน 1 ล้านบาท สำหรับการมาเที่ยวในประเทศไทย เมื่อเทียบกับการเดินทางมาเองหรือใช้บริการท่องเที่ยวปกติ ซึ่งถูกกว่า

โครงการอีลิท การ์ด ก็เช่นเดียวกับ หลายๆ โครงการในสมัยทักษิณ ที่เกิดขึ้นจากความเพ้อฝัน ไม่มีการศึกษาความเป็นไปได้ มีแต่การทุ่มงบประมาณในการประชาสัมพันธ์สร้างภาพ สร้างข่าวให้สังคม เคลิบเคลิ้มตาม แต่สุดท้าย ไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อย่างเช่น โครงการกรุงเทพฯเมืองแฟชั่น โครงการครัวไทยสู่ครัวโลก แม้กระทั่งโครงการโอทอป

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ในยุค ที่ นางจุฑามาศ ศิริวรรณ เป็นผู้ว่าการฯ ถูกสั่งให้เข้ามาถือหุ้นในบริษัทนี้ 100% เต็ม โดยไม่มีใครกล้าคัดค้าน เพราะไม่มีการศึกษาถึงความเป็นไปได้ของโครงการเลย แต่ ทักษิณจะเอา ใครจะกล้าขวาง

ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อนช.ทักษิณ หมดอำนาจ และอีลิทการ์ดเริ่มมีปัญหามากขึ้นๆ ใครต่อใครในรัฐบาลชุดต่อๆ มา รวมทั้งรัฐบาลนี้ พยายามโยนให้การท่องเที่ยวฯ เป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหา เพราะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เพียงคนเดียว แต่การ ท่องเที่ยวฯ ปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า โครงการนี้เกิดขึ้นด้วยเหตุผลทางการเมือง ไม่ได้มีการปรึกษาหารือถามการท่องเที่ยวฯ ว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหาขึ้น ฝ่ายการเมืองต้องเป็นผู้แก้ปัญหา ไม่ใช่มาโยนให้การท่องเที่ยวฯ

มติ ครม. วานนี้ ที่ให้โอนสมาชิก อีลิท การ์ด ไปให้การท่องเที่ยวฯดูแล ถ้าไม่มีเอกชนสนใจเข้าประมูลกิจการไปนั้น เป็นการบีบคอให้ การท่องเที่ยวฯ เข้ามารับภาระที่บริษัทไทย พริวิเลจ ทิ้งไว้ให้ เพระไม่รู้จะเอาสมาชิก 2 พันกว่าคนไปไว้ที่ไหน จะตัดหางปล่อยวัดไปก็ไม่ได้ ถูกฟ้องเรียกค่าเสียหายแน่ จะเอาไปไว้กับ การท่องเที่ยวฯ ก็ไม่แน่ว่า สมาชิกจะยอมไหม และการท่องเที่ยวฯ จะรับไปหรือเปล่า เพราะการท่องเที่ยวฯ ไม่ได้มีหน้าที่ในการดำเนินกิจการแบบนี้ นอกจากนั้น ยังมีปัญหาว่าถ้ารับไปแล้ว จะเอาเงินที่ไหนมาจ่ายค่าบริการที่สมาชิกเหล่านี้ไปใช้

การโอนสมาชิกไปให้การท่องเที่ยวฯดูแล เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซื้อเวลา ไปก่อนของ ครม. เพราะยังไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาเรื่องสมาชิกอย่างไร

ปัญหาของอีลิท การ์ด แม้เมื่อถูกยุบไปแล้ว ไม่ได้มีเพียงเรื่องสมาชิกเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการทุจริต คอร์รัปชันตั้งแต่ ตั้งบริษัทเมื่อ 6 ปีที่แล้ว จนถึงปัจจุบัน

โครงการอีลิท การ์ด เดินมาถึงจุดจบ ก็เพราะว่าเงินหมด ไม่มีเงินก้อนใหม่หมุนเข้ามา

ก่อนหน้านี้ สหพันธ์สมาคมการ ท่องเที่ยวไทย เคย เสนอให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบอีลิทการ์ดเพราะยิ่งนานวันไปจะยิ่งสร้างปัญหาให้แก่รัฐบาลและภาพลักษณ์ของประเทศไทย เพราะรูปแบบการ ทำธุรกิจเหมือนกับการเล่นแชร์ลูกโซ่ เพราะต้องนำเงินที่ขายบัตรสมาชิกใหม่มาใช้บริหารเป็นค่าใช้จ่ายด้านการบริการแก่สมาชิกเก่า

ที่ประชุม ครม.วานนี้ จึงมีการตั้งข้อ สังเกตว่า การดำเนินกิจการของโครงการ อีลิทการ์ดเป็นไปในลักษณะของการเล่นแชร์ที่นำเงินของสมาชิกมาหมุนเวียนซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

เงิน 3,000 กว่าล้านของอีลิท การ์ด หายไปไหน

แน่นอนว่า ส่วนใหญ่หมดไปกับการจ่ายค่าบริการที่สมาชิกไปใช้ แต่ที่หมดไปกับการทุจริต คอร์รัปชัน ก็มีไม่น้อย

ตอนที่มีการเปิดโครงการใหม่ๆ มีการ แต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายบัตรทั้งในประเทศ และต่างประเทศที่มากกว่า 10 ราย ก็มีข้อครหาว่าเอเยนต์ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นบริษัทที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาลทักษิณ ไม่ว่าจะเป็นบริษัท แอคทีฟ จำกัด ที่มีนางสุนทรี จันทร์ประสิทธิ์ ซึ่งมารดามีศักดิ์เป็นน้าของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือ คิง เพาเวอร์ ของนายวิชัย รักศรีอักษร บริษัทแกรนด์ อีลิท ในเครือของนายเหยียน ปิน นักธุรกิจชาวไทยเชื้อสายจีน ที่สนิทชิดเชื้อกับทักษิณเป็นพิเศษ และบริษัทของนายเจอรัลด์ กรีน กับนางแพทริค กรีน สองสามีภรรยา ซึ่งถูกทางการสหรัฐฯ จับกุมในข้อหาจ่ายสินบน 60 ล้านบาท ให้นางจุฑามาศ อดีตผู้ว่าการ ททท.

ไม่มีใครรู้ว่า เอเยนต์เหล่านี้ หา สมาชิกได้จริงกี่ราย ได้เงินเท่าไร รู้แต่ว่า มีการจ่ายค่าคอมมิชชัน รวมทั้งค่าโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ให้แก่เอเยนต์เหล่านี้ไปเป็นเงินหลายร้อยล้านบาท

อีลิท การ์ด มีปัญหาเรื่องเอกสารการเงินที่มีความสับสน ไม่ชัดเจน และไม่รู้ว่า เป็นของจริงหรือไม่ ซึ่งนายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยว และกีฬา ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเอกสารย้อนหลังตั้งแต่ตั้งบริษัท เมื่อเร็วๆ นี้

การทุจริต คอร์รัปชัน แม้เมื่อหมดจากยุคทักษิณแล้ว ก็ยังดำเนินต่อไป ในรัฐบาลนี้ ที่พรรคชาติไทยพัฒนาดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวฯ นายชุมพล เป็นรัฐมนตรี นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เป็นประธานการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แต่งตั้ง เพื่อนร่วมก๊วนนิติศาสตร์ จุฬา นายสรจักร เกษมสุวรรณ เป็นประธานบริษัท เอานายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย มารักษาการกรรมการผู้จัดการ ตั้งเงินเดือนสูงๆ ค่าเอนเตอร์เทนไม่จำกัด

กรณีฉาวโฉ่อย่างน้อย 3 เรื่อง เกิดขึ้นในยุคนี้ คือ โครงการเช่าระบบไอทีกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟ เทคโนโลยี วงเงิน 77.3 ล้านบาท ที่นายยอดชาย แก้วเพ็ญ-ศรี รองผู้จัดการใหญ่สายงานสิทธิประโยชน์และสมาชิกสัมพันธ์ เป็นผู้เซ็นอนุมัติโครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่เสียเปรียบบริษัทเอกชน, โครงการเช่าซื้อป้ายโฆษณา ในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แทนที่จะซื้อโดยตรงกับคิงเพาเวอร์ ในวงเงิน 10 ล้านบาท ต่อระยะเวลา 12 เดือน สามารถเลือกป้ายในทำเลไหนก็ได้ ก็ไปซื้อกับนายหน้าบริษัท เจซี เดอโก ในราคาที่แพงกว่าเท่าตัว 24 ล้านบาท แลกกับป้ายในมุมที่ไม่มีใครมองเห็น และโครงการเช่ารถยนต์ คัมรี่ ที่ว่ากันว่า ฝ่ายบริหารตั้งค่าเช่าเองให้สูงกว่าราคาที่ผู้ให้เช่าเสนอมา โดยเอาส่วนต่างเข้ากระเป๋า

ทั้งนายยอดชาย นายสรจักร และนายสุรพงษ์ ลาออกจากบริษัทไปแล้ว แต่จะต้องรับผิดชอบกับการบริหารงานในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่า ต้องการเพียงแค่ยุติปัญหาอีลิท การ์ด ให้จบๆไปเท่านั้น โดยปล่อยให้คนทำผิดลอยนวลหรือเปล่า
กำลังโหลดความคิดเห็น