xs
xsm
sm
md
lg

การเมืองหลัง 26 กุมภา : ปริศนาที่มาร์คต้องขบคิด

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

“ระเบียบเดินหน้า เมตตาเดินหลัง” นี่คือวาทะของ อาจารย์เมฆ อำไพจริต นักปราชญ์ทางพุทธศาสนา ท่านที่ได้รับการยอมรับในวงการพุทธศาสนาว่า มีความรู้ มีความเข้าใจในหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างดีท่านหนึ่ง

โดยนัยแห่งคำสอนดังกล่าวข้างต้นสามารถอธิบายขยายความได้ว่า ท่านที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการปกครองคน ตั้งแต่ระดับครอบครัวไปถึงระดับประเทศ จะต้องยึดหลักความถูกต้องก่อนเมตตา พูดง่ายๆ ก็คือ จะเมตตาปรานีใครก็จะต้องดูก่อนว่าเป็นคนดีมีความประพฤติถูกต้องทั้งในแง่ของกฎหมาย และศีลธรรมหรือไม่มากน้อยแค่ไหน ถ้าปรากฏว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม และมีพฤติกรรมไม่ทำผิดกฎหมายจึงค่อยให้ความเมตตา

แต่ถ้ามีพฤติกรรมตรงกันข้าม คือ เป็นคนกระทำผิดทั้งในแง่ของกฎหมาย และศีลธรรมก็ไม่ควรที่จะให้ความเมตตา เพราะใครก็ตามที่ให้ความเมตตาแก่คนเยี่ยงนี้ จะได้ชื่อว่าเมตตาผิดที่ ทำความดีไม่ถูกทาง และผลอันเกิดแก่ผู้ให้เมตตาในลักษณะนี้ก็คือ ทำตนเองให้เดือดร้อนเหมือนชาวนากับงูเห่าในนิทานอีสป

วันนี้ และเวลานี้ ผู้คนในสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กำลังเผชิญภาวะแห่งปัญหาในทำนองนี้ ทั้งนี้จะเห็นได้จากกรณีดังต่อไปนี้

1. อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร กับกระบวนการยุติธรรม เป็นตัวอย่างที่นำมาอธิบายวาทะที่ยกขึ้นมาเป็นบทนำของข้อเขียนนี้ได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมยิ่ง ทั้งในแง่ของกฎหมาย และศีลธรรม โดยพิจารณาทั้งในแง่ของความเป็นปัจเจกบุคคลเฉกเช่นบุคคลธรรมดาทั่วไป และในแง่ของความเป็นนักการเมืองซึ่งถือว่าเป็นบุคคลสาธารณะ

เริ่มด้วยความเป็นปัจเจกบุคคล อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ถือได้ว่าประสบความสำเร็จสูงเมื่อเทียบกับบุคคลทั่วๆ ไป ไม่ว่าจะมองในแง่ของการศึกษาที่มีวุฒิเป็นถึงด็อกเตอร์ และเคยรับราชการเป็นตำรวจได้ยศพันตำรวจโท ครั้นลาออกมาประกอบธุรกิจก็มีฐานะร่ำรวยถึงขั้นเศรษฐีลำดับต้นๆ ของประเทศไทย และเมื่อกระโจนเข้าสู่สนามการเมืองก็บรรลุความสำเร็จเป็นถึงนายกรัฐมนตรี

แต่ที่สุดของที่สุดแห่งชีวิต อดีตนายกฯ ทักษิณก็จบลงด้วยการตกเป็นผู้ต้องหาคดีซื้อขายที่ดินรัชดาฯ และถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี ทั้งยังมีคดีรออยู่อีกหลายคดี แต่คดีที่สำคัญและกำลังพิพากษาอยู่ในวันที่ ผู้เขียนกำลังเขียนบทความนี้คือวันที่ 26 ก.พ. 2553 และในวันที่บทความนี้เองตีพิมพ์คือวันอังคารที่ 2 มี.ค. ท่านผู้อ่านคงได้ทราบผลของคดีแล้วว่า อดีตนายกฯ ทักษิณแพ้หรือชนะคดี

แต่ที่นำเรื่องนี้มาเขียนมิได้ปรารภเหตุ คือผลแห่งการตัดสินคดีในวันที่ 26 ก.พ. 2553 แต่ปรารภเหตุการที่อดีตนายกฯ ทักษิณโอดครวญร้องขอความเป็นธรรมให้แก่ตัวเองผ่านมาถึงกลุ่มคนเสื้อแดงที่จัดชุมนุมแต่ละครั้ง และในการขอความเป็นธรรม ผู้ขอไม่เคยมองเห็นเหตุแห่งความทุกข์ที่เกิดขึ้นว่ามาจากการที่ตนเองกระทำผิดกฎหมาย และผิดจริยธรรมทางการเมืองแต่อย่างใด

ดังนั้น ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม คือ ศาลยุติธรรม โดยมีคณะตุลาการได้ทำหน้าที่ดำรงไว้ภายใต้พระปรมาภิไธยในพระมหากษัตริย์ อันเป็นพระประมุขในระบบการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และที่ยิ่งกว่านี้ อดีตนายกฯ ทักษิณนอกจากไม่คำนึงถึงการกระทำของตัวเองว่าผิดหรือถูกอย่างไร ก่อนที่จะขอความกรุณาให้ใครต่อใครยกโทษให้แก่ตัวเองแล้ว ยังก้าวล่วงผู้ที่ทำหน้าที่รักษาความยุติธรรมด้วยวาจาก้าวร้าว และเสียดสีอันเป็นวจีทุจริตตามหลักแห่งพุทธศาสนาด้วย

2. กลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่อดีตนายกฯ ทักษิณ ก็ทำนองเดียวกัน คือ ไม่มองเหตุที่ทำให้ผู้ที่ตนเองเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร และถ้าจะขอความเป็นธรรมให้จะดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย และธรรมเนียมปฏิบัติอย่างไร จะเห็นได้จากการที่ลงรายชื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ เป็นต้น การกระทำในลักษณะนี้ ก็คือการที่เรียกร้องขอความกรุณาให้แก่คนทำผิดกฎหมาย อันถือได้ว่าขอความเมตตาผิดที่ และพยายามทำดีแต่ผิดทางที่ควรจะทำ ทั้งในแง่ของกฎหมายและศีลธรรม

เมื่อผู้คนในสังคมไทยได้รู้และได้เห็นปรากฏการณ์เรียกร้องดังที่ยกมา 2 ข้อข้างต้น คนไทยทั้งที่มีสถานะเป็นพลเมืองไทยทั่วๆ ไป และที่มีสถานะเป็นผู้ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการผดุงความยุติธรรม ตุลาการ เป็นต้น จะดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้

ในทัศนะของผู้เขียน นับจากวันนี้เป็นต้นไปผู้คนในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนเสื้อแดงควรจะได้ลืมตาขึ้นมามองดูเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว นับตั้งแต่เริ่มมีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคมในส่วนที่เกี่ยวกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ปลายปี พ.ศ. 2549 จนถึงปัจจุบัน และยอมรับความเป็นจริงโดยอาศัยหลักแห่งอริยสัจ 4 คือ มองเหตุแล้วคาดการณ์ไปหาผล หรือเห็นผลแล้วมองย้อนไปหาเหตุ ก็จะพบว่าสิ่งที่อดีตนายกฯ ทักษิณประสบอยู่ในวันนี้คือผลของเหตุที่กระทำไว้ในอดีต โดยไม่มีใครเพิ่มเติมหรือเสริมแต่ง หรือพลิกผันให้เป็นไป

นอกเหนือไปจากกลุ่มคนเสื้อแดงที่จะต้องลืมตาขึ้นดูสถานการณ์ ก็มีรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับสื่อ จะต้องย้อนไปดูว่าเหตุการณ์ที่วุ่นวายและสับสนอันเกิดจากการปรากฏตัวทางสื่อ ทั้งจากอดีตนายกฯ ทักษิณ และผู้สนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวกับข่าว สร้างความแตกแยกโจมตีทั้งบุคคล และสถาบันอันเป็นที่เคารพของคนไทยนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการสื่อ

และที่ยิ่งกว่านี้ รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลผสม ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วก็ยากแก่การปกครองให้มีเอกภาพอยู่แล้ว แถมยังมีคนในพรรคแกนนำคือ ปชป.เองคอยผสมโรงกับพรรคร่วมรัฐบาล ขัดขา และขัดคอนายกรัฐมนตรีมิให้ทำอะไรได้สะดวกอีกด้วย จะเห็นได้ชัดเจนในการแต่งตั้ง ผบ.ตร.จนกระทั่งวันนี้ยังตั้ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ หลัง 26 ก.พ. 2553 ผู้เขียนเห็นว่า นายกรัฐมนตรีควรอย่างยิ่งที่จะต้องมองหาทางลงด้วยการปรับ ครม.และยุบสภาในเวลาอันเหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้นักการเมืองเห็นแก่ตัวหาประโยชน์เข้าตัวเอง และพรรคพวกมีเวลาและโอกาสกักตุนเสบียงไว้เพื่อเลือกตั้ง อันเป็นการบั่นทอนเกียรติยศและชื่อเสียงของนายกฯ อภิสิทธิ์ลงไปด้วยในเวลาเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น