“รสนา” หวังภาคสังคมตรวจสอบนักการเมืองครองที่ดินสาธารณะ ซัดอัยการไม่ฟ้องเขายายเที่ยง มีจริยธรรมทางกฏหมายระดับไหน จี้ประชาชนเรียกร้องจริยธรรมทางการเมือง ด้าน “สุรชัย” แย้ง ชี้อัยการทำถูกตามมติ ครม.ปี 41 รับพวกรุกป่าสงวนต้องดูความผิดเป็นรายๆ แนะภาครัฐวางมาตรการแก้ อย่าให้ข้าราชการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ และปลูกฝังชาวบ้านอย่าขายที่นายทุน เตรียมนำข้อมูลเข้าที่ประชุมกรรมาธิการทรัพยากรฯ วุฒิสภา 14 ม.ค.นี้
วันนี้ (12 ม.ค.) ที่รัฐสภา น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่มีนักการเมืองมีการครอบครองที่ดินต้องห้ามหรือที่สาธารณะว่า ตนเห็นว่าสังคมไทยให้ความสนใจในเรื่องนี้น้อยมากโดยเฉพาะนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจทางการเมืองจะเห็นได้ว่า มีการครอบครองเป็นของตัวอยู่เป็นอย่างมาก ซึ่งหากภาคสังคมมีการตรวจสอบอย่างใกล้ชิดเชื่อว่าจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ทางสังคม ทำให้กลุ่มผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ละอายไม่กล้ากระทำผิดกฎหมาย เช่น กรณีการครอบครองเขายายเที่ยง ซึ่งหากมีการกำหนดชัดว่าผิดกฎหมาย บุคคลที่ครอบครองจะต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย แต่ล่าสุดทางอัยการสูงสุดก็มีการตีความว่าการถือครองโดยไม่ทราบหรือ ไม่ได้ถือครองตั้งแต่ต้นถือว่าไม่ผิดนั้น เห็นได้ชัดว่ามีการตีความจริยธรรมทางกฎหมายในระดับไหน
“ขณะนี้เรื่องจริยธรรมในสังคมไทยโดยเฉพาะนักการเมืองลดน้อยลง หากเป็นต่างประเทศ รับผิดชอบด้วยการลาออกแล้วแต่ในสังคมไทย กลับตรงข้ามโดยมักอ้างว่าไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ล่าสุดเรื่องการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง ที่เหล่าบุคคลที่เกี่ยวข้องต่างยืนยันว่ายังไม่มีการใช้จ่ายงบประมาณจึงไม่ผิด ขอถามว่าต้องให้เกิดความเสียหายก่อนใช่หรือไม่จึงจะมีความผิด อย่างน้อยควรคำนึงเรื่องจริยธรรมอันต้องห้ามบ้าง” น.ส.รสนา กล่าว
น.ส.รสนา กล่าวอีกว่า ตนเห็นว่าประชาชนควรเรียกร้องให้นักการเมืองมีความรับผิดชอบทางจริยธรรมให้ถึงที่สุด ซึ่งตนทราบมาว่าขณะนี้มีนักการเมืองและอดีตนักการเมืองชื่อดังหลายคนได้เข้า ครอบครองที่ดินต้องห้ามหรือที่ดินสาธารณะหลายแห่ง จึงอยากให้ประชาชนได้ร่วมตรวจสอบและกดดันนักการเมืองเหล่านี้ไม่ให้กระทำผิดด้วย เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานและสร้างวัฒนธรรมการต่อต้านสิ่งที่ผิดจริยธรรมให้สูงขึ้นด้วย ไม่ใช่แค่จับตามมองเฉพาะกรณีที่เป็นประเด็นทางการเมืองเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
ทางด้าน นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว.สรรหา ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวถึงปัญหาที่ดินของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ที่บริเวณเขายายเที่ยงว่า กรณีนี้ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือ ความผิดทางอาญา และความผิดทางแพ่ง โดยความผิดทางอาญา ตนเห็นด้วยกับสำนักงานอัยการที่ไม่สั่งฟ้อง เพราะจากมติ ครม.ปี 41 ที่ จัดสรรที่ดินให้ประชาชนทำกินบริเวณนั้นมีเงื่อนไขว่า เอาไปซื้อขายไม่ได้ ฉะนั้นจึงเป็นการให้สิทธิทำกิน ไม่ได้เป็นการให้สิทธิการเป็นกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ จะเห็นว่ากรณีนี้จึงไม่มีเอกสารกรรมสิทธิ์ เมื่อมีการเอามาขายเป็นทอดๆ จึงเป็นการทำผิดเงื่อนไขของผู้มีสิทธิ์ทำกินกับผู้รับซื้อทอดแรก ฉะนั้น กรณีภริยา พล.อ.สุรยุทธ์ ไปรับซื้อมาทอดที่ 3 ถ้าไม่รู้ว่าห้ามโอนสิทธิ์การเป็นกรรมสิทธิ์ก็ถือว่าไม่มีเจตนา ไม่มีความผิดทางอาญา ส่วนความผิดทางแพ่ง แม้ผู้รับซื้อทอดต่อๆมาจะซื้อโดยสุจริต แต่เงื่อนไขจากมติครม.ในกรณีไม่ได้อนุญาตให้สิทธิการครอบครอง หรือโอนสิทธิ์ ฉะนั้นผู้ช่วงมาก็ต้องคืนที่ดินแน่นอน
ส่วนปัญหาภาพรวมทั่วประเทศในการรุกที่ป่าสงวนและเขตอุทยานนั้น ตนไปตรวจที่ไหนก็เจอที่นั่น กมธ.ได้รับเรื่องร้องเรียนเยอะมาก อย่างไรก็ดี ต้องดูเป็นรายๆไป จะบอกว่าทุกแปลงไม่ผิดอาญาไม่ได้ เพราะต้องดูว่า ได้ที่ดินมาทอดที่เท่าไหร่ หรือมีการบุกรุกหรือสั่งการให้ใครไปบุกรุก แล้วค่อยสวมมาโอนที่รายภายหลังเป็นทอดที่สองหรือสาม แบบนี้ยังมีความผิดอยู่ ทั้งนี้การแก้ไข ต้องแก้ 2 ด้าน คือ 1.ภาครัฐ ต้องวางมาตรการจริงจัง ข้าราชการประจำโดยเฉพาะกรมป่าไม้ กรมที่ดิน ต้องไม่เอาหูไปนาเอาตาไปไร่ ซึ่งที่ผ่านมามีการสมประโยชน์ระหว่างข้าราชการและนายทุนที่เข้าไปรุกพื้นที่ เพราะหลายพื้นที่ ไม่มีเอกสารสิทธิ แต่ไปๆ มาๆ มีการไปออกเอกสารสิทธิ์ให้ได้อย่างหน้าตาเฉย 2.ต้องสร้างความผูกพันในพื้นที่ทำกินกับประชาชน ไม่ให้เอามาขายต่อแก่กลุ่มทุน
“ปัญหาภาพรวมไปตรวจพื้นที่ไหนก็เจอที่นั่น ฉะนั้น การใช้หลักกฎหมายล้วนๆ เช่น การที่จะเรียกพื้นที่คืนมาทั้งหมด ณ เวลานี้แก้ไม่ได้ เพราะเรื้อรัง จะเจอปัญหามวลชน ผมคิดว่า ควรแยกกลุ่มผู้กระทำความผิดอกมาก่อนระหว่างเกษตรกรที่ไม่มีที่ทำกินจริงๆ กับกลุ่มทุนที่เข้าไปบุกรุกแสวงประโยชน์ แล้วค่อยมากำหนดวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละประเภท ซึ่ง กมธ.จะนำเรื่องนี้มาศึกษา โดยจะนำเข้าที่ประชุมวันที่ 14 มกราคม เพื่อมีข้อเสนอแนะรัฐบาลในการแก้ปัญหาภาพรวม” นายสุรชัยกล่าว