ASTVผู้จัดการรายวัน-ส.อ.ท.เผยกลุ่มผู้ผลิตสินค้าประเภทเครื่องดื่มอาหาร ยอมรับกักตุนน้ำตาลเพิ่ม 20-30% เหตุวิตกราคาแพงต่อเนื่อง 2-3 ปี แต่ปริมาณต่ำกว่าพ่อค้าคนกลางแน่นอน แนะรัฐเพิ่มโควตา ก. เพื่อแก้ไขปัญหา ด้านโรงงานรับลูกพร้อมผลิตเพิ่ม ผลสำรวจพบอีกน้ำตาลในห้างเริ่มขาด จำกัดการซื้อ ส่วนโชห่วยขายแพงขึ้น
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการหารือกับกลุ่มผู้ผลิตสินค้าประเภทเครื่องดื่มและอาหารที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบหลัก ยอมรับว่ามีการกักตุนน้ำตาลจริง โดยเฉลี่ยแต่ละรายซื้อเพิ่มประมาณ 20-30% เนื่องจากผู้ผลิตวิตกถึงราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกจะแพงไปอีก 2-3 ปี แต่หากคิดเป็นปริมาณแล้วถือว่าไม่มากนัก เมื่อเทียบกับพ่อค้าคนกลางที่สามารถกักตุนได้ปริมาณที่มากกว่า เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องของโกดังเก็บน้ำตาล ดังนั้น เห็นว่าจำเป็นที่ภาครัฐควรจะเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) เพิ่มขึ้นอีกจากที่กำหนดไว้ 21 ล้านกระสอบ
“ผู้ผลิตเองไม่ได้เห็นแก่ตัว แต่ต้องยอมรับว่าหากไม่ซื้อน้ำตาลไว้ ก็จะมีผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นได้ และการปรับราคาสินค้าขณะนี้ ก็ไม่ง่ายนัก”นายธนิตกล่าว
นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทไทยซูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า มีการกักตุนน้ำตาลจริง โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้า แต่ไม่ต้องการระบุว่ากลุ่มไหน รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตเพื่อการส่งออกที่เคยใช้สิทธิ์น้ำตาลส่งออก (โควตา ค.) ที่ปีที่ผ่านมาใช้สูงถึง 4 แสนกระสอบเหลือเพียง 2 แสนกระสอบ จึงเป็นไปได้ที่อาจจะหันไปใช้น้ำตาลโควตา ก. แทน ทั้งนี้ เห็นว่าการแก้ไขปัญหาจะต้องเพิ่มปริมาณน้ำตาลโควตา ก.เพิ่มขึ้น โดยทางฝ่ายโรงงานน้ำตาลพร้อมที่จะนำน้ำตาลออกมาในระดับ 1 ล้านกระสอบ
นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเพิ่มปริมาณน้ำตาลโควตา ก. อีกนั้นควรจะเป็นกรณีที่จำเป็นจริงๆ และมีการเข้มงวดในเรื่องต่างๆ แล้ว โดยเฉพาะการตรวจสอบกลุ่มผู้ผลิตสินค้าที่ใช้น้ำตาลโควตา ก. ผิดปกติ และการตัดสิทธิ์ผู้ที่ไม่ใช้น้ำตาลโควตา ค. ตามที่ยื่นขอ จะต้องทำจริงจัง รวมทั้งเข้มงวดการขนส่งน้ำตาล เพราะหากไม่ทำสิ่งเหล่านี้ เชื่อว่าน้ำตาลจะขาดมากและในที่สุดเพิ่มไปก็ไม่พอ
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า ราคาน้ำตาลที่สูงส่งผลให้ราคาโมลาส (กากน้ำตาล) ปรับเพิ่มตาม ล่าสุดมีการจำหน่ายล่วงหน้าของฤดูหีบ 2553/54 ประมาณ 160 เหรียญต่อตันหรือคิดเป็น 5.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือเป็นราคาที่แพงหากนำมาผลิตเอทานอล ราคาเอทานอลจะสูงเฉลี่ยถึง 30 บาทต่อลิตร โดยขณะนี้ผู้ผลิตเอทานอลที่ใช้โมลาสยังมีสต๊อกวัตถุดิบเดิมอยู่ แต่ช่วงหลังก.ค.ไปแล้ว อาจจะตัดสินใจว่าจะผลิตหรือไม่ เพราะหากจำหน่ายเอทานอลในราคาไม่คุ้มทุนก็คงจะลำบาก
รายงานข่าวแจ้งว่า สถานการณ์จำหน่ายน้ำตาลทรายขาวปลีก ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล กำลังประสบปัญหาขาดตลาดอย่างหนัก โดยการสำรวจห้างค้าปลีกสมัยใหม่ไม่เหลือน้ำตาลทรายขาวจำหน่ายในชั้นวางขายเลย โดยติดป้ายแจ้งลูกค้าว่าสินค้าหมดชั่วคราว เหลือแค่น้ำตายทรายสีธรรมชาติ และน้ำตาลทรายชนิดพิเศษที่มีราคาสูง กก.ละ 25-31 บาทจำหน่ายเท่านั้น และบางห้างมีการจำกัดปริมาณซื้อไม่เกินคนละ 3 ถุง ขณะที่ร้านค้าปลีกรายย่อยและโชห่วย ที่ตักตวงใส่ถุงขาย ก็มีราคาสูงถึงกก.ละ 25 บาท เกินเพดานที่กำหนด 23.50 บาท เนื่องจากต้นทุนที่รับมาจากร้านค้าส่งสูงถึงกก.ละ 24 บาท และซื้อได้จำกัด
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า จากการหารือกับกลุ่มผู้ผลิตสินค้าประเภทเครื่องดื่มและอาหารที่ใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบหลัก ยอมรับว่ามีการกักตุนน้ำตาลจริง โดยเฉลี่ยแต่ละรายซื้อเพิ่มประมาณ 20-30% เนื่องจากผู้ผลิตวิตกถึงราคาน้ำตาลทรายในตลาดโลกจะแพงไปอีก 2-3 ปี แต่หากคิดเป็นปริมาณแล้วถือว่าไม่มากนัก เมื่อเทียบกับพ่อค้าคนกลางที่สามารถกักตุนได้ปริมาณที่มากกว่า เนื่องจากมีความพร้อมในเรื่องของโกดังเก็บน้ำตาล ดังนั้น เห็นว่าจำเป็นที่ภาครัฐควรจะเพิ่มปริมาณน้ำตาลทรายโควตา ก. (บริโภคในประเทศ) เพิ่มขึ้นอีกจากที่กำหนดไว้ 21 ล้านกระสอบ
“ผู้ผลิตเองไม่ได้เห็นแก่ตัว แต่ต้องยอมรับว่าหากไม่ซื้อน้ำตาลไว้ ก็จะมีผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นได้ และการปรับราคาสินค้าขณะนี้ ก็ไม่ง่ายนัก”นายธนิตกล่าว
นายวิบูลย์ ผาณิตวงศ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัทไทยซูการ์ มิลเลอร์ จำกัด กล่าวว่า มีการกักตุนน้ำตาลจริง โดยเฉพาะผู้ผลิตสินค้า แต่ไม่ต้องการระบุว่ากลุ่มไหน รวมถึงกลุ่มผู้ผลิตเพื่อการส่งออกที่เคยใช้สิทธิ์น้ำตาลส่งออก (โควตา ค.) ที่ปีที่ผ่านมาใช้สูงถึง 4 แสนกระสอบเหลือเพียง 2 แสนกระสอบ จึงเป็นไปได้ที่อาจจะหันไปใช้น้ำตาลโควตา ก. แทน ทั้งนี้ เห็นว่าการแก้ไขปัญหาจะต้องเพิ่มปริมาณน้ำตาลโควตา ก.เพิ่มขึ้น โดยทางฝ่ายโรงงานน้ำตาลพร้อมที่จะนำน้ำตาลออกมาในระดับ 1 ล้านกระสอบ
นายกำธร กิตติโชติทรัพย์ ประธานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเพิ่มปริมาณน้ำตาลโควตา ก. อีกนั้นควรจะเป็นกรณีที่จำเป็นจริงๆ และมีการเข้มงวดในเรื่องต่างๆ แล้ว โดยเฉพาะการตรวจสอบกลุ่มผู้ผลิตสินค้าที่ใช้น้ำตาลโควตา ก. ผิดปกติ และการตัดสิทธิ์ผู้ที่ไม่ใช้น้ำตาลโควตา ค. ตามที่ยื่นขอ จะต้องทำจริงจัง รวมทั้งเข้มงวดการขนส่งน้ำตาล เพราะหากไม่ทำสิ่งเหล่านี้ เชื่อว่าน้ำตาลจะขาดมากและในที่สุดเพิ่มไปก็ไม่พอ
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมการค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย กล่าวว่า ราคาน้ำตาลที่สูงส่งผลให้ราคาโมลาส (กากน้ำตาล) ปรับเพิ่มตาม ล่าสุดมีการจำหน่ายล่วงหน้าของฤดูหีบ 2553/54 ประมาณ 160 เหรียญต่อตันหรือคิดเป็น 5.50 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งถือเป็นราคาที่แพงหากนำมาผลิตเอทานอล ราคาเอทานอลจะสูงเฉลี่ยถึง 30 บาทต่อลิตร โดยขณะนี้ผู้ผลิตเอทานอลที่ใช้โมลาสยังมีสต๊อกวัตถุดิบเดิมอยู่ แต่ช่วงหลังก.ค.ไปแล้ว อาจจะตัดสินใจว่าจะผลิตหรือไม่ เพราะหากจำหน่ายเอทานอลในราคาไม่คุ้มทุนก็คงจะลำบาก
รายงานข่าวแจ้งว่า สถานการณ์จำหน่ายน้ำตาลทรายขาวปลีก ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล กำลังประสบปัญหาขาดตลาดอย่างหนัก โดยการสำรวจห้างค้าปลีกสมัยใหม่ไม่เหลือน้ำตาลทรายขาวจำหน่ายในชั้นวางขายเลย โดยติดป้ายแจ้งลูกค้าว่าสินค้าหมดชั่วคราว เหลือแค่น้ำตายทรายสีธรรมชาติ และน้ำตาลทรายชนิดพิเศษที่มีราคาสูง กก.ละ 25-31 บาทจำหน่ายเท่านั้น และบางห้างมีการจำกัดปริมาณซื้อไม่เกินคนละ 3 ถุง ขณะที่ร้านค้าปลีกรายย่อยและโชห่วย ที่ตักตวงใส่ถุงขาย ก็มีราคาสูงถึงกก.ละ 25 บาท เกินเพดานที่กำหนด 23.50 บาท เนื่องจากต้นทุนที่รับมาจากร้านค้าส่งสูงถึงกก.ละ 24 บาท และซื้อได้จำกัด