xs
xsm
sm
md
lg

คตส.อายัด ไม่ได้มั่วเหมือนยุค รสช. (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปี 2549 ประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คป.ค.) ที่นำโดยพล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ผบ.ทบ.ในขณะนั้น นำกำลังเข้ายึดอำนาจจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 จากนั้นในวันที่ 30 ก.ย. คปค.จึงได้ออกประกาศคปค.ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่รัฐ พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทั้งหมด 12 คน เป็นคณะกรรมการการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความสูญเสียแก่รัฐ หรือคตส. เริ่มดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของพ.ต.ท.ทักษิณ ที่ได้มามิชอบระหว่างดำรงตำแหน่งกว่า 5 ปี พร้อมทั้งทำสำนวนคดีส่งให้อัยการดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป

ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบที่มาที่ไปทรัพย์สินพ.ต.ท.ทักษิณของคตส.นั้น มีอุปสรรคมากมาย สืบเนื่องมาจาก"ระบอบทักษิณ"ยังฝังรากลงลึกอยู่แทบทุกหน่วยราชการ แม้แต่คณะกรรมการคตส.เอง ยังต้องเผชิญกับการข่มขู่ทุกรูปแบบ แต่นั่น ก็มิได้ทำให้การดำเนินการ"ยึดทรัพย์"ยุติลง จนกระทั่งวันที่ 29 พ.ค.2551 นายแก้วสรร อติโพธิ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้นำสำนวนการไต่สวนของ คตส.และพยานเอกสารหลักฐานรวม 7 ลัง จำนวน 43 แฟ้ม พร้อมความเห็นชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่ำรวยผิดปกติ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 ม.80 ขอให้ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด พิจารณาเพื่อมีคำสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ยึดทรัพย์สิน จำนวน 76,621,603,061 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน

"การไต่สวนคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ที่มีอยู่แล้ว คณะรัฐประหารไม่ได้สร้างอำนาจพิเศษ หรือความผิดพิเศษขึ้นมา ถึงแม้ไม่ได้มีคณะรัฐประหารความผิดนี้ก็มีอยู่แล้ว คตส.เป็นเพียงผู้ไต่สวนและส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ ให้พิพากษายึดทรัพย์ จำนวน 76,621,603,061 บาท แต่เนื่องจาก กลัวว่าจะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน คตส.จึงได้อายัดทรัพย์ไว้แล้วส่วนหนึ่งจำนวน 62,000 ล้านบาท ซึ่งการยื่นฟ้องจะมีคำขอให้ศาล ยึดอายัดทรัพย์จำนวนดังกล่าวไว้ก่อน และถ้าศาลมีคำพิพากษาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ สั่งให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน ก็จะยึดทรัพย์สินก้อนนี้ก่อน ส่วนจำนวนเงินที่ยังขาดอีก 14,000 ล้านบาท ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. ให้ศาลมีอำนาจสั่งยึดทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะได้ครบตามจำนวน ซึ่งจะเห็นได้ว่าทรัพย์สินที่ คตส. ร้องขอให้ยึดทรัพย์เป็นทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ไม่ได้เป็นบ้านพัก หรือหุ้น ไม่ได้อายัดมั่วเหมือนยุค รสช.ที่ยึดเกลี้ยงหมด อย่างไรก็ดีอัยการมีเวลาสั่งคดี 30 วัน ซึ่งหากเห็นว่าสำนวนไม่สมบูรณ์ แล้วต้องตั้งคณะทำงานร่วม แล้วตกลงกันไม่ได้ ในช่วงที่ คตส.จะหมดอายุภายในสิ้นเดือนมิถุนายน (51) แต่ก็ยังมี ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่ยื่นฟ้องคดีเองได้"นายแก้วสรรระบุไว้หลังการมอบสำนวนให้กับอัยการ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ใช่แต่"ระบอบทักษิณ" ที่เป็นอุปสรรคของคตส.เท่านั้น ยังมีเงื่อนเวลา ที่จะทำให้คดีนี้ ล้มไม่เป็นท่าด้วย แม้จะมีป.ป.ช.คอยรองรับอยู่อีกชั้นก็ตาม

จากวันที่ 29 พ.ค.51 ที่คตส. ไปยื่นสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องยึดทรัพย์พ.ต.ท.ทักษิณ สำนวนคดี อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของอัยการ จนกระทั่งวันที่ 27 มิ.ย. 51 นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด หัวหน้าคณะทำงานอัยการคดีคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีมติส่งหนังสือถึง นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส.ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างอัยการกับ คตส.เพื่อสอบสวนเพิ่มเติมคดีแพ่งที่ คตส.ส่งสำนวนให้ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุดขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอายัดทรัพย์สิน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำนวน 76,671,603 ,061บาท เนื่องจากมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ โดยระบุว่า พบสำนวนข้อไม่สมบูรณ์เรื่องการแยกทรัพย์สินก่อน-หลังกระทำผิด ซึ่งอัยการไม่อาจบิดพลิ้วสั่งเป็นอย่างอื่น เพียงแต่เมื่อจะฟ้องก็ต้องให้สำนวนสมบูรณ์ ผู้ถูกกล่าวหาไม่อาจโต้แย้งได้ ส่วนปัญหาระยะเวลายื่นฟ้อง นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ เห็นว่ากรณีคดีแพ่งอายัดทรัพย์กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 81 กำหนดให้อัยการสูงสุดมีเวลาพิจารณาสั่งคดี 90 วัน ดังนั้นจึงยังเหลือเวลาสั่งคดีมากกว่า 2 เดือน ระหว่างนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอถอนการอายัดทรัพย์เพราะเป็นช่วงเวลาการพิจารณาคดีของอัยการ

เป็นระยะเวลาเกือบ 3 เดือน สำนวนคดีที่อยู่ในมืออัยการ เพื่อร่างคำฟ้อง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 ส.ค.51 อัยการโดยนายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ และคณะ เป็นผู้นำ คำฟ้องที่สมบูรณ์ ซึ่งมีรายละเอียด 124 หน้า ให้ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด พิจารณาเพื่อลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยฐานมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติเตรียมยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเงินบัญชีเงินฝากของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว รวม 16 บัญชีในธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน รวม 7.6 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยที่ได้จากเงินฝากนั้น ตกเป็นของแผ่นดิน

ระหว่างนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแล้ว เนื่องจากหนีฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีทุจริตซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก โดยตัดสินจำคุกพ.ต.ท.ทักษิณเป็นเวลา 2 ปี ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีความวิตกกังวลว่า คดียึดทรัพย์อาจจะต้องถูกยุติไว้ชั่วคราว เนื่องจากจำเลยไม่อยู่(หนี) แต่นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด ที่เป็นประธานคณะทำงานคดีนี้ ให้ความมั่นใจว่า แม้พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่อยู่ในประเทศแล้ว การฟ้องคดีนี้ เป็นเรื่องคดีความทางแพ่ง ซึ่งปกติศาลสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาได้เพียงฝ่ายเดียว โดยที่ตัวจำเลยไม่ต้องมาฟังกระบวนพิจารณาได้ ซึ่งหากยื่นฟ้องแล้วศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องและส่งหมาย สำเนาคำฟ้อง ให้จำเลยตามที่อยู่ที่ปรากฏทราบแล้ว หากจำเลยไม่มาศาล และไม่แต่งตั้งทนายความเพื่อยื่นคำให้การสู้คดี ถือว่าจำเลยขาดนัด ศาลก็ดำเนินกระบวนพิจารณาลับหลังจำเลยโดยไต่สวนพยานหลักฐานที่โจทก์นำเสนอต่อศาลเพียงฝ่ายเดียวได้จนเสร็จสิ้น

เป็นอันว่า ตั้งแค่คปค. ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นคมช.(คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) เข้ายึดอำนาจมาเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี สำนวนคดี"ยึดทรัพย์"พ.ต.ท.ทักษิณ จึงถึงมือศาล อันเป็นปลายทางแห่งกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่ทุกคนจะต้องน้อมและยอมรับ ไม่ว่าจะถุกใจหรือไม่ถูกใจก็ตาม

วันพรุ่งนี้ เราจะตามไปค้นสำนวนคดีที่คตส. และอัยการร่วมกันร่างคำฟ้องคดียึดทรัพย์ ว่าผู้ถูกฟ้องคือพ.ต.ท.ทักษิณ มีวิธีการ และกลโกงที่แยบยลกันอย่างไร เม็ดเงินจึงมากมายมหาศาลถึง 7.6 หมื่นบาท นับเป็น"ประวัติศาสตร์"แห่งคดียึดทรัพย์ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเมืองไทย

****************

บัญชีเงินฝาก 16 บัญชีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวชินวัตรที่ถูกอายัดไว้ในชั้น คตส. ประกอบด้วย

ธนาคารกสิกรไทย 36 ล้านบาท
ธนาคารกรุงเทพ 18,156 ล้านบาท
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 2,125 ล้านบาท
ธนาคารทหารไทย 10 ล้านบาท
ธนาคารไทยพาณิชย์ 39,634 ล้านบาท
ธนาคารธนชาต 1,476 ล้านบาท
ธนาคารนครหลวงไทย 1 ล้านบาท
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 500 ล้านบาท
ธนาคารยูโอบี รัตนสิน 492 ล้านบาท
ธนาคารออมสิน 15,748 ล้านบาท
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 200 ล้านบาท
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 10,000 ล้านบาท
บลจ.กสิกรไทย 208 ล้านบาท
บลจ.ไทยพาณิชย์ 2,237 ล้านบาท
บลจ.แอสเซทพลัส 172 ล้านบาท
ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์และที่ดิน 2,722 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น