xs
xsm
sm
md
lg

มหากาพย์"ยึดทรัพย์"ตอบจบ หาก"ทักษิณ"ผิดใคร? ตามยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


(หากผลคำพิพากษาออกเป็นลบกับ ทักษิณ ชินวัตร ด้วยการยึดทรัพย์ ขั้นตอนต่อจากนี้ไป คือ ศาลจะออกหมายบังคับคดีให้เจ้าของทรัพย์ส่งทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองส่งมอบทรัพย์นั้น ส่วนกรณีที่ทรัพย์อยู่ในความครอบครองของสถาบันการเงินก็จะส่งหมายไปยังสถาบันการเงินนั้นส่งมอบให้โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการติดตามยึดทรัพย์ตามคำพิพากษาของศาลซึ่งการบังคับคดีสามารถทำได้ทันทีเพราะถือว่าคดีที่พิจารณาโดยศาลฎีกา ฯสิ้นสุดแล้ว)


หากนับถอยหลังวินาทีพิพากษาคดียึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล้านอันได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถือว่ายิ่งลุ้นระทึกเข้ามาทุกขณะ ว่าผลแห่งคำพิพากษาจะออกมาอย่างไร ศาลสถิตยุติธรรม ได้บังคับใช้"กฎหมาย ให้เป็นไปกฎหมาย หรือไม่"

อย่างไรก็ตาม เมื่อผลแห่งคำพิพากษาออกมา เชื่อว่าทุกฝ่ายต้องน้อมรับ เพราะศาลได้ยืนยันมาตลอดเวลาว่า คดีนี้องค์คณะทั้ง 9 ท่านได้ใช้สติปัญญา สมาธิ ปราศจากอคติ ในการใช้ดุลพินิจพิจารณาพยานหลักฐานทั้งของฝ่ายผู้ร้อง(อัยการ) และ ผู้ถูกร้อง(ทักษิณ)ด้วยความเป็นธรรม โดยไม่หวั่นไหวกับกระแสข่าวสินบนล้มคดีแต่ประการใด

ดังนั้นจึงทำให้ ณ วินาทีนี้ ยังไม่มีใครรู้จริงว่าผลแห่งคำพิพากษาจะออกมาอย่างไร และยังมีความเป็นไปได้ที่จะออกมาในแนวทางใดแนวทางหนึ่งใน 3 แนวทางตามที่นักกฎหมายเคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

กล่าวคือ....แนวทางที่ 1.ยกคำร้อง กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้คือองค์คณะผู้พิพากษาเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า พยานในชั้นไต่สวนของอัยการผู้ร้องพิสูจน์ไม่ได้ว่า"ทักษิณ"ใช้อำนาจหน้าที่สั่งการให้หน่วยงานราชการออกมาตรการ และข้อกำหนดต่างๆ เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจในเครือชินคอร์ปฯ และมีการขายหุ้นชินคอร์ปฯให้ลูกและญาติพี่น้องไปอย่างถูกต้องไม่ใช่นิติกรรมอำพราง หรือแม้ว่าพยานหลักฐานฝ่ายอัยการผู้ร้องจะฟังได้ว่ามีการซุกหุ้นหรือใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ แต่ก็เป็นความผิดทางอาญาจะนำมาเป็นเหตุยึดทรัพย์ไม่ได้(คดีอาญาอยู่ระหว่างจำหน่ายคดี เพราะไม่ได้ตัวจำเลยมาขึ้นศาล...ทักษิณหนี)

2.ยึดทรัพย์บางส่วน กรณีนี้คือศาลเห็นว่า ทักษิณ ซุกหุ้นหลีกเลี่ยงกฎหมายจริง ยิ่งขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีพฤติการณ์เข้าไปเกี่ยวข้องสั่งการหน่วยงานใต้อำนาจให้ออกมาตรการเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจครอบครัว ทรัพย์ที่ได้มาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะต้องริบทรัพย์สินส่วนที่ได้มาโดยมิชอบ แต่จะริบหมดทุกส่วนไม่ได้ หุ้นชินคอร์ปฯ ก่อนทักษิณรับตำแหน่งนายก เดิมมีราคา 2 หมื่นล้านบาท ต่อมาขายได้ในราคา 7.3 หมื่นล้านบาท ส่วนต่างที่ต้องยึดตกเป็นของแผ่นดิน คือ 5.3 หมื่นล้านบาท

3. ยึดทั้งหมด กรณีนี้คือศาลเชื่อตาม “ ทฤษฎีวัวกินหญ้ารัฐ ” ของ “ อ.แก้วสรร อติโพธิ” คือหากใครแอบเอาวัวไปกินหญ้าของคนอื่นจนอ้วนขึ้นมาก็ต้องยึดวัวทั้งตัว จะยึดเฉพาะแขนขาวัวไม่ได้ เช่นเดียวกับผลประโยชน์ที่งอกเงยจากการทุจริตทรัพย์สินและสัมปทานของชาติมาเป็นของตัวเอง หากทรัพย์นั้นได้มาโดยมิชอบก็ควรต้องยึดเป็นของแผ่นดินทั้งหมด จะยึดเพียงบางส่วนตามที่ทนายฝ่ายทักษิณพยายามต่อสู้อ้างว่าทรัพย์บางส่วนโอนให้ลูกเมียไปแล้วไม่ได้

สำหรับความเชื่อของประชาชนจำนวนมากที่มั่นใจว่าศาลจะสั่งยึดทรัพย์ทุจริตของทักษิณ ตอนนี้เริ่มตั้งคำถามถึงขั้นตอนกระบวนการต่อไปว่าจะยึดจะริบกันอย่างไร

คดีนี้อัยการผู้ร้องขอให้ทรัพย์อันได้มาจากการร่ำรวยผิดปกติของ"ทักษิณ"ตกเป็นของแผ่นดิน ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 80 ที่บัญญัติว่าถ้าคณะกรรมการ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อเท็จจริงและมีมติว่า ผู้ถูกกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการ ส่ง เรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง ทางการเมืองเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน

มาตรา 83 ถ้าศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่าร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติตกเป็นของ แผ่นดิน แต่ไม่สามารถบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินเหล่านั้นได้ทั้งหมดหรือได้แต่บางส่วน ให้บังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินอื่นของผู้ถูกกล่าวหาได้ภายในอายุ ความสิบปี แต่ต้องไม่เกินมูลค่าของทรัพย์สินที่ศาลสั่งให้ตกเป็นของแผ่นดิน

พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542 มาตรา 45 การบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีให้เป็น ไปตาม คำพิพากษาให้เป็นที่สุด

และให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกามีอำนาจออกหมายหรือคำสั่งใดๆตามที่เห็นสมควร เพื่อบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ข้อ 38 วรรคสอง

นายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย หนึ่งในคณะทำงานอัยการคดียึดทรัพย์ อธิบายไว้ว่าตามขั้นตอนกฎหมายหมายศาลก็จะออกหมายบังคับคดีให้เจ้าของทรัพย์ส่งทรัพย์สินที่อยู่ในความครอบครองส่งมอบทรัพย์นั้น ส่วนกรณีที่ทรัพย์นั้นอยู่ในความครอบครองของสถาบันการเงินก็จะส่งหมายไปยังสถาบันการเงินนั้นส่งมอบให้โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการติดตามยึดทรัพย์ตามคำพิพากษาของศาลซึ่งการบังคับคดีสามารถทำได้ทันทีเพราะถือว่าคดีที่พิจารณาโดยศาลฎีกา ฯ สิ้นสุดแล้ว เจ้าของทรัพย์คงไม่สามารถไปฟ้องเป็นคดีอื่นได้อีก

ส่วนที่หลายคนห่วงเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ จดทะเบียนหย่ากับคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภริยา นั้นไม่มีผลต่อคดียึดทรัพย์แต่อย่างใด เนื่องจากคดีนี้อัยการยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นจำเลย เพียงคนเดียวไม่ได้ยื่นฟ้องคุณหญิงพจมาน ด้วยซึ่งตามมติของ คตส. ชี้มูลความผิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ร่ำรวยผิดปกติจากการขายหุ้นชินคอร์ปฯ ให้กับกลุ่มทุนเทมาเส็ก ประเทศสิงค์โปร์ ที่แม้จะโอนหุ้นให้กับบุคคลธรรมดา นิติบุคคล และห้างหุ้นส่วนต่างๆ แล้วแต่ก็ยังมีการกระทำแทนในลักษณะของนอมินี และปฎิบัติหน้าที่มิชอบใช้อำนาจนายกรัฐมนตรีเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง

อีกทั้งตอนต้น พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ไม่ได้แจ้งกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ว่าหุ้นดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของตนเอง แต่กลับแจ้งว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้โอนไปให้กับบุตรชาย บุตรสาว ญาติสนิทใกล้ชิด และบุคคลอื่นก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง จึงไม่มีชื่อของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน เป็นเจ้าของทรัพย์

“ประเด็นการหย่า จะเป็นเหตุผลให้คุณหญิงพจมาน ยื่นคำร้องค้านและขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งแยกทรัพย์สินในส่วนของตัวเองออกจากส่วนของ พ.ต.ท.ทักษิณ คงไม่ได้ เพราะทั้งสองเคยให้การกับ ป.ป.ช. ว่าได้โอนขาดหรือโอนพราง หรือขายให้โดยมีค่าตอบแทนไปแล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่จะต้องพิสูจน์ ส่วนคุณหญิงพจมาน อาจจะมาเป็นพยานให้ก็ได้ รวมทั้งการหย่าแม้จะทำให้ทั้งสองสามารถทำนิติกรรมเพียงลำพังได้ แต่ก็ไม่สามารถยื่นคำร้องของเพิกถอนทรัพย์สินที่ถูกอายัดไว้ได้ เพราะขณะนี้ คตส. ไม่มีสถานภาพแล้ว ส่วน ป.ป.ช.ก็เคยวินิจฉัยไว้แล้วว่าไม่มีอำนาจที่จะเพิกถอนคำสั่งอายัดทรัพย์สิน ซึ่งธนาคารพาณิชย์หรือหน่วยงานที่อายัดทรัพย์ไว้คงไม่กล้าดำเนินการอะไร จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดก่อน ”

อย่างไรก็ดี แม้ศาลจะมีคำพิพากษาเป็นที่สิ้นสุดไปแล้ว แต่กระบวนการยึดทรัพย์ไม่ใช่เรื่องง่าย ดูได้จากคดีที่ศาลฎีกาฯ พิพากษา ให้ยึดทรัพย์ทุจริต 233.88 ล้านบาท ของ นายรักเกียรติ สุขธนะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2546 บัดนี้ ผ่านมาแล้ว 7 ปี ขั้นตอนการบังคับคดียังไม่ไปถึงไหน เจ้าพนักงานบังคับคดียังสืบหาทรัพย์สินตามคำพิพากษาและดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินเพื่อขายทอดตลาดได้ไม่กี่บาท

แต่กรณีของ "ทักษิณ" ดูจะง่ายกว่าเพราะทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นเงินฝากอยู่ในธนาคาร ยากต่อการยักย้ายถ่ายเทเพราะมีคำสั่งอายัดไว้ทั้งหมด ขั้นตอนการบังคับคดีจึงเริ่มต้นได้ทันทีเมื่อศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษา สิ้นสุดแล้ว แต่ก่อนอื่นต้องลุ้นกันก่อนว่าผลคำพิพากษาจะออกมาอย่างไร ศาลจะสั่งคืนทรัพย์ให้ทักษิณไป จะสั่งยึดบางส่วน หรือยึดไว้ทั้งหมด

 
ทั้งนี้ เงินฝากของพันตำรวจโททักษิณและครอบครัวชินวัตร ที่ถูกอายัด มีดังนี้

        
         ธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 39,634 ล้านบาท
        
         ธนาคาร กรุงเทพ จำนวน 18,156 ล้านบาท
        
         ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์และที่ดิน จำนวน 2,722 ล้านบาท
        
         บลจ.ไทยพาณิชย์ฯ จำนวน 2,237 ล้านบาท
        
         ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 2,125 ล้านบาท
        
         ธนาคารธนชาต จำนวน 1,476 ล้านบาท
        
         ธนาคารยูโอบี รัตนสิน จำนวน 492 ล้านบาท
        
         บลจ.กสิกรไทยฯ จำนวน 208 ล้านบาท
        
         ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จำนวน 200 ล้านบาท
        
         บลจ.แอสเซทพลัสฯ จำนวน 172 ล้านบาท
        
         ธนาคารกสิกร ไทย จำนวน 36 ล้านบาท
        
         ธนาคารทหารไทย จำนวน 10 ล้านบาท
        
         ธนาคารนครหลวงไทย จำนวน 1 ล้านบาท
        
         ธนาคารออมสิน จำนวน 15,748 บาท
        
         ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จำนวน 10,000 บาท
        
         ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร จำนวน 500 บาท
        

กำลังโหลดความคิดเห็น