ตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ผู้นำของชาติระดับนายกรัฐมนตรีที่ถูกยึดทรัพย์นั้นมีเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น คือจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถูกยึดทรัพย์ไปประมาณ 600 ล้านบาท และ จอมพลถนอม กิตติขจร ถูกยึดทรัพย์ไปประมาณ 400 ล้านบาท ภายหลังพ้นจากตำแหน่งแล้ว นอกจากนี้ยังมีอดีตผู้นำไทยที่เฉียดการถูกยึดทรัพย์ก็คือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แต่ครั้งนั้น คณะตรวจสอบที่ทำการยึดทรัพย์ถูกตั้งขึ้นมาไม่ถูกกฎหมาย “น้าชาติ” จึงรอดพ้นการถูกยึดทรัพย์ไปได้
ปี 2549 ประเทศไทย มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่นำโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ในขณะนั้น นำกำลังเข้ายึดอำนาจจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 จากนั้นในวันที่ 30 ก.ย. คปค.จึงได้ออกประกาศคปค.ฉบับที่ 30 เรื่อง การตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทั้งหมด 12 คน เป็น คณะกรรมการการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ หรือ คตส. เริ่มดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ได้มามิชอบระหว่างดำรงตำแหน่งกว่า 5 ปี พร้อมทั้งทำสำนวนคดีส่งให้อัยการดำเนินการฟ้องร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต่อไป
ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบที่มาที่ไปทรัพย์สิน พ.ต.ท.ทักษิณของ คตส.นั้น มีอุปสรรคมากมาย สืบเนื่องมาจาก “ระบอบทักษิณ” ยังฝังรากลงลึกอยู่แทบทุกหน่วยราชการ แม้แต่คณะกรรมการคตส.เอง ยังต้องเผชิญกับการข่มขู่ทุกรูปแบบ แต่นั่น ก็มิได้ทำให้การดำเนินการ “ยึดทรัพย์” ยุติลง จนกระทั่งวันที่ 29 พ.ค.2551 นายแก้วสรร อติโพธิ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ได้นำสำนวนการไต่สวนของ คตส.และพยานเอกสารหลักฐานรวม 7 ลัง จำนวน 43 แฟ้ม พร้อมความเห็นชี้มูลความผิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่ำรวยผิดปกติ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 ม.80 ขอให้ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด พิจารณาเพื่อมีคำสั่งฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พิพากษาให้ยึดทรัพย์สิน จำนวน 76,621,603,061 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน
“การไต่สวนคดียึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ที่มีอยู่แล้ว คณะรัฐประหารไม่ได้สร้างอำนาจพิเศษ หรือความผิดพิเศษขึ้นมา ถึงแม้ไม่ได้มีคณะรัฐประหารความผิดนี้ก็มีอยู่แล้ว คตส.เป็นเพียงผู้ไต่สวนและส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาสั่งฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ ให้พิพากษายึดทรัพย์ จำนวน 76,621,603,061 บาท แต่เนื่องจากกลัวว่าจะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน คตส.จึงได้อายัดทรัพย์ไว้แล้วส่วนหนึ่งจำนวน 62,000 ล้านบาท ซึ่งการยื่นฟ้องจะมีคำขอให้ศาลยึดอายัดทรัพย์จำนวนดังกล่าวไว้ก่อน และถ้าศาลมีคำพิพากษาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ สั่งให้ยึดทรัพย์ตกเป็นของแผ่นดิน ก็จะยึดทรัพย์สินก้อนนี้ก่อน ส่วนจำนวนเงินที่ยังขาดอีก 14,000 ล้านบาท ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช.ให้ศาลมีอำนาจสั่งยึดทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะได้ครบตามจำนวน ซึ่งจะเห็นได้ว่าทรัพย์สินที่ คตส. ร้องขอให้ยึดทรัพย์เป็นทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ไม่ได้เป็นบ้านพัก หรือหุ้น ไม่ได้อายัดมั่วเหมือนยุค รสช.ที่ยึดเกลี้ยงหมด อย่างไรก็ดีอัยการมีเวลาสั่งคดี 30 วัน ซึ่งหากเห็นว่าสำนวนไม่สมบูรณ์ แล้วต้องตั้งคณะทำงานร่วม แล้วตกลงกันไม่ได้ ในช่วงที่ คตส.จะหมดอายุภายในสิ้นเดือนมิถุนายน (51) แต่ก็ยังมี ป.ป.ช.ปฏิบัติหน้าที่ยื่นฟ้องคดีเองได้” นายแก้วสรรระบุไว้หลังการมอบสำนวนให้กับอัยการ ซึ่งจะเห็นได้ว่า ใช่แต่ “ระบอบทักษิณ” ที่เป็นอุปสรรคของคตส.เท่านั้น ยังมีเงื่อนเวลา ที่จะทำให้คดีนี้ ล้มไม่เป็นท่าด้วย แม้จะมีป.ป.ช.คอยรองรับอยู่อีกชั้นก็ตาม
จากวันที่ 29 พ.ค.51 ที่ คตส.ไปยื่นสำนวนพร้อมความเห็นสั่งฟ้องยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ สำนวนคดี อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของอัยการ จนกระทั่งวันที่ 27 มิ.ย. 51 นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด หัวหน้าคณะทำงานอัยการคดีคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) มีมติส่งหนังสือถึง นายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส.ให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างอัยการกับ คตส.เพื่อสอบสวนเพิ่มเติมคดีแพ่งที่ คตส.ส่งสำนวนให้ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุดขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอายัดทรัพย์สิน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นจำนวน 76,671,603,061 บาท เนื่องจากมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ โดยระบุว่า พบสำนวนข้อไม่สมบูรณ์เรื่องการแยกทรัพย์สินก่อน-หลังกระทำผิด ซึ่งอัยการไม่อาจบิดพลิ้วสั่งเป็นอย่างอื่น เพียงแต่เมื่อจะฟ้องก็ต้องให้สำนวนสมบูรณ์ ผู้ถูกกล่าวหาไม่อาจโต้แย้งได้ ส่วนปัญหาระยะเวลายื่นฟ้อง นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ เห็นว่ากรณีคดีแพ่งอายัดทรัพย์กฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาตรา 81 กำหนดให้อัยการสูงสุดมีเวลาพิจารณาสั่งคดี 90 วัน ดังนั้นจึงยังเหลือเวลาสั่งคดีมากกว่า 2 เดือน ระหว่างนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอถอนการอายัดทรัพย์เพราะเป็นช่วงเวลาการพิจารณาคดีของอัยการ
เป็นระยะเวลาเกือบ 3 เดือน สำนวนคดีที่อยู่ในมืออัยการ เพื่อร่างคำฟ้อง จนกระทั่งเมื่อวันที่ 25 ส.ค.51 อัยการโดยนายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ และคณะ เป็นผู้นำ คำฟ้องที่สมบูรณ์ ซึ่งมีรายละเอียด 124 หน้า ให้ นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด พิจารณาเพื่อลงลายมือชื่อเป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยฐานมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติเตรียมยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอให้มีคำสั่งให้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นเงินบัญชีเงินฝากของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว รวม 16 บัญชีในธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงิน รวม 7.6 หมื่นล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยที่ได้จากเงินฝากนั้น ตกเป็นของแผ่นดิน
ระหว่างนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยแล้ว เนื่องจากหนีฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคดีทุจริตซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก โดยตัดสินจำคุก พ.ต.ท.ทักษิณเป็นเวลา 2 ปี ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีความวิตกกังวลว่า คดียึดทรัพย์อาจจะต้องถูกยุติไว้ชั่วคราว เนื่องจากจำเลยไม่อยู่(หนี) แต่นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล รองอัยการสูงสุด ที่เป็นประธานคณะทำงานคดีนี้ ให้ความมั่นใจว่า แม้ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่อยู่ในประเทศแล้ว การฟ้องคดีนี้ เป็นเรื่องคดีความทางแพ่ง ซึ่งปกติศาลสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาได้เพียงฝ่ายเดียว โดยที่ตัวจำเลยไม่ต้องมาฟังกระบวนพิจารณาได้ ซึ่งหากยื่นฟ้องแล้วศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องและส่งหมาย สำเนาคำฟ้อง ให้จำเลยตามที่อยู่ที่ปรากฏทราบแล้ว หากจำเลยไม่มาศาล และไม่แต่งตั้งทนายความเพื่อยื่นคำให้การสู้คดี ถือว่าจำเลยขาดนัด ศาลก็ดำเนินกระบวนพิจารณาลับหลังจำเลยโดยไต่สวนพยานหลักฐานที่โจทก์นำเสนอต่อศาลเพียงฝ่ายเดียวได้จนเสร็จสิ้น
เป็นอันว่า ตั้งแค่ คปค.ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็น คมช.(คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ) เข้ายึดอำนาจมาเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี สำนวนคดี “ยึดทรัพย์” พ.ต.ท.ทักษิณ จึงถึงมือศาล อันเป็นปลายทางแห่งกระบวนการยุติธรรม ซึ่งจะเป็นผู้พิจารณาและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ที่ทุกคนจะต้องน้อมและยอมรับ ไม่ว่าจะถูกใจหรือไม่ถูกใจก็ตาม
วันพรุ่งนี้ เราจะตามไปค้นสำนวนคดีที่ คตส. และอัยการร่วมกันร่างคำฟ้องคดียึดทรัพย์ ว่าผู้ถูกฟ้องคือ พ.ต.ท.ทักษิณ มีวิธีการ และกลโกงที่แยบยลกันอย่างไร เม็ดเงินจึงมากมายมหาศาลถึง 7.6 หมื่นล้านบาท นับเป็น “ประวัติศาสตร์” แห่งคดียึดทรัพย์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเมืองไทย
****************
บัญชีเงินฝาก 16 บัญชีของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวชินวัตรที่ถูกอายัดไว้ในชั้น คตส. ประกอบด้วย
ธนาคารกสิกรไทย 36 ล้านบาท
ธนาคารกรุงเทพ 18,156 ล้านบาท
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 2,125 ล้านบาท
ธนาคารทหารไทย 10 ล้านบาท
ธนาคารไทยพาณิชย์ 39,634 ล้านบาท
ธนาคารธนชาต 1,476 ล้านบาท
ธนาคารนครหลวงไทย 1 ล้านบาท
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 500 ล้านบาท
ธนาคารยูโอบี รัตนสิน 492 ล้านบาท
ธนาคารออมสิน 15,748 ล้านบาท
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 200 ล้านบาท
ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 10,000 ล้านบาท
บลจ.กสิกรไทย 208 ล้านบาท
บลจ.ไทยพาณิชย์ 2,237 ล้านบาท
บลจ.แอสเซทพลัส 172 ล้านบาท
ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์และที่ดิน 2,722 ล้านบาท