xs
xsm
sm
md
lg

ข้อเสนอ 8 ข้อ ของ‘สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล’ !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

หลังวันที่ 10 ธันวาคม 2552 ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรบอกว่านอกจากจะนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้แล้วจะจะพยายามแก้ไขให้เป็นไปในลักษณะรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475ซึ่งงดงามเหลือเกิน โดยเฉพาะตรงประโยคที่ว่า “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” ผมก็เขียนขยายความ ณ ที่นี้ถึงนัยที่ลึกซึ้งอันจะกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยขึ้นหัวเรื่องว่า“ถ้าแดงครองเมือง : จะไม่หยุดแค่รัฐธรรมนูญ 2540 แต่จะแก้หมวดพระมหากษัตริย์”ณ ที่นี้เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2552

หลายคนถามว่าผมเอามาจากไหน คิดมากไปหรือเปล่า บางคนบอกว่าเรื่องแบบนี้ไม่สมควรพูด

สัก 2 สัปดาห์ก่อน ท่าน ส.ว. พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์เข้ามาถามผมว่ารู้จักคนชื่อสมศักดิ์ไหม เขาเขียนถึงในเว็บบอร์ดที่ไหนสักแห่ง เกี่ยวกับเรื่องที่ไปวิพากษ์วิจารณ์เขาเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงตอบไปว่าถ้าอย่างนั้นก็คงเป็น ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ท่านก็ถามต่อไปว่าเขาเป็นใคร มาจากไหน มีความคิดอย่างไร ก็เล่าให้ท่านฟังไปตามความเป็นจริงที่ปรากฏ ท่านก็อุทานว่ายังมีคนที่คิดแบบนี้อยู่ด้วยหรือ

ข้อความในเว็บบอร์ดที่พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ท่านอ่านพบ น่าจะเป็นข้อความที่ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลโพสต์ขึ้นในวันที่ 25 มกราคม 2553 นี่เอง

“ข้อเสนอ 8 ข้อเพื่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์”น่าจะโพสต์ครั้งแรกในเว็บบอร์ดฟ้าเดียวกันชุมชนของคนที่มีรสนิยมเดียวกัน จากนั้นก็แพร่กระจายไปอยู่ในเว็บบอร์ดของชุมชนคนเสื้อแดงอีกหลายแห่ง รายละเอียดของข้อเสนอทั้ง 8 ข้อมีดังนี้ครับ

1. ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 8 เพิ่มมาตราในลักษณะเดียวกับรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 (สภาพิจารณาความผิดของกษัตริย์)
2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
3. ยกเลิกองคมนตรี
4. ยกเลิก พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ. 2491
5. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์ด้านเดียวทั้งหมด การให้การศึกษาแบบด้านเดียวเกี่ยวกับสถาบันทั้งหมด
6. ยกเลิกพระราชอำนาจ ในการแสดงความเห็นทางการเมืองทั้งหมด (4 ธันวา, 25 เมษา "ตุลาการภิวัฒน์" ฯลฯ)
7. ยกเลิกพระราชอำนาจในเรื่องโครงการหลวงทั้งหมด
8. ยกเลิกการบริจาค/รับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด

ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลบอกไว่ในตอนต้นว่าถ้าปฏิบัติตาม 8 ข้อนี้ ผลลัพธ์ไม่ใช่การล้มสถาบันกษัตริย์ แต่ทำให้สถาบันมีลักษณะเป็นสถาบันสมัยใหม่ ในลักษณะไม่ต่างจากยุโรป เช่น สวีเดน เนเธอร์แลนด์ และบอกในตอนท้ายว่าแกเสนอไว้หลายครั้งในหลายบทความ แต่เอามารวบรวมให้เป็นระบบ เพื่อความสะดวกในการอ้างอิงต่อไป โดยบอกว่าผมเขียนไว้หลายครั้งโดยไม่ได้อ้างชื่อแกตรง ๆ ต่อไปคราวหน้าหากจะเขียนถึงอีกจะได้อ้างอิงได้ตรงๆ แล้วก็ตบท้ายด้วยคำว่าฮา !

ผมไม่รู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรคิดถึงขนาดนี้หรือไม่ คนเสื้อแดงทั้งหมดคิดถึงขนาดนี้หรือไม่ แต่ผมมีสิทธิที่จะตีความนัยยะการสื่อความหมายของอดีตนายกรัฐมนตรีไร้แผ่นดินคนนี้เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2475 ว่าอาจจะจงใจให้เข้ากับข้อเสนอที่ 1 เพราะคนที่ชาญฉลาดอย่างท่านน่าจะต้องรู้ว่าการเอ่ยอ้างถึงรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 ที่มีอายุใช้การอยู่ไม่ถึง 5 เดือนนั้นมีความละเอียดอ่อนเพียงใด แต่ท่านก็จงใจเอ่ยซ้ำแล้วซ้ำเล่าตลอดวันที่ 10 ธันวาคม 2475

ก่อนหน้านั้นในเดือนตุลาคม 2552 วีระ มุสิกพงษ์ และจตุพร พรหมพันธุ์ก็เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ไปไกลกว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ในประเด็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ไม่ต้องพูดถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับหมอเหวง โตจิราการที่จงใจไม่มีบทเฉพาะกาลรับรององคมนตรีที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ คงไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์ข้อเสนอ 8 ข้อของ ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลให้มากความ เพราะแค่ข้อเสนอที่ 1 ก็จบแล้ว

ณ วันนี้คนไทยส่วนใหญ่ “รับไม่ได้” แน่นอน !

ยุโรปก็ยุโรป ไทยก็ไทย จีนก็จีน ฯลฯ ทำไมจะต้องทำให้เหมือนกัน ผมเคยเขียนเล่าให้ฟังมาบ้างแล้วว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 8 ของไทยที่บัญญัติไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ / ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร หลักการสากลนั้นกฎหมายสูงสุดของทุกประเทศคุ้มครองประมุขแห่งรัฐว่าจะถูกฟ้องร้องมิได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพระมหากษัตริย์ ประธานาธิบดี ประธานประเทศ หรือตำแหน่งชื่ออื่น ๆ จะมียกเว้นไม่คุ้มครองก็แต่ใน 2 เงื่อนไข คือ เมื่อพ้นตำแหน่งออกไปแล้ว หรือเมื่อกระทำการใดไปในฐานะส่วนตัว หรือเมื่อประเทศนั้นได้ลงนามและให้สัตยาบันในสนธิสัญญาสละสิทธิการคุ้มครองประมุขแห่งรัฐ แต่หลักการเฉพาะของประเทศไทยเราที่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณมาโดยตลอดนั้น ให้ความคุ้มครองพระองค์เพิ่มขึ้นในฐานะ “ส่วนพระองค์” ด้วย คือไม่เพียงแต่จะคุ้มครองการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐตามมาตรฐานสากลที่ประเทศไหน ๆ ก็มีแล้ว ยังเป็นการให้ความคุ้มครองเพิ่มขึ้นในฐานะส่วนพระองค์ด้วย สังเกตได้จากใช้คำว่า “องค์พระมหากษัตริย์..” ไม่ใช่แค่ “(สถาบัน)พระมหากษัตริย์” เท่านั้น

หรือภาษาวิชาการเขาว่า ไม่เฉพาะคุ้มครองแต่สถานะ The King หรือ The Crown เท่านั้น หากแต่คุ้มครองไปถึงสถานะ The Person of the King หรือ The Person of the Crown ด้วย ก็เพราะพระมหากษัตริย์ไทยทั้งในอดีตและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน ทรงเป็นหลักของบ้านเมือง ทรงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับราษฎรของพระองค์ ไม่เหมือนที่ใดในโลก ไม่เหมือนยุโรป ไม่เหมือนจีน ฯลฯ

แล้วจะแก้ไขให้เป็นเหมือนรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 มาตรา 6 ที่บัญญัติไว้ว่า “กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” ใครจะยอม การเลือกตั้งของไทยไม่เหมือนกับการเลือกตั้งในประเทศอื่น โดยเฉพาะในยุโรป ผู้แทนราษฎรของไทยก็ไม่เหมือนกับผู้แทนราษฎรของประเทศยุโรป มิพักต้องพูดถึงว่าในรัฐธรรมนูญ 27 มิถุนายน 2475 นั้นเอง ผู้แทนราษฎรไม่ได้มาจากการเลือกตั้งนะครับ คณะราษฎรท่านวางแผนไว้ให้มี 3 ระยะ ระยะที่ 1 น่ะแต่งตั้งทั้งหมดโดยคณะราษฎรนะ

ตราบใดที่ประชาธิปไตยไทยยังไม่ใช่ประชาธิปไตยที่แท้จริง ยังคงเป็นแค่พิธีกรรมที่ ดร.อัมมาร สยามวาลาเคยเรียกขานเมื่อปี 2547 ว่า“ประชาธิปไตย 2 วินาทีสถาปนาเผด็จการ 4 ปี” การจะไปบัญญัติให้ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับสภาผู้แทนราษฎรขึ้นอยู่กับนักการเมืองทั้งหมด คนไทยส่วนใหญ่ไม่เอาด้วยแน่นอน

เพราะวันนี้เมื่อบ้านเมืองอยู่ในมือนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ก็มีการแฉกันว่าข้าราชการจะเข้าโรงเรียนนายอำเภอต้อง 8 แสน จะเป็นผู้กำกับ ผู้การ ผู้ว่าฯ หรือ ฯลฯ ล้วนมีราคาทั้งนั้น

แล้วเราจะยอมเสี่ยงให้ตำแหน่ง “ประมุขแห่งรัฐ” เข้าสู่ระบบ – มี “ราคา” ด้วยหรือ ?
กำลังโหลดความคิดเห็น