“อภิสิทธิ์” กล่าวคารวะดวงวิญญาณวีรชน 14 ตุลา ด้าน ปธ.มูลนิธิ 14 ตุลา แนะยึดสันติวิธีแก้ปัญหาการเมือง ญาติวีรชนวอนทุกฝ่ายยึดประโยชน์ชาติ หวั่นเกิดเหตุซ้ำรอย 7 ตุลาทมิฬ
วันนี้ (14 ต.ค.) กลุ่มญาติวีรชน 14 ตุลา ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรพระภิกษุสงฆ์ จำนวน 35 รูป เนื่องในวันรำลึก 14 ตุลา ประจำปี 2551 โดยมีตัวแทนองค์กรประชาธิปไตยร่วมวางพวงมาลาบริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ก่อนเริ่มพิธีกรรมทางศาสนาและพิธีกล่าวสดุดีวีรชนประชาธิปไตย โดยมีนายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะฝ่ายรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน นายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นางสุนีย์ ไชยรส ผู้แทนกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และตัวแทนญาติวีรชน 14 ตุลา ร่วมพิธี โดยมี นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ร่วมขับบทกวีรำลึก 35 ปี 14 ตุลา
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวสดุดีเนื่องในงานครบรอบ 35 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ว่า ตนขอคาราวะต่อดวงวิญญาณของวีรชน รวมถึงคาราวะในความกล้าหาญของวีรชนด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาหลายฝ่ายกลับกล่าวเสนอว่าประชาธิปไตยไทยเริ่มเมื่อปี 2475 แต่ชัดเจนแล้วว่า การเมืองไทยล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด ขณะที่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั้น นักศึกษาเรียกร้องความเป็นประชาธิปไตย ที่นำไปสู่ความสูญเสีย ซึ่งตนเห็นว่าการสดุดีวีรชนวิธีที่ดีที่สุด คือ การสานต่อเจตนารมณ์ของวีรชน เพราะเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของการต่อสู้
ด้าน นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานมูลนิธิ 14 ตุลา กล่วว่า เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 คล้ายสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันตรงที่ประชาชนตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตย แต่ 14 ตุลา มีความชัดเจนว่า ประชาชนต่อสู้กับระบอบเผด็จการทหารที่มีการสืบทอดอำนาจมาหลังเปลี่ยนการปกครอง ขณะที่ปัจจุบันเป็นการต่อสู้เชิงความคิดและนามธรรม ซึ่งทางออกที่จะทำให้สังคมไม่ต้องสูญเสียเลือดเนื้อเหมือน 14 ตุลา คือ ทุกฝ่ายต้องยึดแนวทางสันติวิธี โดยเฉพาะผู้ที่มีอำนาจอยู่ในมือ
เช่นเดียวกับญาติผู้เสียชีวิต และวีรชน 14 ตุลา ที่อยากให้คนใจมีสติ ใช้สันติวิธีแก้ปัญหา จะได้ไม่เกิดความสูญเสียเหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ขณะที่ นายปทุม เกิดศรี วีรชนประชาธิปไตยที่ร่วมเหตุการณ์ 14 ตุลา และได้รับบาดเจ็บเป็นอัมพาตช่วงล่าง เปรียบเทียบการชุมนุมทางการเมืองเมื่อเดือนตุลาคม 2516 กับการชุมนุมทางการเมืองขณะนี้ว่ามีความแตกต่างกัน จุดมุ่งหมายของประชาชนเดือนตุลานั้น เป็นการต่อสู้กับระบอบเผด็จการ แต่ปัจจุบันมีความแตกต่างทางความคิดของคนในสังคมเกี่ยวกับวิถีทางประชาธิปไตย
เช่นเดียวกับนางสมสุข กรมศรีประเทศ ที่สูญเสียลูกชายในเหตุการณ์ 14 ตุลา และนางกิมเตีย ฤทธิวานิช ที่สูญเสียสามีในเหตุการณ์เดียวกัน โดยทั้งสองระบุว่าเป้าหมายในการเรียกร้องทางการเมืองของวีรชนประชาธิปไตยกับปัจจุบันนั้นไม่เหมือนกัน อย่างไรก็ตาม อยากให้ทุกฝ่ายยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก
ทั้งนี้ ภายหลังเสร็จสิ้นกิจกรรมรำลึกและไว้อาลัยให้กับวีรชนประชาธิปไตยแล้ว ได้มีการปาฐกถาในหัวข้อ “การเมืองกับการออกแบบรัฐธรรมนูญ” โดย ศ.รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยระบุว่า การปฏิรูปการเมืองนั้นต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน เห็นได้ชัดจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการส่งเสริม คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครอง ดูแล และตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ปรับปรุงโครงสร้างทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ ดังนั้น หากจะมีการปฏิรูปการเมืองอีกครั้งก็ต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ไม่ใช่เพียงเพราะคิดว่าจะสามารถแก้ปัญหาสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ได้
งานรำลึก 35 ปี 14 ตุลา ในวันนี้ ญาติวีรชนระบุว่า ไม่อยากให้เป็นเพียงการไว้อาลัยหรือร่วมรำลึกถึงผู้ที่จากไปเท่านั้น แต่หวังว่าทุกคนในสังคมจะเก็บประวัติศาสตร์การเมืองครั้งสำคัญนี้ไว้เป็นบทเรียนในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน