ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ผู้ว่าฯ สงขลาร้องกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นตัวกลางเคลียร์เงินชดเชยที่ “นิวคอสตอล”จ่ายชาวประมง เป็นค่าเสียพื้นที่ทำกินในน่านน้ำ อ.สทิงพระ กว่า 2 ล้านบาทที่ยังไม่ลงตัว เหตุกลุ่มประมงแตกกลุ่มย่อยเพิ่มขึ้น พร้อมเร่งให้กรม-กระทรวงที่เกี่ยวข้องร่วมช่วยเหลือพิสูจน์ก้อนปริศนาลอยน่านน้ำว่าเป็นก้อนน้ำมันหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยาและอนาคตของบริษัทผู้รับสัมปทานขุดเจาะน้ำมัน
หลังจากเกิดกรณีเบี้ยวเงินชดเชยค่าเสียพื้นทำกินในน่านน้ำ อ.สทิงพระ ล่าสุดบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับสัมปทานขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย ยอมคืนเงินชดเชยจำนวน 2 เดือน คือ เดือนธันวาคมและมกราคม เดือนละ 2,080,000 รวมทั้งสิ้นเป็นจำนวนเงิน 4,160,000 บาท โดยมอบผ่านนายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในการส่งมอบไปยังกลุ่มชาวประมง
อย่างไรก็ตาม นาย เจริญ ทองมา ประธานกลุ่มประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มประมงถูกแบ่งออกเป็นจำนวน 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มเก่าจำนวน 749 ลำ และกลุ่มใหม่ 383 ลำ ซึ่งถูกแบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีก 3 กลุ่มคือ กลุ่ม อวนลาก กลุ่มโสภณ และกลุ่มกำนันโหมด ดังนั้น การที่นิวคอสตอลฯ ส่งเงินมา แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่าเงินก้อนนี้มอบให้กลุ่มใด ก็ยังต้องรอต่อไป
ขณะที่นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยถึงกรณีการจัดสรรเงินที่ยังไม่ลงตัวก้อนนี้ว่า เดิมทีมีเพียงกลุ่มเก่าเท่านั้นที่จดทะเบียนในการรับค่าเสียพื้นที่ทำกิน จนกระทั่งปัจจุบันกลุ่มประมงได้แตกแขนงออกเป็นร้อยเป็นพัน ตอนนี้จึงมีความสับสนถึงจำนวนเงินเท่าเดิมตามที่ตกลงแต่จะต้องถูกแบ่งให้กระจายไปสู่ทุกกลุ่ม ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ตอนนี้ยังมองไม่เห็นตัวกลางในการพูดคุยระหว่างชาวบ้านและบริษัท โดยเฉพาะกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเป็นผู้ออกใบอนุญาตโดยตรงในเรื่องจดทะเบียนขุดเจาะน้ำมัน แต่สำหรับเงินที่บริษัทนิวคอสตอลฯให้มานั้น จังหวัดยังเก็บไว้ในบัญชีจนกว่าจะมีความชัดเจน
“อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติซึ่งเป็นผู้เก็บรายได้จากค่าจดทะเบียนการตั้งฐานขุดเจาะน้ำมัน เข้ามาร่วมพูดคุยและเป็นตัวกลางระหว่างบริษัทและประชาชนในเรื่องเงิน เพราะในเรื่องนี้ เป็นเรื่องของการเข้ามาใช้ประโยชน์จากชุมชน อย่างน้อยก็ควรจะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือสังคมกลับบ้าง” นายวิญญูกล่าวต่อและว่า
ส่วนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ทราบว่าสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 ได้เก็บตัวอย่างก้อนปริศนาไปทำการวิจัย ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรอผลตรวจ อยากเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐที่มีความชำนาญเฉพาะด้าน เช่น กระทรวงพลังงาน และกระทรวงวิทยาศาสตร์ เข้ามามีบทบทบาทในการช่วยเหลือ และสรุปว่า ปรากฏการณ์เกิดก้อนลักษณะคล้ายก้อนน้ำมันจำนวนมาก บริเวณใกล้ฐานขุดเจาะเช่นนี้จะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศวิทยา ชายฝั่งมากน้อยเพียงใด
ด้านนายทวี ทองมา กรรมการกลุ่มประมงพื้นบ้าน กล่าวว่า ถึงตอนนี้เรื่องหลักที่ชาวบ้านกังวลน่าจะไม่ใช่เรื่องเงิน แต่คงเป็นเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่ชาวบ้านยังคงจดจ่อ และติดตามกันต่อไปว่า ก้อนปริศนาที่ลอยมาเกยชายฝั่งเป็นก้อนน้ำมัน ที่มาจากแท่นขุดเจาะของบริษัทนิวคอสตอลฯ หรือไม่ ซึ่งในขณะนี้อยู่ในระหว่างรอผลการตรวจสอบจากสองหน่วยงานหลักคือ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 16 และคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
“หลังจากที่ชาวบ้านได้มีการปรึกษากัน ถึงกรณีก้อนปริศนาที่ลอยอยู่เหนือน่านน้ำ ว่าหากเป็นก้อนน้ำมันที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมชุมชนจริง ก็พร้อมที่จะเดินหน้าปิดน่านน้ำเพื่อเรียกร้องแน่” นายทวีกล่าว