ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เรียกประชุมติดตามการปัญหาการร้องเรียนของชาวบ้าน ว่า มีบริษัทผู้ได้รับสัมปทานลักลอบปล่อยน้ำเสียลงทะเลระหว่างการผลิตน้ำมันดิบในอ่าวไทย ทำให้มีโคลนตมติดชายฝั่งทั้งที่ไม่เคยมีมาก่อน ส่วนกุ้งที่เลี้ยงไว้ตายเป็นจำนวนมาก และสัตว์น้ำอื่นๆ มีปริมาณน้อยลง ยอมรับราชการหย่อนยานไม่ติดตาม จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจพร้อมกัน ด้านตัวแทนนิวคอสตอลฯ ให้การปฏิเสธ แจงน้ำที่ได้จากกระบวนการผลิตส่งบำบัดบนฝั่ง
จากกรณีที่ผู้แทนกลุ่มชาวประมงใน จ.สงขลา ได้ร้องเรียนคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรมของสภาผู้แทนราษฎร ว่า บริษัทผู้ได้รับสัมปทานปิโตรเลียมในอ่าวไทยริมชายฝั่ง จ.สงขลา ได้ว่าจ้างเรือบรรทุกน้ำเสียปล่อยทิ้งกลางทะเล ซึ่งเป็นแหล่งจับปลาของชาวประมงนั้น
นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้เรียกประชุมหน่วยงานราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งชาวประมงพื้นบ้านเพื่อสืบหาข้อเท็จจริง ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสงขลา ซึ่งพบว่าพื้นที่ที่มีปัญหานั้นเป็นแหล่งน้ำมันดิบสงขลาในแปลงสัมปทานปิโตรเลียมหมายเลข G5/43 บริเวณอ่าวไทย ห่างจากฝั่งจังหวัดสงขลาประมาณ 30 กิโลเมตร มีบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน
นายเจริญ ทองมา ประธานคณะกรรมการตัวแทนชาวประมงพื้นบ้าน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.สทิงพระ, ระโนด และ สิงหนคร เปิดเผยว่า แม้ชาวบ้านจะเห็นด้วยในการเข้ามารับสัมปทานขุดเจาะน้ำมันของบริษัท นิวคอสตอล ด้วยจะทำให้ประเทศมีความมั่นคงด้านพลังงาน และรัฐได้รับค่าภาคหลวงเป็นเม็ดเงินพัฒนาประเทศ แต่การปฏิบัติงานที่อยู่ใกล้ชายฝั่งมากกว่าแปลงอื่น ทำให้ชาวบ้านสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจน ซึ่งปัจจุบันพบว่าชายฝั่งเป็นโคลนตม หอย และปริมาณกุ้งแชบ๊วยลดลงมาก ส่วนกุ้งที่เลี้ยงไว้ก็ตายเป็นจำนวนมาก ซึ่งต้องตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นเพราะน้ำเสียจากทะเลหรือไม่ น่าเป็นหากยังเป็นเช่นนี้ ชาวบ้านจะอยู่อย่างไรกับสัมปทานที่ยังเหลืออีก 16 ปี
อีกทั้งการติดตามของจังหวัดสงขลากลับไม่มีความคืบหน้าและข้อมูลชี้แจง แม้จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันในจังหวัดเพื่อติดตามผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีนายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาในขณะนั้นเป็นประธาน (ปัจจุบันเกษียรราชการแล้ว) ร่วมด้วยกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่เวลาล่วงเลยถึง 1 ปี กลับไม่มีแม้แต่การประชุมและทำงานร่วมกันเลย
นายนันทศักดิ์ เจนบุญไทย ผู้อำนวยการกลุ่มวิศวกรรมการผลิต กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ในอ่าวไทยมีแปลงสำรวจซึ่งค้นพบแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่กำลังผลิตกว่า 28 แหล่ง โดยมีกลุ่มบริษัทผู้ทำการผลิตปิโตรเลียมทั้งสิ้น 5 ราย คือ 1.กลุ่มบริษัทเชฟรอน 2.กลุ่มบริษัท ปตท.สผ. 3.บริษัท เพิร์ล ออย 4.บริษัท ซาลาเมนเดอร์ และ 5.บริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด
ซึ่งจากการร้องเรียนของชาวบ้านนั้น กรมเชื้อเพลิงฯ กำลังประสานงานเพื่อแก้ปัญหาที่ชาวบ้านอ้างว่าได้รับผลกระทบจากกิจกรรมการผลิตปิโตรเลียมของผู้รับสัมปทานรายนี้ แต่ยืนยันว่าในกระบวนการผลิตน้ำมันดิบจากแหล่งสงขลานั้นไม่มีการปล่อยน้ำเสียที่คัดแยกจากน้ำมันดิบลงทะเลแต่อย่างใด
ทั้งนี้ แหล่งสงขลาเพิ่มเริ่มการผลิตน้ำมันดิบเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2551 มีแท่นผลิต 1 แท่น และหลุมผลิต 4 หลุม หลุมอัดน้ำ 1 หลุม โดยในช่วงแรกบริษัท นิวคอสตอล ได้ว่าจ้างบริษัทเอกชนนำน้ำที่แยกจากกระบวนการผลิตขนส่งทางเรือลำเลียงไปทำการบำบัดบนฝั่ง ครั้งแรกที่ จ.ชลบุรี ต่อมาได้ส่งไปบำบัดที่ประเทศอินโดนีเซีย สิงคโปร์ตามลำดับ และตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2552 น้ำที่ได้จากกระบวนการผลิตทั้งหมดได้อัดลงหลุมอัดน้ำกลับ เป็นวิธีที่ยอมรับว่าไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม จึงไม่ต้องขนน้ำไปบำบัดบนฝั่งอีกต่อไป
ส่วนผลการวิเคราะห์น้ำที่ได้จากกระบวนการผลิตแหล่งสงขลานั้น จากการเก็บตัวอย่างจากน้ำที่อยู่ในเรือกักเก็บ Trust Navigator เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2552 ถือว่าอยู่ในระดับต่ำกว่ามาตรฐานที่กำหนดตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ฉบับที่ 2 พ.ศ.2539 เรื่องกำหนดคุณลักษณะของน้ำทิ้งที่ระบายจากโรงงาน เช่น ความเป็นกรดด่าง, สารละลายในน้ำ, แบเรียม, แมงกานีส, แคดเมียม, ทองแดง, สารหนู และสังกะสี เป็นต้น
ขณะที่ นายชูศักดิ์ บริสุทธิ์ ประมงอำเภอสทิงพระ เปิดเผยว่า ในส่วนของสัตว์น้ำนั้นยังไม่ได้รับรายงานเรื่องผลกระทบ แต่เมื่อมีการเก็บตัวอย่างน้ำแล้วก็ควรมีการตรวจสอบสารตกค้างที่ในสัตว์น้ำด้วยเช่นกันว่ามีการเปลี่ยนแปลงและสะสมมากน้อยเช่นไร เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคและธุรกิจการส่งออก ซึ่งเป็นที่ทราบอยู่แล้วว่าการส่งออกในปัจจุบันมีการเข้มงวดเรื่องความปลอดภัยเป็นอย่างมาก หากมีปัญหาเกิดขึ้นภายหลังจะส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งสุขภาพของประชาชนที่บริโภคอาหารทะเล และภาคธุรกิจการส่งออกสัตว์น้ำ
ขณะที่ตัวแทนจากบริษัท นิวคอสตอล ได้เข้าร่วมประชุมจำนวน 3 คน โดยหนึ่งในนั้นซึ่งไม่เปิดเผยชื่อแต่ชี้แจงต่อที่ประชุมเพียงสั้นว่า บริษัทมั่นใจว่าไม่ได้มีการปล่อยน้ำทิ้งจากกระบวนการผลิตอย่างที่มีการกล่าวอ้าง แต่ได้นำน้ำไปบำบัดทั้งในและต่างประเทศ และการทำงานนั้นมีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบพื้นที่ปฏิบัติงานตลอดเวลา หากมีความผิดปกติต่อสิ่งแวดล้อมใดๆ ก็จะต้องมีรายงานอย่างแน่นอน
นายโสภณ ชุมยวง ประธานกลุ่มประมงชายฝั่ง จ.สงขลา กล่าวสำทับปัญหาที่เกิดขึ้นว่า ตั้งแต่มีบริษัทขุดเจาะน้ำมันเข้ามาในอ่าวไทยนั้น นับว่าบริษัทนิวคอสตอลฯ ได้สร้างผลกระทบให้กับชาวบ้านมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งการให้ค่าชดเชยที่ไม่เป็นธรรม แม้แต่การกดดันด้วยการปิดปากอ่าวก็เกิดขึ้นมาแล้ว เพราะไม่เข้าหาชาวบ้านถามถึงความเป็นอยู่ มีเรื่องเดือดร้อนอะไรบ้าง เป็นต้น การกระทำดังกล่าวยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ให้บริษัทผู้รับสัมปทานรายอื่นถูกมองในแง่ลบอีกด้วย
ด้าน นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งยอมรับว่าเกิดจากการไม่ได้ใส่ใจเท่าที่ควร ไม่ประสานข้อมูลให้จังหวัดได้รับรู้ และโครงการตั้งอยู่ในทะเลทำให้การติดตามการดำเนินโครงการว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่เป็นไปอย่างยากลำบาก เมื่อเกิดปัญหาจึงกลายเป็นช่องว่าง มีเพียงกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติซึ่งอยู่ส่วนกลางที่ทราบข้อมูล
พร้อมกันนี้ นายวิญญู ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เร่งเข้ามาดูแลเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเข้มข้น โดยจะต้องรู้ถึงขอบเขตหน้าที่รับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานว่ามีอะไรบ้าง ทั้งพลังงานจังหวัด กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สำนักงานสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยเฉพาะกรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและชายฝั่งที่อ้างว่าดูแลและอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากเป็นหลัก ก็ต้องทำงานเพิ่มขึ้นไม่เฉพาะแต่เรื่องเต่าทะเล ปลาโลมา ปะการัง หรือหญ้าทะเลเท่านั้น แต่ทรัพยากรทางทะเลอื่นๆ ก็ต้องลงพื้นที่ติดตามด้วย
ส่วนการติดตามข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การแก้ไขนั้นจะมีการนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงสำรวจพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันของบริษัทนิวคอสตอลฯ และติดตามผลกระทบจากแท่นขุดเจาะในกรณีที่ชาวบ้านร้องเรียน รวมถึงการติดตามการจ่ายเงินชดเชยแก่ประมงชายฝั่งที่มีการเปลี่ยนแปลงการจ่ายเงินผ่านจังหวัดแทนการจ่ายตรงต่อชาวประมง ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับเงินเป็นเวลา 2 เดือนแล้ว