xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนโอดการเมืองถ่วงศก.ฟื้นตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- “ธีระชัย” เรียกร้องประเทศกำลังพัฒนาปรับนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ก่อนจะเกิดฟองสบู่ ด้านภาคเอกชนเห็นพ้องคุมความเสี่ยงธุรกิจควบคู่การวางกลยุทธ์ดำเนินงาน รับมือวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน คาดประเทศแถบเอเชียมีอัตราการเติบโตสูงสุด โอดไทยติดปัญหาการเมืองในประเทศ ทำให้มีโอกาสฟื้นตัวมีน้อยกว่าประเทศแถบเดียวกัน แนะรัฐไม่ควรเร่งถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ปาฐกถาเรื่อง “ความท้าทายในการบริหารความเสียงในระยะต่อไป” ว่า การป้องกันการเกิดวิกฤตทางการเงินประเทศในภูมิภาคจะต้องปรับนโยบายเศรษฐกิจมหภาค คือ ปล่อยให้ค่าเงินมีความยืดหยุ่นมากขึ้น แต่หากจีนยังไม่ทำประเทศอื่นๆในภูมิภาคจะไม่กล้าใช้นโยบายดังกล่าว แต่หากจีนเริ่มที่จะใช้นโยบายนี้ จะส่งผลให้เศรษฐกิจมีความสมดุลมากขึ้น และสามารถแก้ปัญหาภาวะไม่สมดุล (Global Imbalance) ได้

ขณะเดียวกัน ต้องปรับกระบวนการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยเน้นสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อให้รายย่อย เช่น ธุรกิจเอสเอ็มอี รวมทั้งสินเชื่ออุปโภคและบริโภค ให้มีความคล่องตัวมากขึ้นรวมถึงเร่งรัดให้มีการค้าระหว่างกันในภูมิภาคให้มากขึ้น ทดแทนการส่งออกไปสหรัฐฯและเร่งผลักดันให้ทำธุรกิจเชื่อมโยงระหว่างประเทศในภูมิภาค และต้องมีการเชื่อมโยงด้านการเงินกันมากขึ้น รวมทั้งเงินทุนเคลื่อนย้ายที่จะเข้ามาลงทุน

“จะเกิดวิกฤตสถาบันการเงินอีกครั้ง แต่ครั้งนี้จะเกิดในประเทศกำลังพัฒนา เพราะประเทศที่พัฒนาแล้วนั้นเพิ่งเจอวิกฤตไปทำให้มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ดังนั้นประเทศกำลังพัฒนาจะต้องปรับการดำเนินนโยบายมหาภาค ในเรื่องการค้าขายการส่งออก การบริโภคอุปโภคภายในกันเอง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อฟ้องกันไม่ให้เกิดฟองสบู่ในอนาคต ซึ่งไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดวิกฤตขึ้นเมื่อไร” นายธีระชัย กล่าว

แนะคุมความเสี่ยงธุรกิจ

นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟนเซ่น โปรดักส์ (TUF) กล่าวในงานเสวนา "CEO Challenge through uncertainty" ว่า ในปีนี้ เศรษฐกิจโลกไม่น่าจะปรับตัวดีขึ้นมากนัก ผู้ประกอบการควรมีการควบคุมความเสี่ยงทางธุรกิจให้ดี ขณะเดียวกันควรมองหาโอกาสในการทำธุรกิจ ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ

อย่างไรก็ตาม การผันผวนของค่าเงินในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลต่อบริษัท รวมทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย การเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ดังนั้นการดำเนินธุรกิจผู้บริหารควรมีนโยบายและยุทธศาสตร์ในการบริหารงานที่ยืดหยุ่น เพื่อสามารถปรับตัวรับความเสี่ยงต่างๆที่จะเกิดขึ้นได้

ด้านนายชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง บมจ.บ้านปู (BANPU) กล่าวว่า เศรษฐกิจของประเทศในแถบเอเชียรวมถึงไทยปรับตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะความต้องการในสินค้าโภคภัณฑ์ (คอมมอดิตี้) อย่างเหล็ก ทองแดง สินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร มีราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น

ขณะที่เมืองไทย จากปัจจัยภายในประเทศ มองว่าอาจส่งผลต่อการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะจากปัญหาของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และการเมือง อาจมีการเลื่อนการลงทุนออกไปบ้าง ดังนั้นรัฐบาลไม่ควรรีบถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกไป โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยเอง ประเมินว่าน่าจะปรับตัวสูงขึ้นหลังจากอยู่ในระดับต่ำมานาน

นายอนนต์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และนายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวเสริมว่าการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ากว่าประเทศอื่น ทั้งๆ ที่พื้นฐานและศักยภาพของไทยมีโอกาสเติบโตได้มากกว่าปัจจุบัน ขณะทิศทางเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกว่าจะยั่งยืนหรือไม่

" ในระยะสั้นเรามองเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ แต่จะต่อเนื่องไปหรือเปล่าอันนี้ต้องติดตาม และถือเป็นความท้าทาย ซึ่งอาจโตขึ้นและหดตัวอีก ส่วนไทยนั้นที่คาดว่าน่าจะเติบโตได้ 3-4% นั้นยอมรับว่าจุดนี้น่าเสียดาย ทั้งที่ภาพรวมทั้งภูมิภาคมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่านี้ แต่เราก็ยังติดปัญหาเรื่องปัจจัยลบภายในประเทศ "

ส่วน การเสวนา " CFO Challenge – Linkage of risk management,capital management and financial management " นั้น นางปรารถนา มงคลกุล กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การเมืองยังไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจมาก โรงแรมยังมีลูกค้ามาใช้บริการตามปกติ และไม่ควรตื่นตระหนกกับเหตุการณ์ดังกล่าว เพราะเชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได แต่ภาคเอกชนต้องการให้เรื่องการเมืองมีข้อยุติโดยเร็ว เพราะหากปัญหายืดเยื้อจะกระทบต่อภาพรวมมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น