xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.เลื่อนใช้ระบบหักบัญชีเช็คICAS

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ธปท.ระบุอาจเลื่อนใช้ระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็ค(ICAS) เหตุแบงก์หลายแห่งยังไม่พร้อมด้านระบบ มั่นใจไม่กระทบธุรกรรมเช็ค ฟุ้งยังคงเป้าหมายการใช้ระบบ ICAS ครอบคลุมทั่วประเทศภายในปี 55

นายฉิม ตันติยาสวัสดิกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายระบบข้อสนเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.อาจจะต้องมีการเลื่อนใช้ระบบการหักบัญชีเช็คด้วยภาพเช็ค(ICAS) แทนการใช้เช็คตัวจริง ซึ่งเดิมทีธปท.วางแผนไว้จะเริ่มต้นใช้ระบบนี้ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑลก่อนในวันที่ 19 ก.พ. นี้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยังไม่พร้อมด้านระบบ จึงขยายเวลาออกไป เพื่อให้ระบบใหม่นี้มีความสมบูรณ์มากขึ้นและสามารถเชื่อมโยงกับธนาคารพาณิชย์ได้ทุกแห่ง แต่ยังมั่นใจว่าจะสามารถใช้ระบบ ICAS ให้ครอบคลุมทั่วประเทศในเป้าหมายเดิม คือ ภายในปี 55

“ส่วนจะเปิดใช้ระบบ ICAS ได้เมื่อไหร่นั้นขึ้นอยู่กับผลการหารือของสมาคมธนาคารไทยที่ต้องมีการพิจารณาให้รอบคอบ เพราะเข้าใจดีว่าต้องมีการปฏิบัติงานร่วมกันหลายฝ่าย อีกทั้งเจ้าของบัญชีต้องใช้ความระมัดระวังพอสมควร รวมถึงมีเรื่องข้อกฎหมายด้วย จึงจำเป็นต้องดูให้ละเอียด แต่เท่าที่ดูขณะนี้สมาคมธนาคารไทยก็พยายามเร่งหารือกันจึงเชื่อว่าจะสามารถเปิดใช้ระบบดังกล่าวได้เร็วๆ นี้” นายฉิม กล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเลื่อนใช้ระบบ ICAS แต่ก็ไม่ได้กระทบระบบการชำระเงินให้เกิดความเสียหาย เนื่องจากยังคงใช้ระบบเช็คแบบเดิมได้อยู่ โดยหากเป็นการเรียกเก็บเงินตามเช็คข้ามเขตสำนักหักบัญชี (B/C) ยังคงใช้เวลา 3-5 วัน จากเดิมที่ธปท.ต้องการให้ระบบ ICAS ย่นระยะเวลาเหลือเพียง 1 วันในทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มความสะดวกมากขึ้นและยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งตัวเช็คอีกด้วย ขณะเดียวกันยังคงใช้เวลาการรับฝากเช็คที่ปัจจุบันธนาคารจะปิดรับฝากประมาณ 13.00-14.00 น. แต่หากมีการใช้ระบบใหม่จะขยายเวลาเพิ่มเป็น 14.30-15.30 น.

สำหรับกรณีที่ผู้สั่งจ่ายใช้ตราประทับ ตรานูน หรือตราสี แต่ระบบ ICAS แบบใหม่กลับใช้เทคโนโลยีการเรียกเก็บเงินที่เป็นภาพเฉดสีขาวดำนั้น ผู้ช่วยผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า การใช้ระบบ ICAS ธนาคารผู้สั่งจ่ายอาจไม่สามารถตรวจสอบความนูนต่ำของพื้นผิว และความถูกต้องของเฉดสีตามเงื่อนไขของตราประทับได้รวมถึงความเข้มของสีประทับที่อาจบดบังลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายเช็คและข้อมูลสำคัญได้ จึงควรยกเลิกการใช้ตราประทับ ตรานูน หรือตราสี ทั้งนี้ หากมีปัญหาการจริงๆ ผู้สั่งจ่ายสามารถพูดคุยกับธนาคารพาณิชย์เจ้าของบัญชีได้ในบางกรณี
กำลังโหลดความคิดเห็น