xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติพัฒนาระบบชำระเงินไทยหวังลดต้นทุน-เพิ่มความสะดวกผู้ใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-กรช.อนุมัตินโยบายให้ธปท.อนุญาตแบงก์ปรับโครงสร้างค่าธรรมเนียมระบบชำระเงินในปี 53 หวังให้ผู้ใช้ได้รับบริการถูกลง ขณะเดียวกันวางแนวทางพัฒนาระบบ Local Switching ใช้เครื่องรับบัตรร่วมได้ทุกสถาบันการเงิน และตั้งเป้าปี 54 ให้แบงก์ทุกแห่งให้มาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงระหว่างร้านค้าและแบงก์ คาดระยะแรกใช้กับบริการการเงิน 6 ประเภท

รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า ในการประชุมคณะกรรมการระบบชำระเงิน(กรช.)เมื่อวันที่ 30 พ.ย.ที่ผ่านมา เพื่อกำหนดนโยบายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงให้เกิดความเชื่อมั่นและความปลอดภัยในสื่อการชำระเงิน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในระบบการเงินของประเทศต่อไป

ทั้งนี้ ในที่ประชุมมีมติให้ธปท.ปรับปรุงหลักการที่กำหนดให้ผู้ให้บริการเปิดเผยค่าธรรมเนียมการชำระเงินให้ลูกค้ารับทราบ เพื่อสะดวกในการตัดสินใจใช้บริการ รวมถึงปรับปรุงโครงสร้างค่าธรรมเนียมบริการการชำระเงินประเภทต่างๆ เช่น การโอนเงินรายย่อยข้ามธนาคาร(ITMX Bulk Payment) เช็ค การถอนเงินสดหรือโอนเงินผ่าน ATM เพื่อให้เกิดการแข่งขันและส่งเสริมการใช้สื่อการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น ซึ่งในปี 53 นี้สถาบันการเงินจะมีการปรับค่าธรรมเนียมให้มีมาตรฐานเดียวกันมากขึ้น โดยคาดว่าจะเริ่มจากการโอนเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ให้บริการที่มีราคาถูกลง

ขณะเดียวกันได้วางแนวทางการพัฒนาระบบการชำระเงินผ่านบัตรที่ออกและใช้จ่ายในประเทศ(Local Switching) โดยจะพัฒนาไปสู่การใช้เครื่องรับบัตรร่วมกัน(EDC Pool) เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้บริโภค ลดการใช้เงินสด ลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน และลดต้นทุนด้านการชำระเงินของสถาบันการเงินและภาคธุรกิจ

ด้านฝ่ายระบบชำระเงินธปท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การพัฒนาระบบ Local Switching จากก่อนหน้านี้จะปรับปรุงให้บัตร ATM สามารถรูดซื้อสินค้าได้ก่อน แต่ในที่ประชุมได้ตั้งเป้าให้สูงขึ้น คือ พัฒนารูปแบบ(Model) ให้ร้านค้าหนึ่งมีเครื่องรับบัตรน้อยลงไม่เกิน 1-2 เครื่อง เพื่อให้ใช้เครื่องรูดบัตรที่ไม่ซ้ำซ้อนในหลายสถาบันการเงิน ทั้งนี้ปัจจุบันสถาบันการเงินที่ให้บริการเครื่องรูดบัตรประมาณ 7 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และมีปริมาณเครื่องกระจายร้านค้าต่างๆ 2 แสนเครื่อง

นอกจากนี้ในที่ประชุมยังมีสำหรับมาตรฐานกลางข้อความการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เชื่อมโยงระหว่างภาคธุรกิจและสถาบันการเงินให้สามารถใช้ได้กับทุกสถาบันการเงินที่ให้บริการ เพื่อเพิ่มความสะดวกรวดเร็วและลดข้อความการชำระเงินที่ซ้ำซ้อน โดยกำหนดให้มาตรฐานดังกล่าวเป็นมาตรฐานเปิด(Open Standard) เชื่อมโยงกับระบบงานอื่นได้ง่าย(Interoperability) อ้างอิงมาตรฐานสากล ISO 20022

โดยระยะแรกมาตรฐานกลางข้อความจะครอบคลุมบริการ 6 ประเภท ได้แก่ การโอนเงินเข้าบัญชีภายในธนาคารเดียวกัน (Direct Credit) การหักเงินจากบัญชีภายในธนาคารเดียวกัน (Direct Debit) การออกเช็ค (Cheque Direct) การโอนเงินรายย่อยข้ามธนาคาร (ITMX Bulk Payment) การโอนเงินมูลค่าสูงผ่านระบบ BAHTNET และInternation Payment ซึ่งตั้งเป้าให้สถาบันการเงินทุกแห่งสามารถใช้มาตรฐานกลางนี้ได้ภายในปี 54
กำลังโหลดความคิดเห็น