xs
xsm
sm
md
lg

ชัยžเรียกถกด่วน3วิปเร่งดันญัตติแก้ไขรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่รัฐสภา วานนี้ (9 ก.พ.) นาย ชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เรียกคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล(วิปรัฐบาล) วิปฝ่ายค้าน และ วิปวุฒิสภา หารือเพื่อนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และกรอบการเจรจาระหว่างประเทศ โดยใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง
นายชัย กล่าวว่าที่ประชุมเห็นพ้องกันว่าในวันพฤหัสบดีที่ 11 ก.พ.นี้เวลา 10.00 น. จะประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาเรื่องด่วนที่ 1 พิจารณาญัตติการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ของ คป.พร. ที่มี นพ.เหวง โตจิราการ เป็นแกนนำ เรื่องด่วนที่ 2 พิจารณาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็น ที่ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาล 5 พรรค 102 คนเข้าชื่อยื่น ซึ่งบรรจุในวาระการประชุมแล้ว จากนั้นวาระถัดไปคือ กรอบการเจรจากับต่างประเทศตามมาตรา 190 จำนวน 4 เรื่อง
ผู้สื่อข่าวถามว่าเป็นการเร่งรัดให้พิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายชัย ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยให้นายประเกียรติ นาสิมมา ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย วิปฝ่ายค้าน ตอบคำถามแทน โดยนายประเกียรติ กล่าวว่า ที่ต้องบรรจุญัตติดังกล่าว เนื่องจากต้องทำตามข้อบังคับการประชุมสภา ข้อ 45 ที่กำหนดให้บรรจุวาระภายใน 7 วัน และนายชัย ก็เป็นห่วงว่า ถ้าไม่ดำเนินการ จะเป็นการทำผิดข้อบังคับ ฉะนั้นการนัดประชุมวันที่ 11 ก.พ. ก็ครบกำหนด 7 วันพอดี ไม่ได้เป็นการเร่งรัด หรือเล่นเกมระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล และฝ่ายค้านยืนยันว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเร่งด่วน ยิ่งเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี
ผู้สื่อข่าวแย้งว่า การนัดประชุมครั้งนี้ใช้บรรทัดฐานแตกต่างกับญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของคป.พร. นายชัย กล่าวว่า ร่างของ คป.พร. ที่ผ่านมา เมื่อตรวจสอบรายชื่อประชาชนที่ร่วมกันเข้าชื่อกว่า 7 หมื่นชื่อเสร็จ ก็บรรจุวาระเป็นเรื่องด่วนแรกทุกครั้ง แต่เมื่อมีการประชุมที่ประชุมก็มีมติเลื่อนนำวาระอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อนทุกครั้ง ซึ่งวันที่ 11 ก.พ.ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ของพรรคร่วมรัฐบาล ก็อาจมีสมาชิก เสนอเลื่อนวาระอื่นขึ้นมาพิจารณาก่อนก็เป็นได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าแล้ววิปรัฐบาลโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ได้เป็นการเร่งรัดแต่ทำไป ตามระเบียบข้อบังคับการประชุม จึงทำให้กรอบเวลาเรียกประชุมไม่สามารถเลี่ยงไปวันอื่นได้ อย่างไรก็ดี วิปรัฐบาลจากทุกพรรค ยังไม่ได้หารือว่า จะเลื่อนญัตติแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาล ขึ้นมาพิจารณาเป็นอันดับแรกสุดหรือไม่ แต่จะนัดหารืออีกครั้งก่อนวันที่ 11 ก.พ.
นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ในฐานะประธานวิปวุฒิ กล่าวว่า คาดว่าจะมีการเลื่อนวาระพิจารณากรอบการเจรจาระหว่างประเทศขึ้นมา พิจารณาก่อน เพราะวันดังกล่าว ส.ว.คงมาร่วมประชุมไม่มากนัก เพราะแต่ละคน มีภารกิจอยู่แล้ว หากนำญัตติเรื่องแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วม ขึ้นมาพิจารณาก่อน น่าจะตกไปเพราะเสียงเห็นชอบรับหลักการไม่ถึงกึ่งหนึ่งแน่ ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 291 บัญญัติ ซึ่งต้องใช้เสียง 313 คนจาก 625 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชัย เพิ่งจะเชิญวิปทั้ง 3 ฝ่ายในช่วงเช้าวันที่ 9 ก.พ. ให้มาหารือเรื่องการนัดประชุมร่วมกันของรัฐสภาในช่วงบ่าย ทำให้วิปทุกฝ่ายแปลกใจ และไม่ได้ตั้งตัว ซึ่งในที่ประชุม นายชัย พยายามโน้มน้าวให้ที่ประชุมให้เห็นด้วยกับการนัดประชุมในวันที่ 11ก.พ.เพื่อพิจารณาญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งวิปรัฐบาล โดยเฉพาะจากพรรคประชาธิปัตย์ และวิปวุฒิ พยายามทักท้วงว่า ไม่น่าจะเป็นเรื่องด่วน และสภาผู้แทนราษฎร ยังมีวาระพิจารณาที่สำคัญอีกมา และวุฒิสภายังมีวาระพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองค้างอยู่ถึง 2 เรื่อง แต่นายชัย หยิบปฏิทินขึ้นมานับวันให้ดู และยกข้อบังคับการประชุมสภามาอ้างว่า จะต้องบรรจุวาระ หลังรับญัตติภายใน 7 วัน ทำให้ที่ประชุม อ้ำอึ้ง ปฏิเสธไม่ได้
นายธนิตพล ไชยนันทน์ เลขาธิการวิปรัฐบาล กล่าวว่า ในการประชุม ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ วิปรัฐบาลได้แจ้งถึงมติวิป 3 ฝ่ายให้ที่ประชุมทราบ โดยเห็นว่า หากพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 11 ก.พ.นี้จะฉุกระหุกเกินไป พรรคร่วมรัฐบาลไม่สามารถเตรียมตัวได้ทัน จึงคิดว่าในเช้าวันนี้ (10 ม.ค.) จะเชิญวิปหารืออีกครั้งว่าญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญถือเป็นเรื่องเร่งด่วนหรือไม่ หากพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าให้เลื่อนมาพิจารณาก่อนพรรคก็พร้อมสนับสนุน
รายงานข่าวแจ้งว่าในการประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ประเมินกันว่าในการประชุมพิจารณาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 11 ก.พ.นี้คงจะมีการถกเถียงกันอย่างรุนแรงกับพรรคฝ่ายค้าน เพราะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ คป.พร. ได้เสนอค้างอยู่ในวาระการประชุมร่วมรัฐสภามานานมาก ซึ่งหากจะเลื่อนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของ 5 พรรคร่วมขึ้นมาพิจารณาก่อน คาดว่าทางพรรคเพื่อไทยจะไม่ยอม จึงอาจจะทำให้บรรยากาศในวันประชุมสภามีการโต้เถียงอย่างรุนแรง และอาจถึงขั้นทำให้องค์ประชุมล่มได้ ทั้งนี้ ทางพรรคประชาธิปัตย์ก็จะไม่โหวตรับหลักการให้กับร่างของใครเลย
กำลังโหลดความคิดเห็น