ประธานวิปรัฐบาลจัดแผนรับมือซักฟอก ตั้งกรรมการ 3 ฝ่ายสู้ เชิญตามสบาย “เพื่อไทย” อภิปรายรัฐ จี้อย่ามั่วข้อมูล-หาหัวนำฝ่ายค้านให้ได้ก่อน เย้ยเสียงไม่ถึงล้มรัฐบาล ยันหนุนแก้รัฐธรรมนูญตามคณะกรรมการสมานฉันท์ พร้อมดึงฝ่ายค้านร่วม นัด 3 วิปถก 21 ม.ค.53 ชี้ขุดของปี 40 มาใช้ใหม่เป็นเรื่องยาก วอนร่วมมือกันเพื่อชาติ จะให้เขียนบทเฉพาะกาลสั่งยุบสภาหลังร่างฯเสร็จก็ยอม รู้ทันหวังเสี้ยมพรรคร่วมแตกคอ
วันนี้ (28 ธ.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชินวรณ์ บุญเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล แถลงผลการประชุมวิปรัฐบาลว่า ในการประชุมสมัยสามัญทั่วไปฝ่ายค้านสามารถยื่นญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล โดยฝ่ายค้านต้องการโหมโรงให้เห็นว่ารัฐบาลล้มเหลวในการบริหารราชการแผ่นดิน หรือมีการทุจริตประพฤติมิชอบ ทางวิปรัฐบาลขอสนับสนุนให้ฝ่ายค้านใช้พื้นที่ในสภาฯทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ และจะไม่สกัดกั้นด้วยการใช้อำนาจรัฐ หรือการอภิปรายในสภาขอให้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่ก็มีความเป็นห่วงอยู่ 2 เรื่อง คือ ตนอยากให้ฝ่ายค้านยกระดับการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยใช้ข้อมูลที่เป็นหลักฐานข้อเท็จจริงมายืนยันในสภาตามเอกสิทธิ์ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญที่ให้การคุ้มครอง แต่อย่าเอาข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือสร้างประเด็นทางการเมืองก่อให้เกิดความแตกแยก และหากฝ่ายค้านจะอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ ตามมาตรา 303 ฝ่ายค้านควรจะเสนอชื่อผู้สมควรเป็นนายกฯด้วยอีกทั้งขอให้หาผู้นำฝ่ายค้านในสภาตามกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วย
อย่างไรก็ตาม ทางพรรคร่วมรัฐบาลมั่นใจว่า 275 เสียงยังมีความมั่นคงและเชื่อว่าฝ่ายค้านไม่สามารถมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งในการอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ตระหนักดีว่าผลการอภิปรายไม่ได้อยู่ที่คะแนนการยกมือเท่านั้น แต่อยู่ที่ความเชื่อถือในแต่ละฝ่าย ถ้าประชาชนเชื่อถือศรัทธาข้อมูลในฝ่ายใด ฝ่ายนั้นก็ถือว่าเป็นผู้ชนะในหัวใจของประชาชน ทั้งนี้ พรรคร่วมรัฐบาลได้มีการจัดวางยุทธศาสตร์เตรียมรับมือการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ทางวิปรัฐบาลเห็นว่า ต้องเตรียมชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจโดยมีการตั้งคณะทำงานขึ้น3ฝ่าย คือ คณะทำงานเตรียมข้อมูล คณะทำงานด้านข้อบังคับ และคณะทำงานด้านชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชน การตั้งคณะทำงานจะทำหน้าที่ทำความเข้าใจให้ประชาชนเป็นหลักมากกว่าจะเอาแพ้เอาชนะกันในสภา
สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น พรรคร่วมรัฐบาลยืนยันเห็นพ้องต้องกัน ยืนยันในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยเฉพาะข้อเสนอในการเจรจาพูดคุย ทางวิปรัฐบาลขออาสาเป็นบันไดขั้นแรก ในการผู้ประสานงานระหว่างผู้นำฝ่ายค้าน และผู้นำที่อยู่ต่างประเทศ ส่วนการปฏิรูปการเมืองรอบด้านขอความร่วมมือจากนักวิชาการในการแสดงความคิดเห็นทั้งนี้ทางวิปรัฐบาลได้รับหนังสือจากรองเลขานุการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหารเพื่อขอความเห็นจากวิปรัฐบาล ทางวิปรัฐบาลเห็นว่า เรายืนยันที่จะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ โดยขอให้ยึดหลักผลการประชุมร่วมกันระหว่างวิปทั้ง 3 ฝ่าย ที่มีประธานวิปรัฐบาล นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวิปวุฒิสภา นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานวิปวุฒิฯ นายวิทยา บูรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน และเลขานุการ รวมทั้งวิปทั้ง 3 ฝ่าย มาร่วมประชุม ณ ห้องสีเขียวตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล มีผลการประชุมที่ชัดเจนว่า เห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อการปฏิรูปการเมืองรวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น ประการต่อมาคือ หากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยการเสนอญัตติ แก้ไขมาตรา 291 วิปฯ ทั้ง 3 ฝ่ายจะลงชื่อร่วมกัน นอกจากนี้ยังเห็นด้วยกับการลงประชามติ ทั้งนี้ตนขอเป็นตัวแทนในการประสานงานกับวิปทั้ง 3 ฝ่ายเมื่อเปิดสมัยประชุมในวันที่ 21 ม.ค. 53 จะเชิญทั้ง 3 ฝ่ายมาหารือทันทีว่าจะทำตามมติดังกล่าว รวมทั้งยอมรับในกระบวนการ
นายชินวรณ์กล่าวต่อว่า การเจรจาในกระบวนการแก้ปัญหาที่แก้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เปรียบเทียบกับการทำเอ็มโอยู แต่ตนเห็นว่า ข้อเรียกร้องที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยากเจรจากับนายกรัฐมนตรี หรือผู้ที่สูงกว่านายกฯ เป็นข้อเสนอที่ขาดความจริงใจและเป็นไปไม่ได้ ตนไม่ได้ตั้งสมมุติฐานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะต้องเสนอความจริงใจหรือไม่ แต่ตนคิดว่า วันนี้สังคมไทยต้องการที่จะให้บ้านเมืองเดินหน้าไปได้ ทุกคนมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหาร่วมกัน ต่างฝ่ายต่างต้องยื่นมือไปเพื่อแก้ไขปัญหา จะต้องแสวงหาสิ่งที่ดีที่สุดให้บ้านเมือง ส่วนกระแสข่าวว่าพรรคร่วมรัฐบาลออกมากดดันพรรคประชาธิปัตย์ในจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น นายชินวรณ์กล่าวว่า วิปฯพูดคุยกันชัดเจน ไม่ได้เป็นการกดดัน แต่เห็นพ้องต้องกัน และเป็นไปตามมติ แต่ยังติดที่กระบวนการว่า เราจะดำเนินการตามข้อตกลงเดิมหรือไม่ เช่น ผลการทำประชามติ หากแต่ละฝ่ายไม่เห็นด้วยกับผลการทำประชามติ จะเดินหน้าไม่ได้และก่อความขัดแย้งใหม่ขึ้น ซึ่งหลังจากผ่านประชามติก็จะนำไปสู่การเสนอร่างตามมาตรา 291 และร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้ามีความเห็นพ้องต้องกันก็สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เมื่อเปิดประชุมสภาจะพบกันทั้ง 3 ฝ่ายผลจะเป็นอย่างไรจะว่ากันอีกที ซึ่งตนได้ทำหนังสือถึงวิปทุกฝ่ายไปแล้ว
ประธานวิปรัฐบาลกล่าวอีกว่า การเจรจา 3 ฝ่ายหากไม่สำเร็จก็ต้องมาหารือถึงผลการเจรจากันต่อไป อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยไม่เห็นด้วยกับการเจรจากันมาตลอด และเห็นว่าพรรคฝ่ายค้านต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ ส่วนถ้าพรรคเพื่อไทยยังยืนยันไม่ร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น อย่าไปพูดถึงเลย ตนขอให้ประชาธิปไตยเดินหน้าได้ก็ ทั้งนี้ ตนมองว่าโดยกระบวนการตามมาตรา 291 ข้อเสนอการนำรัฐธรรมนูญ 2540 นำมาใช้เป็นไปได้ยาก ถ้าจะใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 จะต้องยกเลิกมาตรา 309 และมาตรา 237 ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของตัวบุคคล จึงเป็นไปได้ยาก ซึ่งถ้าฝ่ายค้านต้องการอย่างไรก็มาพูดกันได้ เช่นต้องการให้ยุบสภาก็มาเขียนในบทเฉพาะกาลว่า หลังจากร่างรัฐธรรมนูญผ่านการเห็นชอบแล้ว และทุกคนหยุดการเคลื่อนไหวนอกสภา เข้าสู่กระบวนการเลือกตั้ง คิดว่าทุกฝ่ายยินดีจะให้ยุบสภา แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะไม่มีความพร้อม แต่เชื่อว่าจะยินดี
ส่วนการที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์เปิดทางว่าให้ ส.ส.แก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 290 และการเลือกตั้ง ส.ส.แบบเขตเดียวเบอร์เดียวได้ ส.ส.สามารถยื่นเองได้นั้น นายชินวรณ์กล่าวว่า เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ ส.ส. และส.ว. 1 ใน 5 สามารถเข้าชื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ในนามวิปรัฐบาลต้องการเป้าหมายคือ แสวงหาความร่วมมือและเห็นพ้องต้องกัน ทุกฝ่ายต้องอดทนต่อกระบวนการ ขณะที่ถ้าพรรครัฐบาลอดทนไม่ได้ วิปรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์จะมีจุดยืนอย่างไรนั้น ตนเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีจุดยืนเดียวกัน 275 เสียง ขอให้สบายใจได้ วิปรัฐบาลรู้ทางของฝ่ายค้านว่า ฝ่ายค้านต้องการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางในเดือน ก.พ. และจะอภิปรายในเดือน มี.ค. กับประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าจังหวะเสี้ยมให้พรรคร่วมรัฐบาลแตกคอกัน