xs
xsm
sm
md
lg

"CIMBT"เปิด3กลยุทธหลัก ดันรายได้-เข้าตลาดฯมิ.ย.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ซีไอเอ็มบีไทยเปิดแผนธุรกิจปีนี้ เน้น 3 จุดใหญ่ "เพิ่มรายได้ดอกเบี้ย-บริหารต้นทุนเงินฝาก-เพิ่มรายได้ค่าฟี" ตั้งเป้าทั้งสินเชื่อ-เงินฝากโต 10-15% รายได้ค่าธรรมเนียมโต 35-40% พร้อมเพิ่ม ROE ติดอันดับ 1 ใน 3 ของระบบภายในปี 56 เดินหน้านำกลุ่มซีไอเอ็มบีเข้าตลาด คาดมิ.ย.นี้เสร็จสิ้น

นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย จำกัด (มหาชน) (CIMBT) เปิดเผยถึงแผนธุรกิจหลักในปี 2553 ว่า ธนาคาระยังคงมุ่งเน้นการเพิ่มรายได้โดยผ่านการบริหารจัดการใน 3 เรื่องหลักๆได้แก่ การเพิ่มรายได้จากดอกเบี้ย การจัดการต้นทุนเงินฝาก และการเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม โดยเป้าหมายด้านสินเชื่อนั้น ตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 10-15% ทั้งนี้ จะมุ่งขยายฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ๆคือ สินเชื่อรายย่อย เน้นสร้างฐานสินเชื่อเคหะ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและสามารถต่อยอดในการทำธุรกิจ ควบคู่ไปกับการขยายสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 30% และสินเชื่อไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan)

ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ธนาคารมีแผนจะออกบริการใหม่ๆ เพื่อรองรับการขยายฐานลูกค้าในกลุ่มธุรกิจขนาดย่อมที่มีวงเงินต่ำกว่า 20 ล้านบาทเพิ่มมากขึ้น และในส่วนของสายบรรษัทธุรกิจ (Corporate) จะเน้นที่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆรองรับลูกค้าองค์กรระดับกลาง รวมถึงลูกค้ากลุ่มที่เน้นด้านอนุรักษ์พลังงาน และผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มีอนุพันธ์แฝง ซึ่งเป็นจุดเด่นของกลุ่มซีไอเอ็มบีอีกด้วย

ด้านเงินฝากตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 10-15% เช่นกัน โดยต้องการเพิ่มสัดส่วนเงินฝากออมทรัพย์ และกระแสรายวันเป็น 30% จากปลายปี 2552 สัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 25% ทั้งนี้ ธนาคารจะเร่งขยายบริการด้านบริหารเงินสด(Cash Management ) การจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์โดยผสมผสานเงินฝากออมทรัพย์และกระแสรายวันในการให้บริการด้าน Wealth Management การออกตั๋วบีอีและขยายฐานโครงสร้างเงินฝาก ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากตลาดเมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา

ส่วนการเพิ่มรายได้จากค่าธรรมเนียมตั้งไว้ที่ประมาณ 35-40% ประกอบด้วย ธุรกรรมด้านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แบงก์กิ้ง (Transaction Banking) บริการด้านรายย่อย เช่น กองทุน ธุรกิจประกันผ่านสาขาธนาคาร ( Bancassurance ) บัตรเครดิต และบริการแลกเปลี่ยนเงินตรา ขณะที่ด้านเอสเอ็มอี จะเน้นกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมการส่งออกตลอดจนการนำเสนอผลิตภัณฑ์แบบเกี่ยวเนื่องกัน ส่วนลูกค้าองค์กรจะเน้นธุรกิจส่งออกและอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำ รวมถึงการหารายได้จากธุรกรรมบริหารเงิน (Treasury) พร้อมทั้งการปล่อยกู้ในโครงการที่เป็นโปรเจกต์ไฟแนซ์ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการด้านสาธารณูปโภคของรัฐบาล การเพิ่มธุรกิจด้านวาณิชธนกิจ และการออกพันธบัตรอิสลาม ( Sukuk Bond ) ซึ่งถือเป็นธุรกรรมใหม่สำหรับประเทศไทย

"ในปีนี้ ถือได้ว่าเป็นปีแห่งการวางรากฐานของธนาคารซีไอเอ็มบีไทย เพื่อสร้างความพร้อมในการรุกธุรกิจอย่างเต็มที่ เช่น กระบวนการบริหารความเสี่ยง การพัฒนาด้าน IT การผนึกกำลังร่วมกับบริษัทในเครือ และการสร้างความเป็นปึกแผ่นในเชิงธุรกิจของกลุ่มธนาคารซีไอเอ็มบีในประเทศไทย จึงเชื่อว่าหากธนาคารสามารถดำเนินการตามแผนงานที่ได้วางกลยุทธ์ไว้ แล้ว ก็จะทำให้ธนาคารมีความแข็งแกร่งด้านสถานะทางการเงินและมีความพร้อมที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นธนาคารที่ให้บริการแบบครบวงจรในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้ในที่สุด ซึ่งตามนโยบายของกลุ่มซีไอเอ็มบีที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ธนาคารมีเป้าหมายหลักที่ต้องบรรลุในปี 2556 อันได้แก่ การเป็น 1 ใน 3 ธนาคารที่มีผลตอบแทนที่ดีที่สุด รวมถึงเป็นผู้นำในตลาดธุรกิจอย่างน้อย 3 ประเภท และเป็นธนาคารที่พนักงานเลือกที่จะทำงานด้วย ( High Performance Culture)" นายสุภัค กล่าว

อย่างไรก็ตาม ธนาคารตั้งเป้าในปลายปีนี้จะมีผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) สูงขึ้นเป็น 7.10% จาก 0.06% ในปีที่แล้ว นอกจากนี้ยังคาดว่าธนาคารจะมีกำไรเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 10 เท่า เทียบกับปีที่แล้วที่ธนาคารมีกำไรสุทธิ 1.6 ล้านบาท โดยในปีที่แล้วเป็นปีแรกที่ธนาคารสามารถพลิกมีกำไรสุทธิ หลังจากที่ขาดทุนต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี ในขณะที่จะลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ให้มีสัดส่วนลงเหลือน้อยกว่า 5% จากปีที่แล้วอยู่ที่ 6.0%

สำหรับความคืบหน้านำหุ้นกลุ่มซีไอเอ็มบีมาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นั้นคาดว่า จะสามารถเข้าจดทะเบียนฯหรือเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นไทยได้ประมาณเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรองบการเงินไตรมาส1 ปี 2553 ออกมา เพื่อรายงานให้ตลาดหุ้นมาเลเซียก่อนจัดส่งให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ของไทย

"อีกประมาณ 1-2 เดือนนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปว่าบริษัทใดจะเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (เอฟเอ) ในการยื่นกระจายหุ้นหุ้นกลุ่มซีไอเอ็มบี ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทหลายรายสนใจจะรับงานที่ปรึกษาทางการเงิน แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าหุ้นกลุ่มซีไอเอ็มบี น่าจะได้รับความน่าสนใจจากนักลงทุนไทย"นายสุภัคกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น