xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

การศึกษาไทยในมุมมองของควาย (เซ็นเตอร์)

เผยแพร่:   โดย: ทวิช จิตรสมบูรณ์

โดย...ทวิช จิตรสมบูรณ์

ของเล่นใหม่ของผู้มีอำนาจวาสนาในการวางนโยบายการศึกษาไทยคือ “การปฏิรูปการศึกษา” โดยเฉพาะการบ้าอำนาจกำหนดเป็นกฎหมายให้ใช้วิธีการสอนแบบ “นักเรียนเป็นศูนย์กลาง” ดังที่นิยมเรียกเป็นภาษาต่างด้าวที่พวกเราต้องปีนบันไดฟังว่า child-centered learning ซึ่งคนระดับล่างแบบเราๆ ที่พอจับสำเนียงได้ก็เหน็บแนมเอาแบบคมคายด้วยความคล้องจองทางภาษาว่าเป็นการศึกษาแบบ “ควายเซ็นเตอร์” หรือเอา “ควายเป็นศูนย์กลาง” นั่นเอง โดยยังกำกวมอยู่ว่าควายในที่นี้หมายถึงใครกันแน่ระหว่างผู้วางนโยบาย ผู้สอน กับผู้รับการสอน

สาเหตุที่ผู้มีอำนาจท่านคลั่งไคล้เรื่องนี้กันหนักหนานั้นพอสันนิษฐานได้ไม่ยากนักว่าเป็นเพราะคงไปอ่านตำราฝรั่งเก่าๆ เข้า หรืออาจเคยได้ยินได้ฟังมาแต่สมัยไปเรียนเมืองนอกนานมาแล้ว เลยเกิดเลื่อมใสศรัทธามาโดยไม่เสื่อมคลาย พอมีอำนาจวาสนาก็เลยเอามาบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษา พ.ศ. 2542 นั่นเทียว โดยหาตระหนักไม่ว่าเรื่องนี้พวกฝรั่งเขาโต้กันมานานหลายร้อยปีแล้ว ตั้งแต่ยุคฟื้นฟูยุโรป (Renaissance period) จนบัดนี้ไม่มีฝรั่งที่ไหนเขาทำกันแล้ว เพราะสรุปกันว่าสู้แบบเก่าที่ให้ครูเป็นศูนย์กลางไม่ได้

ปัจจัยประกอบอันหนึ่งคือทุกวันนี้เนื้อหาวิชาการได้มีปริมาณสั่งสมมานานนับพันปีและมีความลุ่มลึกมากขึ้น ขนาดเรียนกันในห้องแบบครูบอกความรู้ให้แบบเร็วๆ (ครูเป็นศูนย์กลาง) ยังเรียนกันไม่หวาดไหว แล้วจะให้มานั่งลองผิดลองถูกแบบเด็กเป็นศูนย์กลาง แล้วมันจะมีเวลาทั้งชั่วชีวิตนี้เพียงพอต่อการเรียนรู้หรือ

วิธีการสอนแบบ “ควายเป็นศูนย์” นี้ ว่ากันว่าจะทำให้เด็กไทยฉลาด คิดเป็น ทำเป็น สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก เพราะวิธีการนี้ทำให้เด็กได้ฝึกคิด ฝึกทำด้วยตัวของเขาเอง ไม่ต้องมานั่งสอนจ้ำจี้จ้ำไชให้มากเรื่อง โดยครูต้องลดบทบาทลงมาเป็นเพียงผู้ประสานการเรียนรู้ หรือที่เรียกกันโก้หรูเป็นภาษาต่างด้าวว่า “ฟาซิลิเตเตอร์” (facilitator)

คำว่า “ควายเซ็นเตอร์” ที่เสียดสีกันนั้นนับว่าเหมาะสมอยู่ เพราะควายเป็นสัตว์กินหญ้าที่เลี้ยงลูกด้วยนม เมื่อควายออกลูกมา ควายก็มีหน้าที่สอนลูกให้อยู่รอดได้ เพื่อดำรงพงศ์เผ่าพันธุ์ควายให้ยืนยงคงอยู่คู่โลก (เพื่อให้คนจับมาฝึกหัดไถนา) ควายจึงสอนให้ลูกรู้จักเลือกกินหญ้าเฉพาะไอ้ชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย และสอนให้หนีภัยจากเสือได้ในยามคับขัน แต่ควายไม่ได้เปิดโรงเรียน และควายไม่มีรัฐบาลที่มาจากการลากตั้ง อีกทั้งควายไม่มีกระทรวงศึกษาฯ ดังนั้นควายจึงต้องสอนลูกด้วยตัวเองและสอนด้วยระบบ “ควายเซ็นเตอร์” อย่างแท้จริง

ครูแบบควายๆ ไม่ต้องเลกเชอร์ในห้องเรียน ที่ต้องจ้ำจี้จำไชยัดเยียดความรู้ให้ลูกกินโน่นกินนี่ครบห้าหมู่ แต่สอนด้วยการพาลูกแหง่เดินท่องไป ด้วยการกินอาหารให้เห็นเป็นตัวอย่าง แบบหญ้าจริงควายจริง ลูกควายจึงได้เรียนรู้แบบ “นักเรียนเป็นศูนย์กลาง” อย่างแท้จริงที่สุด ได้ทดลอง และลองผิดลองถูกด้วยตนเองอย่างสุดๆ โดยมีแม่ควายเป็น “ฟาซิลิเตเตอร์” จนฝูงควายอยู่รอดปลอดภัย สืบเชื้อเผ่าพันธุ์ควายมาไถนาและเป็นเนื้อย่างแดดเดียวได้จนทุกวันนี้ ก็เพราะการสอนแบบ “ควายเซ็นเตอร์” อันทรงประสิทธิภาพนี่แล

และเมื่อแม่แมวต้องสอนลูกแมวให้จับสัตว์ ก็สอนแบบแมวไชลด์เซ็นเตอร์เช่นกัน กล่าวคือ แม่จะจับสัตว์ที่กัดไว้แล้วพอขาเดี้ยงวิ่งหนีไม่ไหว มาให้ลูกหัดขบตบเล่น พอสัตว์หลุดจะวิ่งหนี แม่แมวก็ไปตะล่อมกลับมาสู่วงล้อม ให้ลูกได้เล่นกับเครื่องมือทดลองต่อไป จนเก่งกาจ สามารถดำรงชีวิตอยู่ต่อไปได้...โอ มันช่างเป็นระบบการสอนแบบไชลด์เซ็นเตอร์ที่เป็นธรรมชาติและเยี่ยมยอดอะไรเช่นนั้น

กล่าวฝ่ายคนป่าถือลำหอกในสมัยหินก็สอนลูกของเขาอย่างนั้นเช่นกัน..พวกเขาไม่เคยต้องเข้าถ้ำเลกเชอร์เขียนผนังถ้ำให้เปลืองถ่านหรือสีย้อมจากเปลือกไม้ แต่ออกสนามจริงให้ลูกๆทดลองฝึกพุ่งหอกเคียงบ่าเคียงไหล่กับพ่อน้าอาลุง ลองทำจริง ลองผิดลองถูก จนเป็น จนเก่ง กันทุกคน ทำอยู่มาเช่นนี้เป็นหมื่น แสน ล้านปี จนวันหนึ่ง เกิดมีมนุษย์ถ้ำอัจฉริยะคิดค้นวิธีการสอนแบบห้องเรียนได้ โดยให้ครูเป็นศูนย์กลางในการถ่ายทอดความรู้ โดยครูนั้นคัดมาจากคนที่พุ่งหอกล่าสัตว์ได้เก่งที่สุดในกลุ่มชุมชนนั้น เป็นคนถ่ายทอดประสิทธิ์ประสาทวิชาให้กับเด็กๆในห้องเรียน ซึ่งทำให้เด็กจำนวนมาก เก่งได้มากๆ ในเวลาอันสั้นๆ เพราะถูกสอนโดยผู้ที่พุ่งหอกที่เก่งที่สุด ในขณะที่พ่อแม่ก็มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น เพราะไม่ต้องเอาเวลาไปสอนลูกแบบงูปลาอีกต่อไป ปล่อยให้อยู่ในมือของครูที่เก่งที่สุดในด้านนี้ เรียกว่าเป็นการได้หลายต่อมาก

ครูผู้สอนได้รับการเคารพและได้รับการแบ่งปันเนื้อสัตว์เป็นรางวัลโดยไม่ต้องออกล่ากับพวกเขา นับเป็นอาชีพใหม่ที่ทำคุณประโยชน์ให้กับสังคมเป็นอย่างยิ่ง เพราะช่วยทุ่นเวลาและเพิ่มประสิทธิผลการเรียนรู้ได้มหาศาล สมมติว่าครูผู้นี้เก่งกว่าค่าเฉลี่ย 10 เท่า สอนเด็ก 20 คน ก็เท่ากับว่าประสิทธิผลการล่าสัตว์ของหมู่บ้านจะเพิ่มขึ้น 200 เท่า ซึ่งหมายความว่าหมู่บ้านนี้จะมีเวลาเหลือเฟือในการคิดค้นสิ่งอื่นๆ ที่นำไปสู่การพัฒนาหมู่บ้าน

การคิดค้นวิธีการเรียนรู้แบบที่กล่าวมา (แบบครูเป็นศูนย์กลาง) น่าจะถือได้ว่าเป็นการคิดค้นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติก็ว่าได้ เพราะไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกแบบลูกควายและลูกแมวอีกต่อไป ที่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูกในทุกๆ ช่วงอายุ (เจนเนอเรชัน) ในขณะที่มนุษย์เอาเวลาไปลองผิดลองถูกเพื่อต่อยอดความรู้ที่ได้รับจากครูออกไปอีกหลายๆ ยอด ด้วยเหตุนี้แล...ในขณะที่แมวยังกินหนู หมูยังกินหน่อ ปลาหมอยังกินไรน้ำ คนตาดำๆ รู้จักกินบะหมี่สำเร็จแล้ว

มนุษย์เรามีความสำเร็จสูงส่งเป็นประจักษ์พยานอยู่อย่างนี้ เรายังคิดกันได้ว่าจะหวนย้อนกลับไปใช้วิธีเรียนแบบสัตว์เดรัจฉานและมนุษย์ถ้ำอีกละหรือ เพียงเพราะว่ามันมีคำศัพท์ภาษาอังกฤษ “child center” กำกับ ซึ่งทำให้ดูขลังกระนั้นหรือ ฝรั่งเองก็เคยลองทำกันมาหลายสิบปีแล้ว หรือจะว่าไปก็หลายแสนปีแล้ว เราควรรู้จักคิดกันเองแบบไทยๆ เราบ้างก็จะดีโดยหันมาเรียนแบบ “ไทยเซ็นเตอร์” กันบ้างดีไหม คือ ครูมีเมตตาต่อศิษย์เป็นหลัก อย่าทำการศึกษาให้เป็นการพาณิชย์กันนักเลย อย่าต้องให้สถานศึกษาต้องหารายได้เลี้ยงตัวเองกันนักเลย ดังเช่นแนวคิดจะให้มหาวิทยาลัยนอกระบบหาเงินเลี้ยงตัวเอง

ปัจจัยสำคัญที่สุดในการสอนนั้นผู้เขียนเห็นว่าไม่ใช่วิธีการสอน แต่คือตัวผู้สอน ทำอย่างไรจึงจะได้ผู้สอนที่เก่งที่สุด ดีที่สุด มาเป็นครูสอนนักเรียน เพราะหากเอาควายมาสอน แม้ใช้วิธีที่ดีที่สุดในการสอนก็คงไม่เก่งกว่าควายไปได้

แต่ทุกวันนี้ก็รู้กันอยู่ว่า สอบเข้าอะไรไม่ได้ก็ไปเรียนครู จบออกมาส่วนใหญ่ก็สอนเป็นงานอดิเรกและค้าขายหาเงินเป็นงานหลัก เพื่อเอามาซื้อรถซื้อบ้าน ถ้าเราได้ครูที่เก่งและมีเมตตาต่อศิษย์เสียแล้ว มีหรือที่ครูเหล่านี้จะหาวิธีสอนที่ดีที่สุดด้วยตัวของท่านเองไม่ได้ เพราะวิธีการสอนที่ดีที่สุดนั้นมันไม่มีสูตรตายตัวหรอก ต้องปรับให้เข้ากับสภาพของนักเรียน เด็กในกรุงจบมัธยมอยากเข้ามหาวิทยาลัยกับเด็กบ้านนอกอยากไปต่อสายอาชีพ หรือไปเข้าทำงานโรงงาน จะใช้วิธีสอนเหมือนกันหรือ

แม้พระพุทธเจ้า ที่เรายอมรับกันว่าเป็น “บรมครูผู้ยิ่งใหญ่” ยังทรงใช้วิธีสอนที่แตกต่างกันต่อนักเรียนที่มีพื้นฐานแตกต่างกัน คือคนฉลาดสอนแบบหนึ่งคนโง่ก็สอนอีกแบบหนึ่ง โดยมีหลักการใหญ่อันเดียวกัน คือ ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทาง....ท่านเป็นผู้เดินทาง แต่ในที่สุดคนโง่ก็ตรัสรู้ได้เหมือนคนฉลาด (แต่ช้าหน่อย)

ดังนั้นวิธีการสอนแบบ “ตถาคตเป็นเพียงผู้ชี้ทาง....ท่านเป็นผู้เดินทาง” น่าจะเป็นวิธีการสอนที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย คือ ครูสอนหลักการ (ชี้ทาง) แต่นักเรียนต้องนำหลักการไปทดลองแก้ปัญหาเอาเอง เช่น โดยการทำโจทย์แบบฝึกหัด การทดลองในห้องปฏิบัติการ การวิจัย การออกแบบพัฒนาสิ่งต่างๆ ตามหลักการที่ได้รับจากครู นั่นแล แต่เท่าที่สังเกตครูไทยเราวันนี้สอนหลักการไม่เป็น ก็เลยสอนกันแต่วิธีการให้นักเรียนจำรายละเอียดของการแก้ปัญหาโดยไม่เข้าใจหลักการ นักเรียนก็เลยไม่ต้องคิด และการที่ครูสอนหลักการไม่เป็นก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากคุณภาพของครูแต่แรกเข้านั่นแลผนวกกับการไม่สนใจใฝ่รู้เพิ่มเติมเนื่องจากเอาเวลาไปหารายได้เสริมกันหมด

วิธีการสอนแบบชี้ทาง-เดินทางดังกล่าวมานี้จะเป็นการพบกันครึ่งทางระหว่างครูและนักเรียน เป็นทางสายกลางที่พระพุทธเจ้ามอบให้เป็นสมบัติของคนไทยมาแสนนานก่อนใครในโลก แต่ผู้มีอำนาจในการวางนโยบายการศึกษาไทยที่จบมาจากเมืองฝรั่งไม่เคยสำเหนียก กลับจะมาให้สอนแบบ “ควายเซ็นเตอร์” ทำให้สงสัยว่าชะรอยท่านเหล่านี้คงจำวิธีการสอนแบบนี้ได้มาแต่ชาติปางก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น