xs
xsm
sm
md
lg

ยื่นฟ้องระงับ! ขึ้นค่าโทลล์เวย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคและนักกฎหมาย ฟ้องศาลปกครองขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการขึ้นค่าผ่านทางโทลล์เวย์มหาโหด แฉสัญญาอัปยศลดส่วนแบ่งรายได้ให้รัฐ เอื้อเอกชนขึ้นราคาตามอำเภอใจ

วานนี้ (3 ก.พ.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค และนักกฎหมาย จำนวน 20 คน ได้ยื่นฟ้องอธิบดีกรมทางหลวง ปลัดกระทรวงคมนาคม รมว.กระทรวงคมนาคม และคณะรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อให้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนการให้อำนาจเอกชนขึ้นค่าบริการสาธารณะ (ค่าทางด่วนโทลล์เวย์) ตามอำเภอใจ และให้กรมทางหลวงคิดค่าผ่านทางที่กำหนดบนพื้นฐานของต้นทุนการให้บริการ แทนการคิดค่าผ่านทางจากผลจากรายได้หรือกำไรของเอกชนคู่สัญญา

ผู้ยื่นฟ้องคดี บรรยายในคำร้องขอให้ศาลกำหนดมาตรฐานหรือวิธีการใดๆ เพื่อบรรเทาทุกข์เป็นการชั่วคราวก่อนพิพากษาคดีว่า ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง4 ร่วมกันกระทำการทางปกครอง โดยขึ้นราคาค่าผ่านทาง เอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชน สร้างความเสียหายให้กับผู้ฟ้องคดีและรัฐรวมถึงผลประโยชน์สาธารณะโดยรวม กล่าวคือ การแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาสัมปทานฯทั้งสามฉบับ ได้ขยายอายุสัญญาสัมปทานฯจาก 25 ปี เป็น 45ปี , ลดส่วนแบ่งรายได้ให้กับรัฐ , สละสิทธิส่วนแบ่งรายได้ระหว่างอนุสรณ์สถาน-รังสิต ตลอดอายุสัญญาสัมปทาน , รัฐสูญเสียงบประมาณหลายพันล้านบาทในการก่อสร้างทางยกระดับระหว่างอนุสรณ์สถาน-รังสิตและทางเชื่อมท่าอากาศยานนานาชาติกรุงเทพ

นอกจากนั้น การคืนผลตอบแทนให้รัฐในระยะเวลา 25 ปี ในราคาที่ต่ำมากเพียงประมาณวันละ 22 บาท ขณะที่เอกชนมีรายได้ 4.4 ล้านบาทต่อวัน และให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการขึ้นราคาโดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ดังปรากฏตามสัญญาสัมปทานแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ 3/2550 ซึ่งระบุไว้ว่า “...ข้อ 5. อัตราค่าผ่านทางที่เรียกเก็บจากยานพาหนะทุกประเภทให้เป็นไปตามตารางท้ายข้อนี้ และมีผลใช้บังคับได้ทันที โดยการปรับใช้อัตราค่าผ่านทางตามตารางนี้ ผู้รับสัมปทานไม่ต้องขออนุญาตจากกรมทางหลวงอีก แต่ผู้รับสัมปทานจะต้องแจ้งให้กรมทางหลวงทราบล่วงหน้า ไม่น้อยกว่า ๓๐ (สามสิบ) วัน และให้ผู้รับสัมปทาน ประกาศและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบล่วงหน้าเป็นเวลาพอสมควร...”

การแก้ไขสัญญาดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ประกาศการขึ้นค่าผ่านทางจากช่วงดินแดง-อนุสรณ์สถาน-รังสิต และรังสิต-อนุสรณ์สถาน-ดินแดง สำหรับรถประเภทที่ 1 (รถ 4 ล้อ) จาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถประเภทที่ 2 (รถมากกว่า 4 ล้อ) จาก 95 บาท เป็น 125บาท และจะขึ้นราคาอีก 15 บาททุกๆ 5 ปีตลอดอายุสัมปทาน บริษัทฯได้กำไรจากการเอาเปรียบประชาชนผู้บริโภคอย่างร้ายแรง ทำให้เกิดความเดือดร้อน สูญเสียทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม คุณภาพชีวิตและสุขภาพอนามัยของประชาชนผู้บริโภค อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่เป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนตามตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

ผู้ฟ้องคดี ขอให้ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 และบริษัทฯ ระงับการขึ้นค่าผ่านทางราคาโหด ไม่สอดคล้องกับรายได้ของประชาชน และให้คิดอัตราค่าผ่านทางในอัตราเดิมก่อนประกาศขึ้นราคาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2552

การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ฟ้องคดี ต่อรัฐและประชาชนอย่างต่อเนื่อง หากศาลพิพากษาให้ระงับการขึ้นราคา จะเป็นการยากที่จะเรียกให้บริษัทฯและผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 คืนเงินค่าผ่านทางที่เรียกเก็บไปโดยมิชอบแก่ประชาชนผู้บริโภค

ดังนั้น เพื่อชดเชยเยียวยาความเสียหายของประชาชนผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 61 และการขึ้นราคาครั้งนี้ทำให้บริษัทฯ ได้ประโยชน์ในทรัพย์สินที่เป็นการลงทุนจากส่วนต่อขยายช่วงอนุสรณ์สถาน-รังสิต ซึ่งเป็นการลงทุนโดยรัฐ อันเป็นประโยชน์มิควรได้อย่างน้อยวันละ 400,000 บาท หากรอให้มีคำพิพากษาจะทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้งรัฐและสาธารณชนเสียหาย จนยากจะเยียวยา ผู้ฟ้องคดีจึงขอศาลได้โปรดสั่งให้มีการบรรเทาทุกข์ชั่วคราว โดยมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 ระงับการขึ้นราคาค่าผ่านทาง โดยให้คงคิดราคาเดิมก่อนประกาศขึ้นราคาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2552 ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา

สำหรับคำฟ้องคดีโทลล์เวย์มีรายละเอียดคำฟ้องทั้งหมด 8 หน้า มีคำขอท้ายคำฟ้อง ดังนี้ (1) ขอให้ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนสัญญาสัมปทานฯ ข้อ 5 แห่งบันทึกข้อตกลงฯ ฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 12ก.ย. 2550 (2)ขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้กรมทางหลวงคิดค่าผ่านทางที่กำหนดบนพื้นฐานของต้นทุนการให้บริการจากผู้ใช้บริการสาธารณะ ซึ่งเป็นค่าบริการที่สมเหตุสมผล เป็นธรรม และชอบด้วยหลักกฎหมายปกครองว่าด้วยการบริการสาธารณะ แทนการคิดค่าผ่านทางจากผลตอบแทน หรือรายได้ หรือกำไร ของผู้ประกอบการ หรือผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น โดยดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539

(3)ขอให้ศาลฯมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนบันทึกข้อตกลงฯ ฉบับที่ 3/2550 ฉบับวันที่ 12 ก.ย.พ.ศ. 2550 อันเป็นการทำสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ (4) ขอให้ศาลฯ มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนมติคณะรัฐมนตรี ฉบับวันที่ 11 เม.ย. 2549 และ ฉบับวันที่ 10 เม.ย. 2550 และ (5) ขอให้ศาลฯ ได้โปรดบรรเทาทุกข์ชั่วคราวตามระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2543 ข้อ 75, 76 และ 77 โดยมีคำสั่งให้บริษัทฯ คิดอัตราค่าผ่านทางในอัตราเดิมก่อนประกาศขึ้นราคาเมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2552 จนกว่าคำพิพากษาจะถึงที่สุด

(อ่านรายละเอียดคำฟ้องได้ที่ http://mgr.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9530000015575).
กำลังโหลดความคิดเห็น