xs
xsm
sm
md
lg

บันทึก “ลับ” ของพานทองแท้!

เผยแพร่:   โดย: ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

29 สิงหาคม 2546 พานทองแท้ ชินวัตร (โอ๊ค) ลูกชายของนายกรัฐมนตรีขณะนั้น จะได้ปรากฏเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ว่าได้นำโพยกระดาษแอบซุกเข้ามาในห้องสอบวิชาการวิเคราะห์ ระบบการเมืองไทย หรือ PS 421 ซึ่งเป็นวิชาสำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะรัฐศาสตร์ สาขาการปกครอง มหาวิทยาลัยรามคำแหง (มร.)

นั่นดูเหมือนจะเป็นข่าวชิ้นแรกๆ ที่นักข่าวให้ความสนใจกับข่าวในเชิงลบของ พานทองแท้ ชินวัตร ลูกชายคนเดียวของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน

“ความลับ” ของพานทองแท้ที่ถูกเปิดเผย ในเรื่องโพยนำกระดาษเข้าห้องสอบนั้น ถือเป็นเรื่องเพียงเสี้ยวเดียวจากความลับอีกหลายเรื่อง ซึ่งสื่อมวลชนคงไม่อยากที่จะนำมาเปิดเผยก็เพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัว และไม่ได้มีประโยชน์ใดๆ กับบ้านเมือง

ความเป็นลูกชายมหาเศรษฐี และเป็นลูกนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น พานทองแท้ได้ถูกเอาอกเอาใจทั้งจากนักการเมือง พนักงานของรัฐ และพ่อค้าเอกชนในระบอบทักษิณ จนไม่ว่าจะเปิดกิจการธุรกิจ หรือทำกิจกรรมใดๆ ก็จะมีแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง ล้นหลาม และยังมีธุรกิจที่ได้ประโยชน์จากเครือข่ายในทางการเมืองอีกมากมายมหาศาลด้วย

ความรุ่งเรืองและทรงอิทธิพลของครอบครัวชินวัตร ยังได้ส่งผลกระทบแม้กระทั่งสิทธิเสรีภาพในการแสดงผลงานของตลกที่อาจกระทบต่อพานทองแท้อีกด้วย

ปี 2547 เด๋อ ดอกสะเดา นักแสดงตลกได้เขียนบทและกำกับบทภาพยนตร์เรื่อง “ยอดชายนายโอ๊กอ๊าก” โดยมี นายสายันห์ ดอกสะเดา นักแสดงตลกพิการทางสมอง ซึ่งรับบทนำเป็น “โอ๊กอ๊าก” ลูกชายของ “เจ้าสัวรักสิน” ซึ่งชื่อและลักษณะตัวละครมีลักษณะล้อเลียนทางการเมืองได้สร้างความไม่พอใจกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างมากจนถูกตำรวจสันติบาลเข้ามาตรวจสอบภาพยนตร์ชุดนี้โดยอ้างว่า “อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงต่อรัฐ”

วาทกรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ
ต่อภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวในขณะนั้น คือ “ต้องระวัง ถ้าทำให้ผู้นำประเทศเป็นตัวตลก ประเทศก็เป็นตัวตลกไปด้วย”

ปี 2553 ภายใต้คดีการยึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาท
ของครอบครัวชินวัตร อาจทำให้ต้องเปลี่ยนวาทกรรมใหม่ว่า “ต้องระวัง ถ้าผู้นำประเทศเห็นประชาชนโง่ ประเทศก็จะเป็นตัวตลกและเสียหายไปด้วย”

6 ปีเศษผ่านไปจากวันกำเนิดภาพยนตร์เรื่อง “ยอดชายนายโอ๊กอ๊าก” (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น โว๊กว๊าก) ใครจะเชื่อได้ว่า “ความลับ” จากพานทองแท้ ซึ่งได้เก็บงำเอาไว้เป็นเวลาหลายปีจะมาถูกเปิดเผยและกลายเป็นหลักฐานสำคัญในการจับผิดและมัดคดีความการยึดทรัพย์ 76,000 ล้านบาทอย่างชนิดที่ดิ้นไม่หลุด แต่ครั้งนี้ลำพังสติปัญญาที่วางแผน “พกกระดาษโพย” คงมือไม่ถึง แต่เพราะมีผู้ใหญ่คอยวางแผนบงการอยู่เบื้องหลังจึงมีความสลับซับซ้อนอย่างยิ่ง

เพราะในคดีที่คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ จะพยายามพิสูจน์ใน 2 ประเด็น คือ

ประเด็นแรก พิสูจน์ให้เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานยังคงบงการหรือถือหุ้นผ่านหุ่นเชิดในกิจการสัมปทานของรัฐอยู่ หรือที่เรียกว่า “ซุกหุ้น” เพื่อพิสูจน์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานมีผลประโยชน์ทับซ้อน กับอำนาจรัฐในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ประเด็นที่สอง พิสูจน์ให้เห็นว่ามีการใช้นโยบายของรัฐในการเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง คู่สมรส และพวกพ้องหรือไม่ และการทำเช่นนั้นได้ทำให้ประเทศชาติเสียหายเท่าไร? ซึ่งประเด็นหลังอาจเรียกได้ว่าเป็นการ “พิสูจน์การทุจริตเชิงนโยบาย”

สำหรับประเด็นแรกนั้น “พานทองแท้” เป็นตัวอย่างหนึ่งในกุญแจสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้น่าเชื่อว่าได้มีการถือหุ้นที่มีสัมปทานกับรัฐแทนพ่อแม่ ก่อนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ปฏิบัติการผ่องถ่ายหุ้นสัมปทานและยัดหนี้ให้นายพานทองแท้ ลูกชายคนเดียวที่บรรลุนิติภาวะ จึงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและใช้เวลาเพียงแค่ 2 วันติดกัน คือวันที่ 30 สิงหาคม 2543 “เป็นวันแม่ยัดหนี้ให้ลูก” และวันที่ 1 กันยายน 2543 เป็นวัน “โอนหุ้นให้ลูกเพื่อรอวันปันผลคืนหนี้แม่” ดังนี้

30 สิงหาคม 2543 คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ขายหุ้นธนาคารทหารไทยจำนวน 150 ล้านหุ้น ซึ่งมีราคาตลาดหุ้นละ 5.70 บาท มูลค่าตลาดประมาณ 855 ล้านบาท ให้กับ พานทองแท้ 10 บาทต่อหุ้น หรือขายให้ลูกในราคาพาร์มูลค่า 1,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ “ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่จะซื้อหุ้นบุริมสิทธิ” ของธนาคารทหารไทย ซึ่งคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ได้สิทธินี้ฟรีๆ จากอัตราส่วน หุ้นสามัญของธนาคารทหารไทย 1 ส่วน ได้ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ฟรี 2 ส่วน ดังนั้นเมื่อคุณหญิงพจมาน ชินวัตร มีหุ้นทหารไทย 150 ล้านหุ้น คุณหญิงพจมานจึงได้ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ฟรีๆ 300 หน่วย แต่กลับไปขายใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ที่ได้มาฟรีๆ นี้ให้กับ พานทองแท้ ราคาหน่วยละ 10 บาท จึงเท่ากับขายให้ลูกมูลค่า 3,000 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ราคาตลาดในวันที่ 30 สิงหาคม 2543 ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์มีราคาเพียงหน่วยละ 1.30 บาทเท่านั้น

แต่ “พานทองแท้” ไม่มีเงินในการซื้อ จึงได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินเพื่อแสดงความเป็นหนี้คุณหญิงพจมาน 4,500 ล้านบาทในการซื้อทรัพย์สินครั้งนี้ ซึ่งทรัพย์สินที่ได้มานั้นหากเทียบกับราคาตลาดจะมีเพียงแค่ 1,245 ล้านบาท แต่เทียบกับต้นทุนที่คุณหญิงพจมานได้ทรัพย์สินนี้มามีมูลค่าเพียงแค่ 1,500 ล้านบาท

เท่ากับว่า “พานทองแท้” ต้องเป็นหนี้แม่ 4,500 ล้านบาท แต่เป็นหนี้เกินความเป็นจริงถึง 3,000 ล้านบาท!

1 กันยายน 2543
พานทองแท้ ซื้อหุ้น “ชินคอร์ป” โดยติดหนี้จากพ่อและแม่รวม 733 ล้านบาท ผลปรากฏว่า เงินทุกบาทที่ได้มาจากการปันผลของ “ชินคอร์ป” ทุกครั้งตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2544 ถึงวันที่ 26 มกราคม 2549 ให้กับ “แม่” ทั้งหมด 29 ครั้ง รวมเป็นเงิน 5,056 ล้านบาท โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการคืนหนี้ที่ได้มา (เกินความจริง) จากการซื้อหุ้นธนาคารทหารไทยและใบสำคัญแสดงสิทธิของธนาคารทหารไทย

จาก “พานทองแท้” ที่เป็นผู้ถือหุ้นของแอมเพิลริชนั้น แท้ที่จริงแล้ว กลต. และกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้พบหลักฐานชัดเจนแล้วด้วยว่า วินมาร์คและแอมเพิลริช (ซึ่งถือหุ้นในเครือของหุ้นชินคอร์ปหลายตัว) เป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะเป็นนายกรัฐมนตรีจนถึงปี 2548 หนังสือรับรองของบริษัทแอมเพิลริชระบุว่า “การถอนเงินใดๆ จะต้องได้รับมอบอำนาจจากด็อกเตอร์ ที. ชินวัตร เท่านั้น”

นี่คือการพิสูจน์การ “ซุกหุ้น” ที่แยบยลระดับโลก!

หันมาพิจารณาเรื่องการทุจริตนเชิงนโยบาย ศ.ดร.สิทธิชัย โภไคยอุดม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้อธิบายต่อคณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า รวมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาครัฐใน 3 รายการ ดังนี้

ความเสียหายจากการนำพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บได้จากกิจการโทรคมนาคมของเอกชน ไปคืนให้กับเอกชนเพื่อนำไปหักลดค่าสัมปทานกิจการโทรคมนาคมที่ให้กับรัฐ รวมความเสียหายส่วนนี้ประมาณ 60,000 ล้านบาท

ความเสียหายจากการปรับลดอัตราส่วนแบ่งรายได้ให้บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบบัตรเติมเงิน หรือ Prepaid Card ให้กับบริษัทเอไอเอส จากเดิมที่ต้องจ่ายแบบอัตราก้าวหน้าในอัตราร้อยละ 25-30 มาเป็นร้อยละ 20 รวมความเสียหายประมาณ 70,000 ล้านบาทตลอดอายุสัมปทาน

การยินยอมใช้ IP star ซึ่งเป็นดาวเทียมหลัก ให้มาเป็นดาวเทียมสำรองของไทยคม 3 โดยทำให้ไม่ต้องสัมปทานดาวเทียมใหม่และไม่ต้องยิงดาวเทียมสำรองอีกดวงหนึ่ง ทำให้เกิดความเสียหายและค่าเสียโอกาสไปอีกประมาณ 50,000 ล้านบาท

นอกจากนั้น คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ยังได้รายงานความเสียหายเพิ่มเติมนอกจากนี้อีก 2 รายการ คือ

ความเสียหายกรณีมีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) เอื้อประโยชน์ชินคอร์ป และ AIS โดยแก้ไขให้ AIS เข้าไปใช้เครือข่ายร่วมผู้ให้บริการรายอื่นที่มีผลทำให้ AIS ไม่ต้องจ่ายเงินกว่า 19,000 ล้านบาท

ความเสียหายจากการอนุมัติให้ธนาคารเพื่อการส่งออกนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ เอ็กซิมแบงก์ ซึ่งปล่อยกู้ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าทุน 4,000 ล้านบาท และขยายเวลาปลอดชำระหนี้จาก 2 ปี เป็น 5 ปีเพื่อนำไปซื้ออุปกรณ์จากการพัฒนาระบบโทรคมนาคมของพม่าจาก บริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด

รวมความเสียหายทั้ง 5 รายการ ประมาณ 200,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าจำนวน 76,000 ล้านบาท ซึ่งกำลังถูกอายัดอยู่ขณะนี้ประมาณ 2.67 เท่าตัว!

เรียกได้ว่ายึดเงิน 76,000 ล้านทั้งหมดก็ยังไม่พอความเสียหายที่ว่านี้เลย!


กำลังโหลดความคิดเห็น