ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย....ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
สัปดาห์ที่ผ่านมากระแสข่าวการรัฐประหารนั้นได้แพร่กระจายไปทั่วต่อวงการสื่อมวลชน และนักการเมือง ถึงขนาดที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ยังต้องยอมรับว่าได้หนีไปตั้งหลักที่กัมพูชาเพราะมีกระแสข่าวการรัฐประหารในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว
ด้านกลุ่มคนเสื้อแดงก็ออกมาประกาศว่าจะไปชุมนุมที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เพื่อกดดันและสอบถามกองทัพว่าจะมีการรัฐประหารหรือไม่ โดยที่พุ่งเป้าไปยัง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” รองผู้บัญชาการทหารบก กลุ่มคนเสื้อแดงได้หยิบยกเหตุผลในการพุ่งเป้าในครั้งนี้เพราะ เป็นทหารที่ได้รับคำชมจาก พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เนื่องในโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้เข้าไปอวยพร พล.อ.เปรม เนื่องในวันปีใหม่ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2552 ซึ่งพล.อ.เปรม ในชุดทหาร ได้พูดกับ พล.อ.ประยุทธ์ความตอนหนึ่งว่า:
“รู้จักกับพล.อ.ประยุทธ์ มา 20 กว่าปีแล้ว และเข้าใจดีว่าพล.อ.ประยุทธ์ ทำหน้าที่อะไรมาบ้าง โดยเฉพาะการถวายรักษาความปลอดภัยต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หากน้องในกองทัพภาคที่ 1 ทำตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ทำ จะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันที่เรารัก และศรัทธา ด้วยชีวิตของเรา ในกองทัพบกมีตัวอย่างคือ รอง ผบ.ทบ. ที่แสดงให้เห็นว่า ทหารที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ และปฏิญาณต่อธงชัยเฉลิมพลจะต้องทำอะไรที่ดีต่อชาติบ้านเมือง”
ในวันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองผบ.ทบ.ยังมาพร้อมกับ พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาค 1 ที่เติบโตมาจากทหารเสือพระราชินีอีกคน ศูนย์แห่งอำนาจที่ควบคุมทั้ง พล.ร. 1 ร.อ. พล.ร. 2 ร.อ. และพล.ร. 9 ถือเป็นกำลังสำคัญ หากมีการรัฐประหาร ต่อต้านการรัฐประหาร หรือ การรัฐประหารซ้อน
คำพูดของ พล.อ.เปรมที่ว่า “ในกองทัพบกมีตัวอย่างคือ รองผบ.ทบ.” คือข้อความที่มองผิวเผินแล้วเหมือนไม่มีอะไร แต่ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าในกองทัพบกมีตัวอย่างคือ รองผบ.ทบ. แล้ว ผบ.ทบ. และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมซึ่งอดีตก็เคยเป็น ผบ.ทบ. หายไปไหน ?
พล.อ.ประยุทธ์ เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ หัวหน้าสำนักงานประธานองคมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 12 นักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่นที่ 23 รับราชการอยู่ในสาย “ทหารเสือราชินี” มาโดยตลอด เป็นนายทหารที่เจริญก้าวหน้าในหน้าที่ราชการอย่างรวดเร็วตั้งแต่อายุน้อย ปีนี้ย่าง 56 ปี จึงทำให้อาจถูกมองว่าอายุราชการเหลืออีกยาว และยังไม่ต้องรีบ
แต่การส่งสัญญาณชื่นชมว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวอย่างของทหารในกองทัพนั้น ทำให้ลดกระแสข่าวที่มีมาก่อนหน้านี้ว่า พล.อ.พิรุณ แผ้วพลสง เสนาธิการทหารบก 1 ใน 5 เสือเพียงคนเดียวที่เป็นทหารม้าลูกป๋า ในฐานะเตรียมทหารรุ่น 10 เพื่อนร่วมรุ่นกับพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อาจขอแซงโค้งเป็นผู้บัญชาการทหารบกไปก่อนหลังจาก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เกษียณอายุในปี 2553
คำพูดของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่มอบให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “เป็นพิเศษ” ในวันนั้น ยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ น่าจะมีความแตกต่างจากรุ่นพี่คนอื่นๆ ในสายตาของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ผู้ซึ่งถูกนำมาเป็นเป้าหมายหนึ่งที่นักโทษชายทักษิณ และกลุ่มคนเสื้อแดงจะโค่นล้มให้ได้
เหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กลายเป็นเป้าหมายในการสร้างข่าวของคนเสื้อแดงว่าจะเป็นหัวหน้าคณะรัฐประหารชุดใหม่ !
สำหรับประเทศไทย คนที่จะคิดทำรัฐประหารจะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน เพราะทำไม่สำเร็จก็จะกลายเป็นกบฏ ทำสำเร็จก็ต้องพิจารณาด้วยว่าจะอยู่อำนาจได้ต่อไปหรือไม่ และด้วยวิธีใด โดยเฉพาะในสถานการณ์บ้านเมืองที่วุ่นวายสับสนอยู่ในขณะนี้
ทุกวันนี้มีคน“คิด”หรือ “เคยคิด” อยากให้ทหารทำรัฐประหารใน 3 กลุ่ม ซึ่งแตกต่างกัน
กลุ่มแรก พร้อมก่อจลาจล กดดัน ยั่วยุ เพื่อทำให้เกิดการรัฐประหารให้ได้ โดยมีวันพิพากษาคดีความยึดทรัพย์เป็นหลักไมล์แรก โดยคาดหวังว่าการรัฐประหารจะทำให้มีความชอบธรรมในการต่อสู้ได้มากขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนถึงขั้นตั้ง ”รัฐบาลพลัดถิ่น” โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือกดดันเพื่อต่อรองกับ “รัฐาธิปัตย์ชุดใหม่” เพื่อนิรโทษกรรมคดีและความผิดในอดีต หากไม่ได้ผลก็จะอ้างเหตุจากการรัฐประหารใช้ในการปลุกประชาชนและคนเสื้อแดงออกมาโค่นล้มคณะรัฐประหารเพื่อมาลบล้างความผิดและนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองของฝ่ายนักโทษชายทักษิณทั้งหมด
กลุ่มที่สอง อยากให้มีการรัฐประหาร แม้ไม่มีสถานการณ์จากคนเสื้อแดงก็พร้อมสร้างสถานการณ์และเงื่อนไขให้เกิดขึ้น เพื่อต้องการลบล้างความผิดทางอาญาในคดี 7 ตุลาคม 2551 เป็นหลัก โดยหาความชอบธรรมนี้ด้วยการพ่วงการล้างความผิดให้กับคนเสื้อแดง และล้างคดีพันธมิตรฯ แล้วถือโอกาสแสวงหาผลประโยชน์จากการนิรโทษกรรมความผิดให้นักโทษชายทักษิณในเวลาเดียวกัน กลุ่มนี้มีความคิดที่ต้องการทำให้เกิด “รัฐบาลแห่งชาติ” เป็นเป้าหมายสูงสุด นำแสดงโดย “กลุ่มอำนาจใหม่” ซึ่งจะต้องถูกต่อต้านจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประธิปไตยอย่างแน่นอน
กลุ่มแรกและกลุ่มที่สองจึงดูเหมือนมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่อย่างลงตัว !
กลุ่มที่สาม อยากทำการรัฐประหาร เพราะต้องการจัดการกับวิกฤติการณ์ทั้งหมดของประเทศ ก่อนที่ชาติจะเสียหายไปมากกว่านี้ ทั้งการปั่นป่วนจลาจลของคนเสื้อแดง ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างมโหฬาร ปัญหาการบ่อนทำลายความมั่นคง และปัญหาการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมองว่าองค์ประกอบรัฐบาลอ่อนแอเกินไปที่จะยุติวิกฤติของชาติ กลุ่มนี้ก็จะต้องเผชิญหน้ากับคนเสื้อแดงและนักโทษชายทักษิณอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ลำพังเห็นปัญหาที่รออยู่ข้างหน้า ถ้าจะมีใครทำรัฐประหารครั้งนี้ก็ต้องคิดหนักมาก เพราะจะต้องเผชิญความยากลำบากแสนเข็ญและความสลับซับซ้อนกว่าการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เหล่าเท่า จะมาหน่อมแน้ม เกียร์ว่างก็คงอยู่ไม่รอด !
เพราะรัฐประหารครั้งนี้ไม่ง่าย จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์การขัดขวางคดีเข่นฆ่าทำร้ายประชาชนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ในทุกรูปแบบ ทั้งการวิ่งเต้นผ่านอัยการ หรือการใช้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ มาฟอกความผิดและลบล้างการชี้มูลความผิดของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อช่วยเหลือ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ด้วยความที่ไม่ต้องการรัฐประหาร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงได้แสดงความกล้าหาญในการตัดสินใจไปแล้วหลายเรื่อง ทั้งการยึดกฎเหล็ก 9 ข้อ ปรับคณะรัฐมนตรี ยกเลิกหวยออนไลน์ ไม่อ่อนตามมติของข้าราชการตำรวจ ที่อุ้ม 3 นายพลตำรวจ และหักพรรคร่วมรัฐบาลด้วยมติของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่สนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ทั้งหมดนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อาจกำลังพิสูจน์ให้คนที่คิดจะรัฐประหารในกลุ่มที่สาม ได้ทราบว่า นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งก็สามารถแก้ไขวิกฤติได้ โดยไม่ต้องรัฐประหาร
สถานการณ์ทางการเมือง พลิกขั้ว ยุบสภา เจรจาพรรคร่วมรัฐบาลแล้วปล่อยให้โกงมากขึ้น หรือปฏิวัติ ยังคงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาสถานการณ์แบบวันต่อวัน