กระแสข่าวการรัฐประหารที่เกิดขึ้น สร้างความหวั่นวิตกให้กับคนไทยไม่น้อย กระทั่งกลายเป็นหัวข้อสนทนาที่สำคัญของบ้านเมืองถึงความเป็นไปได้ว่า มีโอกาสมากน้อยเพียงใด และถ้าหากมีการทำจริง ใครจะเป็นคนลงมือ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ มีโอกาสได้สนทนากับ พล.อ. สนธิ บุญรัตกลิน หัวหอกคนสำคัญในการทำรัฐหาร 19 ก.ย. 2549 ที่แม้ปัจจุบันจะหันมาเล่นการเมืองในบทหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ แต่เรื่องราวของกองทัพยังอยู่ในสายเลือด วันนี้พล.อ. สนธิ จะมาเปิดใจถึงเรื่องดังกล่าวในทุกแง่มุม
-กระแสข่าวล่าสุดเรื่องการปฏิวัติ รัฐประหารที่ออกมาแรงในช่วงนี้ ท่านมองว่ามันมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แล้วทำไมพรรคเพื่อไทยถึงพยายามออกมาจุดกระแสมากขึ้นในช่วงนี้
หน้าที่กองทัพ คือการรักษาความมั่นคงภายใน อันนี้เป็นหน้าที่ของเขา ดังนั้นเมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤติ เหมือนกับเกิดความไม่มั่นคงภายใน ความไม่มั่นคงทางการเมืองเกิดความขัดแย้ง เกิดการเคลื่อนไหว มันถือเป็นเรื่องของความมั่นคง ซึ่งกองทัพก็มีหน้าที่ต้องรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน ดังนั้นทำอย่างไร คือบทบาทเขามีแน่นอน มันสามารถที่จะทำให้ใครที่กังวลอยู่นี่กลัวว่าจะมีการใช้กำลังทหาร ก็พยามปราม การพูดนี่คือการปราม อย่ามานะ อีกอย่างการพูดทำให้ระแสของอีกฝ่ายเกิดคล้ายๆ แรงกระตุ้น เกิดแรงจูงใจ ปลุกกระแสความรู้ที่จะต่อต้านเกิดขึ้นได้ ดังนั้นอย่างที่พูดออกมามันก็เป็นผลประโยชน์ของกลุ่ม ซึ่งมันเป็นไปได้อยู่แล้ว แต่แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้หลายอย่างมันเป็นผลประโยชน์เขาถึงพูดออกไป
-แล้วจริงๆ โอกาสรัฐประหารมีหรือไม่
ถ้าผมเป็นผบ.ทบ.ในขณะนี้ มองสถานการณ์ว่าน่าจะยังไม่มี ไม่มีปัจจัยคงยาก คงลำบาก ถ้าจะทำก็ต้องคิดให้ดี
-ทำไมมีชื่อท่านไปเกี่ยวข้อง
ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน เขาคงจะสนุก คือนึกชื่ออะไรไม่ออกก็เอาชื่อพล.อ. สนธิ ไว้ก่อน ชื่อนี้รู้สึกมัน ตื่นเต้นดี ไม่เกี่ยวกับผมหรอก เอากำลังที่ไหนมา
-จะมีใครกล้าทำรัฐประหารหรือไม่
คนจะทำมีได้กี่คน คนเดียว! ก็ต้องดูไป
-โอกาสที่จะเกิดมีหรือไม่
เราก็ไม่รู้ วันข้างหน้าใครจะไปรู้ได้ว่าประชาชนเกิดความเบื่อหน่ายสุดๆ ขึ้นมา แล้วก็พร้อมกันในการที่จะทำการปฏิวัติโดยประชาชน Flower revolution มันเกิดขึ้นมาเยอะแยะไป แม้ในประเทศฟิลิปปินส์ยังเคยเกิด Flower revolution ปฏิวัติโดยประชาชน ทหารต้องสนับสนุนการปฏิวัติของประชาชน เพราะฉะนั้นมันเกิดได้ เพียงแต่เรารู้จักใช้ตรงนี้ให้มันเป็นประโยชน์ ในสมัยที่เกิดในฟิลิปปินส์ ผู้นำที่จะปฏิวัติ เขาเป็นคนที่เคารพและศรัทธาของประชาชนทั้งประเทศ ฝ่ายที่ถูกปฏิวัติคือเผด็จการหรือปกครองอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ซื่อสัตย์สุจริต โลกต่อจากนี้ไปที่จะปฏิวัติได้ ในประเทศที่เจริญแล้วคือปฏิวัติโดยประชาชน รวมทั้งไทยด้วย ถ้าประชาชนไม่หนุนหลังไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นได้
-สถานการณ์ที่เกิดในกองทัพ จากการยิงระเบิด M 79ใส่ผบ.ทบ. กระทบกระเทือนต่อภาพลักษณ์ของกองกองทัพ โดยเฉพาะตัวของพล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา มากน้อยแค่ไหน
จริงๆ ในภาพรวมกองทัพ มันต้องวางตัวให้เป็นกลาง เป็นที่พึ่งของประชาชนให้ประชาชนรักใคร่ ถ้าเผื่อเรามีวัตถุประสงค์ตรงนี้แล้ว มันจะเกิดอะไรขึ้นมาเราต้องพยายามทำให้ถูกวัตถุประสงค์ ถ้าเผื่อว่าเราเอนไปข้างใดข้างหนึ่ง มันก็จะเกิดให้มีศัตรูของอีกฝ่ายหนึ่ง ทีนี้สิ่งที่เกิดขึ้นก็ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่อย่างไรก็ตามตัวกองทัพเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการบริหารปกครองประเทศ นี่เป็นวัตถุประสงค์อันหนึ่งในหน้าที่ แต่ไม่ได้หมายความว่ากองทัพเป็นเครื่องมือของนักการเมือง ต้องแยกกันให้ออกระหว่างเป็นเครื่องมือของรัฐบาล กับเครื่องมือของนักการเมือง
ดังนั้น ตัวกองทัพเองต้องยืนในสิ่งที่ตัวเองยืน และยืนอย่างไรที่จะเกิดผลประโยชน์ เพราะเราทำหน้าที่เพื่อ พิทักษ์ราชบังลังก์ ป้องกันประเทศ รักษาความมั่นคงภายใน เรามีหน้าที่อย่างนี้ ดังนั้นการที่กองทัพจะยืนตรงจุดใดก็ตาม ต้องรู้ว่าที่ปฏิบัติไปนั้นมันถูกต้องวัตถุประสงค์ของกองทัพหรือไม่
-กำลังมองว่าตัวผบ.ทบ ไม่เป็นไปตามที่กล่าวมา
(ตอบสวนว่า) ไม่ เราพูดถึงหลักการว่าต้องเป็นอย่างนั้น
-เหตุการณ์ดังกล่าวมีนัยสำคัญที่น่าเป็นห่วงหรือไม่
เมื่อมันเกิดอย่างนี้ขึ้นมา ปัญหาคือว่า ผลกระทบของปัญหา มันแน่นอนว่ามีคนรักมากขึ้น หรืออาจจะคนไม่รักมาก ไม่ชอบมากขึ้น แน่นอนว่าจะทำให้กองทัพไม่เป็นที่รักและศรัทธาของประชาชน แต่มากน้อยเท่าไหร่เราคงตอบไม่ได้ แต่ก็ต้องเข้าใจว่า ปัญหาความขัดแย้งมันมีทั้งความขัดแย้งส่วนตัว ความขัดแย้งทางการเมือง เราต้องแยกแยะว่ามันเป็นความขัดแย้งส่วนตัวรึเปล่า
-เท่าที่ท่านติดตามสถานการณ์ในกองทัพ ทหารของกองทัพบกยังคงมีเอกภาพ หรือแตกเป็นก๊กเป็นเหล่าอย่างที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กัน
(นิ่งไปพักหนึ่ง) ด้วยๆ สายการบังคับบัญชาไม่น่าจะทำให้เกิดการแตกแยกของกองทัพ แต่ ถามว่าผู้ใต้บังคับบัญชารัก ศรัทธา ผู้บังคับบัญชา 100 เปอร์เซ็นต์ไหม คงไม่ใช่ ใครที่เสียผลประโยชน์หรือใครที่ไม่ได้อย่างที่หวังก็อาจจะไม่ชอบ มันปกติของการบริหารอยู่แล้วไม่ว่าจะองค์กรกองทัพ หรือเอกชนก็เหมือนกัน ความรักและความสามัคคีภายในมาจากความเป็นธรรม คุณธรรม ความมีจริยธรรมของผู้ปกครอง ผู้บริหาร ถ้ามันมีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น แน่นอนว่าความสามัคคีมันจะเกิดขึ้นสูง ถ้ามันไม่มีคุณธรรม จริยธรรม แน่นอนว่าสังคมนั้นมันก็จะไม่รักไม่สามัคคีกันทั้งหมด
-ท่านมองว่าพล.อ. อนุพงษ์ ควรจะมีท่าทีอย่างไรในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ผมคิดว่าท่านรู้ว่าต้องแก้ไขอย่างไร แต่ก็ต้องใจเย็นรอบคอบ และก็ทำอย่างไรก็แล้วแต่ให้สังคมเป็นหนึ่งเดียว เป็นหน้าที่ของตัวผบ.ทบ เอง เหมือนบ้านเมืองมีความขัดแย้งกัน คนแก้ปัญหาต้องเป็นผู้ปกครองหรือรัฐบาลต้องแก้ปัญหาความขัดแย้งให้เกิดความรักสามัคคี
-กรณีของพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ควรจะจัดการยังไง
คือลักษณะของเสธ. แดง เขาเป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว มีอะไรเขาก็เป็นคนที่เปิดเผยพูดอะไรตรงไปตรงมา แบบทหารอาชีพอย่างในสมัยก่อน เรียกว่าเป็นบุคลิกของเขา และเราก็ต้องรู้ด้วยว่าใครเป็นผู้ปกครอง อย่างผมในสมัยที่เป็นผบ.ทบ. ก็ทราบนิสัยเขาอยู่ เราก็ต้องให้เป็นเอกลักษณ์พิเศษเขาไป เราต้องยอมรับตรงนั้นทำอย่างไรถึงจะใช้เสธ.แดงให้เป็นประโยชน์ก็แค่นั้น เมื่อก่อนมีการปล้นปีน 4 ม.ค. 47 ที่ภาคใต้ เสธ.แดงก็สามรถไปเอาข้อมูลอะไรต่างๆ มาให้เราได้ นี่คุณลักษณะพิเศษของเสธ.แดง คุณลักษณะคนแต่ละคนมันก็มีหน้าหัวคือหน้าเก่ง เราก็เอาหน้าเก่งเข้ามาใช้ บางคนก็หน้าก้อยที่มันไม่ค่อยถนัด เราก็อย่าไปใช้หน้าก้อยเขา เราก็ไปใช้หน้าหัวที่เขาถนัด นี่คือหลักบริหารจัดการ ดังนั้นเสธ.แดงเขาเป็นคนอย่างนี้ ก็ต้องใช้ที่เขาถนัด ถ้ารู้ว่าหน้าก้อยมันไม่ดี มันไปกระทบเข้ามันก็กระดอนกลับมาสิ อันนี้ก็ต้องเป็นศิลปะในการปกครอง
-สถานการณ์ที่ใกล้ตัดสินในคดียึดทรัพย์ มองว่ากลุ่มคนเสื้อแดงจะเคลื่อนไหวรุนแรงหรือไม่
ถ้าถามผมนะ อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัวที่วิเคราะห์ตามเหตุตามผล การตัดสินคดีก็เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรม บ้านเมืองเรามีกฎหมายมีขื่อมีแปอยู่ ยิ่งพ.ร.บ.ความมั่นคงเป็นกฎหมายที่จะจัดระเบียบทางสังคมได้ ใครก็ตามที่มาเคลื่อนไหวทำให้เกิดความไม่สงบ ไม่เรียบร้อย กฎหมายตัวนี้สามารถลงโทษได้ชัดเจน ดังนั้นใครจะมานำกำลังเดินขบวนมาสร้างปัญหาก็ต้องคิดหน้าคิดหลังให้ดี ถ้าไม่อย่างนั้นผู้นำในการเดินขบวนก็จะมีปัญหา กฎหมายบอกไว้เลย
-มองคำพิพากษายังไง เพราะหนึ่งในเหตุผลตอนที่ท่านทำรัฐประหารก็มีเรื่องนี้
การที่ทางคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข( คปค.) เมื่อก่อนไม่ได้ใช้อำนาจของ (คปค.) ผมถือว่าเป็นการให้ความเป็นธรรมตามกระบวนการยุติธรรมแล้ว ผมให้ทางคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นผู้เข้ามาดำเนินการแล้ว และคตส.เองจะทำอะไรก็ต้องระวัง ถ้าเผื่อเราจะไปทำให้มันเป็นเท็จยังไงก็ตามมันพิสูจน์ได้ ดังนั้นคตส. ก็ต้องสร้างความเป็นธรรม หรือทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจิตแห่งชาติ (ปปช.) ก็ต้องสร้างความเป็นธรรมในการตัดสิน ตัวบทกฏหมายทุกคนก็ต้องสร้างความเป็นธรรม เพราะฉะนั้นกระบวนการที่จะยึดทรัพย์ในไทย เราให้ความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายแล้ว