xs
xsm
sm
md
lg

ปราบ"ขอทาน" - กำจัด"แก๊งค้ามนุษย์"

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ในความมีน้ำใจ เอื้ออารีย์ต่อเพื่อนมนุษย์นั้น ต้องนับว่า "คนไทย" ค่อนข้างมีความอ่อนไหวต่อเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก จึงไม่แปลกที่ตั้งแต่จำความได้มาตั้งแต่เด็ก ไม่ว่าไปไหนมาไหน ก็จะพบ"ขอทาน"อยู่แทบทุกหนทุกแห่ง ทั้งตามร้านค้าย่านตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวัด เพราะก้นบึ้งในความรู้สึกของคนไทยนั้น นอกเหนือจากการ"ทำบุญ"แล้ว ยังต้องเสริมด้วยการ"ทำทาน"ด้วย

เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ภายใต้การนำของพล.ต.ท.วุฒิ ลิปตพัลลภ ผบช.สตม. ได้แถลงการจับกุมขอทานทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้ทั้งสิ้น 557 คน เป็นชาย 220 คนและหญิงอีก 337 คน จากแหล่งทำกินต่างๆอาทิ สะพานลอย สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โดยทั้งหมดล้วนเป็นชาวกัมพูชาทั้งสิ้น โดยในเบื้องต้น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง และประธานคณะกรรมการประสานและกำกับการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปกค.) ระบุว่า ขอทานทั้งหมดเป็นชาวกัมพูชา ที่ลักลอบเข้าอยู่ในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย และมีความเชื่อมโยงกับขบวนการค้ามนุษย์ ที่มีทั้งชาวไทยและคนต่างด้าวร่วมกันแสวงหาผลประโยชน์ การจับกุมในครั้งนี้ เป็นนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้นการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวและขจัดขบวนการค้ามนุษย์ ซึ่งแฝงเข้ามาในรูปแบบของแรงงานต่างด้าว โดยก่อนหน้านี้ มีผู้ร้องเรียนว่า พบชาวต่างด้าวแฝงตัวเข้ามาขอทานอยู่ตามจุดต่าง ๆ ภายในกรุงเทพมหานครจำนวนมาก และขอทานเหล่านี้ สร้างความเดือดร้อนรำคาญต่อประชาชน และทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเสียหาย

พล.ต.ท.วุฒิ ลิปตพัลลภ ผบช.สตม. เปิดใจถึงการเอาจริงเอาจังในการปราบปรามการค้ามนุษย์ในรูปแบบ"ขอทาน"กับทีมงาน ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ว่า เริ่มแรก ต้องแยกก่อนว่า ปกติขอทานจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มขอทานที่เป็นคนไทย กลุ่มนี้กฎหมายเขาเรียกว่าพระราชบัญญัติขอทาน ถ้าจับกุมแล้วก็ส่งสถานสงเคราะห์ก็จบกันไป กลุ่มที่ 2 เป็นขอทานที่ไม่ใช่คนไทย ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอทานที่มาจากกัมพูชา เนื่องจากว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่คนไทย ก็มีสถานะที่เราเรียกว่า คนลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย คนเหล่านี้เมื่อเข้ามาแล้วไม่ได้ทำประโยชน์อะไรให้กับประเทศ และยังมาเป็นขอทานอีก ที่สำคัญคือก่อให้เกิดปัญหามากมาย อันดับ 1 คือเกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อประเทศ เพราะประเทศเราเป็นประเทศท่องเที่ยวต้องการสื่อในด้านการท่องเที่ยว 2.กระทบต่อการจัดระเบียบสังคม เวลาไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น ตามสะพานลอย สถานีขนส่ง จตุจักร ก็มักจะเห็นขอทาน และ3.กระทบต่อการบังคับใช้กฎหมาย คนเหล่านี้นอกจากจะลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายแล้วก็ยังมากระทำผิดกฎหมายโดยการเป็นขอทานอีก

"ในฐานะของ ผบช.สตม.พิจารณาเห็นแล้วว่าปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถปล่อยไว้ได้ จึงวางแผนและดำเนินการจับกุม 2 วัน พร้อมกันทั้งประเทศ คือวันเสาร์ที่ 8 ม.ค. และวันอาทิตย์ ที่ 9 ม.ค. 53 จับได้ประมาณ 700 กว่าคน แต่ที่นำมาแถลงข่าวเพียงแค่ 570 คน เนื่องจากที่เหลือเป็นเด็กจึงไม่ได้นำมาแถลงเพราะเกรงว่าจะกระทบต่อสิทธิมนุษยชน และหลังจากนี้จะต้องดำเนินการต่อไปอย่างแน่นอน"พล.ต.ท.วุฒิกล่าวและว่า นาทีนี้ กลุ่มขอทานเป็นคนต่างด้าวมากกว่า แต่ยังไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่ชัดได้ ซึ่ง 90 เปอร์เซ็นต์ มาจากกัมพูชา เดินทาเข้ามาทาง ต.คลองหาด อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ตรงข้ามกับปอยเปต , จ.ศรีโสภณ ประเทศกัมพูชา และอีกหลายช่องทาง

ผู้บัญชาการสำนักตรวจคนเข้าเมืองยังระบุถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของ"ขอทาน"ต่างด้าวกลุ่มนี้ว่า เท่าที่ตรวจสอบ ยังไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐหรือตำรวจเกี่ยวข้อง แต่การเดินทางเข้ามาของขอทานมี 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มที่เข้ามาโดยสภาพตัวเขาเอง เช่นคนพิการ เพื่อต้องการความอยู่รอดเนื่องจากความยากจน ก็ต้องมาขอทานจึงลักลอบเข้ามาขอทานโดยการเดินทางเข้ามาผ่านทางช่องทางธรรมชาติ คือ ภูเขา แม่น้ำ และอีกกลุ่มหนึ่ง คือมีการนำพาเข้ามาซึ่งก็ต้องแยกเป็น 2 ส่วนอีก คือ 1.นำพาเข้ามาแล้วปล่อยทิ้งเอาไว้เลย 2.นำพาเข้ามาแล้วมาเก็บผลประโยชน์จากขอทาน กลุ่มที่เข้ามาด้วยตัวเองก็เนื่องจากยากจน กลุ่มนี้มาแล้ว ปัญหาที่ประเทศไทยต้องเผชิญคือปัญหาด้านสาธารณสุข บางทีก็มาแพร่เชื้อโรค ส่วนกลุ่มที่มีคนนำพาเข้ามาก็มีทั้งคนไทยนำพาเข้ามาและคนจากประเทศเพื่อนบ้านนำพาเข้ามา และยังมีอีกกลุ่มเป็นกลุ่มที่ 3 คือกลุ่มที่พาขอทานเข้ามาแล้วตกเย็นก็มาเก็บเงินจากขอทาน กลุ่มนี้เรียกว่า “ค้ามนุษย์” ขณะนี้กลุ่มที่จับมาอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนว่ามีเรื่องของแก๊งค้ามนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ซึ่งหลังจากที่มีการจับกุมกลุ่มขอทานมาก็พบว่า ขอทานหลายสถานที่หายไปมาก ไม่มีขอทานมานั่งอยู่ตามสะพานลอยในบางแห่ง

ในการวางแผนกวาดล้าง"ขอทาน"อย่างจริงจังในอนาคตนั้น พล.ต.ท.วุฒิระบุว่า เราจะดูว่า พี่น้องประชาชนเดือดร้อน ถ้าในความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนอยู่ในระดับที่กระทบต่อการจัดระเบียบสังคมมากเท่าไหร่ กระทบต่อความเป็นอยู่ กระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ เราจะกวาดล้างจับกุมอีกแน่นอน แต่เรื่องการกวาดล้างจับกุมหลักๆแล้วไม่ใช่หน้าที่ของ สตม.เพียงอย่างเดียว ยังเป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่นั้นๆด้วย ไม่รู้ว่าปล่อยให้มีขอทานอยู่ได้อย่างไร ใครดูแลสะพานลอยเหตุใดจึงปล่อยให้ขอทานมานั่งอยู่ ใครดูแลสถานีขนส่ง ใครดูแลสวนสาธารณะ แต่ถ้าอีกสักระยะเราพิจารณาแล้วเห็นว่าก่อความเดือดร้อนรำคาญจนกระทบกระเทือนก็จะกวาดล้างจับกุมอย่างเข้มงวดมากกว่าเดิม

ในส่วนของการป้องกันไม่ให้กลุ่มขอทานกลับเข้ามาอีกนั้น ตรงนี้ เป็นเรื่องของการสกัดกั้น ปกติพอจับกุม เราก็ส่งตัวผลักดันออกนอกประเทศไป ขั้นตอนต่อไปคือการสกัดกั้น การสกัดกั้นก็มี 2 ทาง คือไม่ให้เข้าตามช่องทางปกติตามด่านต่างๆ ซึ่งไม่สามารถกลับเข้ามาได้แน่นอน เพราะก่อนที่จะส่งตัวกลับไป เราได้ทำการพิมพ์ลายนิ้วมือถ่ายรูปเอาไว้หมดแล้ว ที่เหลือคือไม่ให้เข้าตามช่องทางธรรมชาติ ภูเขา แม่น้ำ ในส่วนนี้จะมีหน่วยงานที่เรียกว่า อนุกรรมการสกัดกั้น ดูแลอยู่ และยังมีทหาร มีฝ่ายปกครองตำรวจ ซึ่งตำรวจก็มีทั้ง ตชด. ที่ช่วยกันดูแล

แม้ภาพของการกวาดล้างจับกุม"ขอทาน" อาจจะส่งผลกระทบกระเทือนจิตใจผู้พบเห็นบ้าง แต่นั่น คือการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ เป็นการกำจัด"แก๊งค้ามนุษย์" ที่แฝงมาในรูปลักษณ์แห่"ความสงสาร" แต่ข้อเท็จจริง แก๊งเหล่านี้ ขายความสงสาร บนคราบน้ำตาและแรงงานของ"ขอทาน"นั่นเอง


เสธ.หนั่น พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ร่วมแถลงข่าวจับแก๊งเขมรขอทาน พร้อมดูอุปกรณ์การทำมาหากินของขบวนการดังกล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น