xs
xsm
sm
md
lg

มูลนิธิฯฟ้องศาลปกครองโทลล์เวย์ขึ้นราคาสุดโหด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเตรียมฟ้องขึ้นราคาโทลล์เวย์ 3 ก.พ.นี้ เหตุขึ้นราคามหาโหด 40% ประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองจากรัฐและเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 61

วานนี้ (27 ม.ค.) นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า ในวันที่ 3 ก.พ.ที่จะถึงนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภครวมทั้งประชาชนผู้เดือดร้อน จะยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง กรณีการขึ้นราคามหาโหดของทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์ จาก 55 บาท เป็น 85 บาท ซึ่งเป็นการขึ้นราคามากกว่า 40% ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก และเป็นการแสดงให้เห็นว่าประชาชนไม่ได้รับการคุ้มครองจากหน่วยงานของรัฐอย่างพอเพียง และเป็นการกระทำที่ขัดต่อ เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญฯ 2550และขัอต่อกฎหมาย

นางสาวสารี กล่าวต่อว่า การตัดสินใจขึ้นราคาตามใจชอบของโทลล์เวย์ แสดงให้เห็นว่าประชาชนขาดกลไกการมีส่วนร่วมในบริการสาธารณะที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ในรัฐธรรมนูญได้มีเจตนารมณ์อย่างชัดเจนนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฯ 2540 มาตรา 57 และรัฐธรรมนูฯ 2550 มาตรา 61 ให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผุ้บริโภค ที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้ความเห็นต่อ กฏหมาย มาตรการ และนโยบายที่จะสร้างผลกระทบต่อผู้บริโภค

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วยเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค มีกำหนดการจะเข้าพบนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ในวันที่ 28 ม.ค. นี้ เพื่อให้พิจารณากฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งไม่ได้ถูกพิจารณาในการประชุมของสภาผู้แทนในสมัยนิติบัญญัติที่ผ่านมา หลังจากเข้าพบพร้อมยื่นจดหมายต่อประธานรัฐสภา มูลนิธิผู้บริโภคและเครือข่ายจะไปแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการขึ้นราคาโทลล์เวย์ที่กระทรวงคมนาคม เวลา 11.30 น. ในวันเดียวกัน

“แม้รัฐธรรมนูญฯ ได้แสดงความจำนงอย่างชัดเจนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นผ่านองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคมา 12 ปีแล้ว แต่ พ.ร.บ.องค์การอิสระผู้บริโภค ยังไม่เป็นจริง ในระหว่างนั้นได้เกิดปัญหาและความเสียหายต่อผู้บริโภคทั่วประเทศ อย่างรุนแรง มากมาย และต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะขาดกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ” เลขาธิการมูลนิธิฯ สะท้อนสภาพปัญหาที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญฯ 2550 มาตรา 61 ระบุว่า “สิทธิของบุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครองในการได้รับข้อมูลที่เป็นความจริง และมีสิทธิร้องเรียนเพื่อให้ได้รับการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย รวมทั้งมีสิทธิรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

“ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานรัฐในการตรวจสอบและการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระดังกล่าวด้วย”
กำลังโหลดความคิดเห็น