xs
xsm
sm
md
lg

ภาค ปชช.แบนถก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ป่วย อ้างให้เวลาน้อย เสนอ “วิทยา” ประชาพิจารณ์ใหม่ก่อนบังคับใช้ หวั่นปัญหาไม่จบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เครือข่ายผู้ป่วย-มูลนิธิผู้บริโภค แบนประชุมรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.เสริมสร้างความสัมพันธ์ฯ เหตุไม่ได้รับความเป็นธรรม แบ่งให้ฝ่ายผู้ป่วยแสดงความเห็นแค่ 30 นาที ขณะที่ให้เวลาหมอไม่จำกัด แถมเปลี่ยนแปลงสารสำคัญของกฎหมาย เสนอ “วิทยา” จัดประชาพิจารณ์ใหม่อีกรอบ ลั่นหากปล่อยเลยจน พ.ร.บ.บังคับใช้ ปัญหาแพทย์-ผู้ป่วยไม่จบ

วันนี้ (27 พ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้จัดการกระชุมสัมมนา เรื่อง “การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ...” โดยเชิญผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยสภาวิชาชีพต่างๆ ผู้แทนสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน ผู้แทนจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด(สสจ.) เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ปรากฏว่า เครือข่ายผู้เสียหายฯ และมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคไม่เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้

นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กล่าวว่า การที่เครือข่ายผู้เสียหายฯ และมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคไม่เข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าการจัดประชุมไม่มีความเป็นธรรม โดยเปิดเวทีให้ฝ่ายผู้เสียหายได้ชี้แจงข้อมูล ข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพียง 30 นาทีในช่วงของการซักถามก่อนการปิดการประชุมเท่านั้น ขณะที่ฝ่ายผู้ให้บริการกลับได้รับเวลาตลอดทั้งวันในการชี้แจง ทั้งที่ การประชาพิจารณ์ในเรื่องนี้ควรจะให้ทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน ดังนั้น เครือข่ายประชาชนเสนอให้นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นใหม่ โดยเปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายได้ชี้แจงเท่าเทียมกัน

นางปรียนันท์ กล่าวต่อว่า ร่าง พ.ร.บ.ที่นำมาทำการประชาพิจารณ์นั้น มีการเปลี่ยนแปลงแนวคิดสำคัญของร่างฉบับเดิมหลายประการ ที่สำคัญ ได้แก่ 1.การเปลี่ยนชื่อกฎหมาย จาก “ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ... ” เป็น “ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข พ.ศ. ...” ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงเจตนารมณ์ และหลักการของร่างกฎหมายที่ผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีแล้ว จากที่มุ่งเน้นการชดเชยความเสียหายเพื่อเยียวยาความเดือดร้อนของผู้เสียหาย เป็นมุ่งเน้นการสร้างเสริมความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ โดยลดทอนความสำคัญของการชดเชยความเสียหายลงไป

2.ขั้นตอนการไกล่เกลี่ย หลักการดำเนินการเดิมมุ่งเน้นการชดเชยความเสียหายจากการรับบริการสาธารณสุขอย่างรวดเร็ว และเป็นธรรมโดยไม่ต้องพิสูจน์ความรับผิด แต่กลับมีการปรับเพิ่มกระบวนการไกล่เกลี่ยให้มากขึ้น 3.ร่างเดิมเสนอให้มีสำนักงานคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นหน่วยงานอิสระปรับ มีการปรับแก้ใหม่ให้สำนักงานหมายถึงกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ที่อยู่สังกัด สธ.ทั้งนี้ เครือข่ายฯเห็นว่า หากไม่สามารถตั้งสำนักงานให้เป็นอิสระได้ก็ควรกำหนดให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้รับผิดชอบไปก่อน เนื่องจากมีประสบการณ์ในการช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายจากการให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และ สปสช.ไม่ใช่ผู้ให้บริการ

4.ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย โดยเพิ่มสัดส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพที่เป็นฝ่ายของผู้ขัดแย้งมากขึ้น ซึ่งในอนาคตอาจจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินการจ่ายเงินชดเชย จึงเสนอให้มีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นที่ยอมรับทั้ง 2 ฝ่ายเข้ามาเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นพร้อมกับปรับลดสัดส่วนของฝ่ายผู้ป่วยและผู้ประกอบวิชาชีพให้เหลือเพียงแค่ฝ่ายละ 2-3 คนเท่านั้น และ 5.สิทธิกรณีผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาล ร่างเดิมหากผู้เสียหาย หรือทายาทฟ้องคดีต่อศาล ให้ยกเลิกการพิจารณาคำร้อง แต่ในร่างใหม่ให้ยุติการดำเนินการและตัดสิทธิที่จะยื่นคำขอตามสิทธิ พ.ร.บ.นี้อีก

“การจะออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วย ควรจะฟังและให้เกียรติพวกเราซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของผู้ป่วยและผู้บริโภคทั้งประเทศบ้าง ไม่ใช่ไม่เห็นหัวข้ามไปข้ามมา และเชื่อมั่นว่าหาก พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้โดยที่ยังไม่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาบางส่วน จะไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ เนื่องจากการที่ให้สำนักงานที่เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้อยู่ภายใต้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพที่อยู่สังกัด สธ.ซึ่งถือเป็นผู้ให้บริการหลัก ไม่ช้าไม่นานหน่วยงานนี้ ก็จะถูกครอบงำจากฝ่ายให้บริการเพราะเป็นพวกเดียวกัน ก็จะกลับสู่จุดเดิมที่ผู้ป่วยไม่ได้รับการช่วยเหลือคุ้มครองที่เป็นธรรม ปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ป่วยและแพทย์ก็ไม่มีทางจบ”นางปรียนันท์ กล่าว

ด้านนายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สธ.กล่าวว่า ขั้นตอนการออก พ.ร.บ.ไม่ได้สิ้นสุดที่การประชาพิจารณ์แต่จะต้องนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรให้มีความเห็นชอบ เพราะฉะนั้น ทุกฝ่ายจะต้องช่วยกันแก้ปัญหา หากฝ่ายผู้ป่วย ผู้เสียหาย หรือผู้บริโภคต้องการอย่างไรให้เสนอมาตนจะดำเนินการให้ แต่การปฏิเสธไม่เข้าร่วมประชุมไม่ใช่ทางแก้ปัญหา

“ไม่อยากให้นักเคลื่อนไหวที่เป็นเหมือนพื่อนๆ พี่ๆน้องๆของผม พูดว่าผมเปลี่ยนสีเปลี่ยนธาตุ แต่ทุกอย่างที่ผมดำเนินการเกิดจาการเห็นช่องวางที่มีการเผชิญหน้าระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ จึงต้องทำในสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะหากปล่อยให้ความขัดแย้งยังคงดำเนินต่อไป แพทย์ก็จะไม่กล้ารักษา บริการที่ประชาชนควรจะได้รับก็จะค่อยๆถอยหลังลง คนที่เสียหายมากที่สุด คือประชาชน”นายวิทยา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น