xs
xsm
sm
md
lg

ค้านปตท.ขึ้นค่าบริการผ่านท่อส่งก๊าซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เครือข่ายผู้บริโภคคัดค้านการขึ้นค่าบริการผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้กับ ปตท. ส่งผลกระทบประชาชนรับภาระค่าไฟฟ้า สูงถึง 4,500 ล้านบาทต่อปี ย้ำ ปตท. ไม่มีสิทธิ์นำค่าใช้จ่ายการลงทุนระบบท่อส่งก๊าซมาคำนวณเป็นฐานรายได้ของตัวเองเพราะคำพิพากษาศาลฯ ชี้ทรัพย์สินที่ใช้อำนาจมหาชนและเงินลงทุนของรัฐก่อนแปรรูปเป็นสมบัติของแผ่นดิน

วานนี้ (9 มี.ค.) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมด้วย นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม และนายสุวิช วัฒนารมย์ เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตก ร่วมกันแถลงข่าวคัดค้านการปรับขึ้นค่าบริการผ่านท่อส่งก๊าซธรรมชาติหรือค่าผ่านท่อก๊าซที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติอนุมัติให้ปรับเพิ่มขึ้นจาก 17.74 บาทต่อล้านบีทียู เป็น 21.76 บาทต่อล้านบีทียู หรือปรับเพิ่มขึ้น 2.02 บาทต่อล้านบีทียู
นางสาวสารี กล่าวว่า บริษัท ปตท. ได้เสนอขอคิดค่าผ่านท่อก๊าซเพิ่มเติมอีกทั้งๆ ที่อัตราที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบันก็เป็นอัตราที่สูงเกินควรและเป็นภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนถึง 4,500 ล้านบาทต่อปี และที่สำคัญคือ ท่อก๊าซฯเหล่านี้ไม่ใช่ของ ปตท. ตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ดังนั้นทาง กกพ. ไม่ควรทำตัวเป็นตรายางอนุมัติปรับขึ้นค่าบริการผ่านท่อให้ปตท.เพิ่มอีก และความจริงแล้วควรจะลดลงด้วยซ้ำ
“การปรับขึ้นค่าท่อก๊าซซึ่ง กกพ. ได้ให้ความเห็นชอบไปแล้ว เป็นการคิดค่าบริการที่ไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมสำหรับประชาชนเป็นอย่างยิ่ง มีการเอาเงินลงทุนที่เป็นของรัฐมาคำนวณเป็นต้นทุนของ ปตท. หรือไปเอาโครงการท่อก๊าซในอนาคตที่ไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความต้องการพลังงานที่แท้จริงมาคำนวณด้วย ถือเป็นสูตรการคำนวณค่าบริการที่เอารัดเอาเปรียบประชาชนเป็นอย่างมาก ถ้าถอดปัจจัยเหล่านี้ออกไปจากสูตรการคำนวณ คิดว่าค่าท่อก๊าซจะต่ำกว่าที่เก็บอยู่ในปัจจุบันด้วยซ้ำ จึงอยากจะเรียกร้องให้ประชาชนลุกขึ้นมาคัดค้านการประกาศใช้อัตราค่าผ่านท่อดังกล่าว เพราะสุดท้ายจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่เก็บจากประชาชนต้องขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นางสาวสารีกล่าว
เลขาธิการมูลนิธิผู้บริโภค กล่าวต่อว่า การปรับขึ้นค่าบริการท่อก๊าซฯครั้งนี้ ทาง กกพ. ใช้วิธีเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนผ่านอินเทอร์เนต โดยกำหนดให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 16 มี.ค.นี้ ทั้งที่เรื่องดังกล่าวประชาชนยังขาดความเข้าใจและขาดข้อมูล การเปิดรับฟังความเห็นจึงมีข้อสังเกตว่าเป็นเพียงการสร้างภาพว่าได้เปิดรับฟังแล้วเท่านั้น
นางสาวสารี กล่าวต่อว่า ตามที่ ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 50 ให้แบ่งแยกทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในส่วนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมและอำนาจมหาชนของรัฐ จากปตท. คืนให้แก่รัฐนั้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้ดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินคืนให้แก่แผ่นดินเมื่อเดือนธ.ค. 2551 มูลค่ารวมทั้งสิ้น 16,176.22 ล้านบาท
แต่จากการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ได้รับมอบหมายตามมติคณะรัฐมนตรี พบว่า มีการโอนทรัพย์สินไม่ถูกต้อง โดยบริษัท ปตท. ยังต้องคืนทรัพย์สินเพิ่มเติมอีกจำนวน 32,612 ล้านบาท โดยทั้งหมดเป็นทรัพย์สินของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยก่อนที่จะมีแปรรูปมาเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
นอกจากนั้น ยังพบว่า ทรัพย์สินที่เกิดขึ้นหลังจากการแปรรูปบริษัท ปตท. ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2544 มูลค่าสูงถึง 157,102 ล้านบาท ไม่มีการโอนคืนแก่รัฐแต่อย่างใด ทั้งที่ทรัพย์สินทั้งหมดนี้ได้มาด้วยการใช้อำนาจมหาชน บริษัท ปตท. จะต้องคืนให้แก่รัฐตามคำพิพากษาของศาลด้วยเช่นกัน
สำหรับการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เฉพาะระบบท่อส่งก๊าซที่ก่อสร้างก่อนการแปรรูป ในปัจจุบัน พบว่ามีมูลค่าสูงสุดถึง 112,500 ล้านบาท หรือต่ำสุดประมาณ 86,730 ล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าทรัพย์สินที่น้อยกว่าที่ ปตท.คืนให้กับรัฐอย่างชัดเจน
นายศุภกิจ นันทะวรการ นักวิชาการมูลนิธินโยบายสุขภาวะ กล่าวว่า การขยายการลงทุนระบบท่อก๊าซของ บมจ.ปตท. เชื่อมโยงกับการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ของกระทรวงพลังงาน เนื่องจากโรงไฟฟ้าเป็นผู้ใช้ก๊าซหลักถึงร้อยละ ๗๐ โดยแผน PDP ฉบับปรับปรุงครั้งที่ ๒ ซึ่งในเดือนก.พ. 2552 มีการตรวจสอบโดยสังคมจนพบเงื่อนงำปัญหาหลายด้าน ทั้งการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่สูงมาก การจำกัดทางเลือกโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และปัญหาธรรมาภิบาลในการวางแผนและตัดสินใจ ซึ่งนำมาสู่การกำหนดสร้างโรงไฟฟ้าโดยไม่จำเป็นและเป็นภาระให้กับผู้บริโภคไม่น้อยกว่า 250,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น