xs
xsm
sm
md
lg

อาฟต้า"ยังไม่กระทบ" กรมศุลฯมั่นใจจัดเก็บเข้าเป้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - บิ๊กศุลกากรมั่นใจทั้งปีจัดเก็บตามเป้า 7.38 หมื่นล้านบาท ผลจากไตรมาสแรกทะลุเป้าไปกว่า 32% ยอมรับอาฟตากระทบ แต่ไม่มาก เหตุใช้สิทธิ์เพียง 16% หรือ 4-5 พันล้านบาท ในระยะแรก

นายสมชัย สัจจพงษ์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ผลการจัดเก็บรายได้ในไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2553 สามารถจัดเก็บรายได้สุทธิ 25,414.43 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,149.43 ล้านบาทหรือ 31.92% และคาดว่า ทั้งปีน่าจะสามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมายที่ 73,800 ล้านบาท แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีอาเซียน(อาฟตา)ที่มีผลบังคับวันที่ 1 มกราคม 2553 ซึ่งจะได้รับยกเว้นภาษีศุลกากรในสินค้าบางรายการ แต่ตัวเลขล่าสุดพบว่า มีผู้ประกอบการนำเข้ามาใช้สิทธิอาฟตาเพียง 16% หรือกระทบต่อรายได้ของกรมศุลกากรเพียง 4-5 พันล้านบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม หากในอนาคตมีการใช้สิทธิอาฟตามากขึ้น เชื่อว่าจะกระทบการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลแน่นนอน โดยคาดว่า 2-3 ปีข้างหน้า น่าจะมีการใช้สิทธิมากขึ้น และน่าจะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ประมาณ 4-5 หมื่นล้านบาทได้ และหากรวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีกับประเทศอื่นๆด้วย ทั้งญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และนิซีแลนด์ ก็อาจจะกระทบต่อการจัดเก็บรายได้มากขึ้น แต่แม้รายได้ภาษีศุลกากรจะลดลง แต่หากมีการส่งออกและนำเข้ามากขึ้น จะช่วยเหลือการจัดเก็บรายได้รัฐในทางอื่นเพิ่มตามด้วย ทั้งภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสรรพสามิต ที่จะเพิ่มตามด้วย

“การใช้สิทธิภาษี 0% นั้น ต้องมีเอกสารประกอบคือ ใบข้อตกลงการค้า และใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าที่ผลิตในประเทศกลุ่มอาเซียน ซึ่งตามข้อตกลงต้องมีแหล่งกำเนิดสินค้าในอาเซียน 40% แต่ขณะนี้เอกชนหลายแห่งยังไม่มีใบรับรองดังกล่าว คาดว่ากำลังเริ่มปรับตัว และจะหันมาใช้สิทธิเสรีการค้ามากขึ้น แต่ทั้งนี้เชื่อว่ารายได้กรมฯ จะไม่ลดลงอย่างฮวบฮาบ เนื่องจากการลดภาษี ทำให้ต้นทุนลดลง จึงมีการนำเข้าส่งออกมากขึ้น เท่ากับมีภาษีด้านอื่นมาชดเชย”นายสมชัยกล่าว

สำหรับความคืบหน้าในการแก้ไขกฎหมายกรมศุลกากร นายสมชัยกล่าวว่า ในวันที่ 29 มกราคม จะประชุมคณะอนุกรรมการกรมศุลกากร ซึ่งมีทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อสรุปสุดท้ายให้ชัดเจนในทุกประเด็น โดยโครงสร้างใหม่จะลดมาตรการจาก 262 เหลือ 250 มาตรการ เพราะมีการยกเลิกหรือยุบรวบบางมาตรการด้วยกัน โดยมีจุดเด่นเรื่องการอุทธรณ์ของภาคเอกชนในเรื่องพิกัดราคา ว่าจะกำหนดเวลาชัดเจนภายใน 180 วันเท่านั้น จะไม่มีปัญหาว่าอุทธรณ์นานเป็น 4-5 ปีอีกแล้ว เมื่อได้ข้อสรุป สัปดาห์ถัดไปจะเสนอคณะกรรมการกรมศุลกากรพิจารณา และเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป

นายยรรยง ตั้งจิตต์กุล นายกสมาคมชิปปิ้งแห่งประเทศไทยกล่าวว่า หลังจากกรอบอาฟต้ามีผลบังคับใช้ มีปริมาณใบขนส่งสินค้าเพิ่มสูงมากขึ้น ทั้งการนำเข้าและส่งออก แต่ในช่วงแรกนี้ยอมรับว่าผู้ประกอบการยังไม่มีความรู้ในการกรอกแบบฟอร์มใบใช้สิทธิ์ดังกล่าว ทำให้ยังมีผู้ใช้สิทธิ์ดังกล่าวไม่มากนักมีเพียง 16% แต่คาดว่า สิ้นปี 2553 ปริมาณการใช้สิทธิ์จะเพิ่มขึ้นเป็น 30%ได้แน่นอน โดยเฉพาะสินค้าสำเร็จรูปต่างๆ จากจีน ขณะที่ไทยได้รับประโยชน์ด้านการส่งออกได้มากขึ้น เช่น สินค้าชิ้นส่วนรถยนต์ อาหารสำเร็จรูป.
กำลังโหลดความคิดเห็น