xs
xsm
sm
md
lg

บินไทยหนีตาย ไฟเขียว"เพิ่มทุน-กู้เงิน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-บอร์ดการบินไทยไฟเขียวแผนปรับโครงสร้างทางการเงิน เดินหน้าแผนเพิ่มทุน,ออกหุ้นกู้ วงเงิน1 – 2 หมื่นล้านบาทและเห็นชอบ KPI ตั้งเกณฑ์ การทำงาน “ปิยสวัสดิ์”เป้า ผลประกอบการ EBITDA 33,000 ล้านบาท รอบ 1 ปี ขณะที่”ประวิทย์ รัตนเพียร”จ่อนั่งเป็นบอร์ดแทน”วัลลภ” ด้าน”อำพน”ยัน ยกเลิกบิน 3 เส้นทางขาดทุน พิษณุโลก, อุบลราชธานี และเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอน เผยรัฐต้องการให้บินต้องชดเชยให้เชิงสังคม

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการนำสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ดวาระพิเศษวานนี้ (25 ม.ค.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบ ให้ฝ่ายบริหารดำเนินการ ตามแผนปรับโครงสร้างการเงิน ซึ่งมีความต้องการใช้เงิน 10,000-20,000 ล้านบาท โดยอาจเป็นการออกหุ้นกู้ การกู้แบบระยะยาว หรือการเพิ่มทุน และฝ่ายบริหารต้องไปจัดทำรายละเอียดเพื่อมาเสนอบอร์ดอีกครั้งในเดือนมี.ค.นี้

“บอร์ดเห็นชอบให้ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) เดินหน้าแผนปรับโครงสร้างการเงิน แต่จะใช้วิธีออกหุ้นกู้ หรือจะใช้วิธีเพิ่มทุน จำนวนเท่าไรนั้นยังตอบไม่ได้ ฝ่ายบริหารจะต้องไปจัดทำรายละเอียด และเสนอให้บอร์ดพิจารณาอีกครั้งเพื่ออนุมัติดำเนินการ ซึ่งบริษัท มีความต้องการใช้เงินและมีบางส่วนต้องนำมาใช้ปรับโครงสร้างหนี้ ในส่วนของหนี้ที่จะครบกำหนด เป็นต้น”นายอำพนกล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบ ดัชนีชี้วัดการทำงานหรือ KPI ของนายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ในตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ โดยเบื้องต้นได้ตั้งเป้าว่า ดีดี จะต้องดำเนินงานให้บริษัทมีผลประกอบการมีกำไรก่อนหักภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) ในรอบ 1 ปี เดือนต.ค. 2552- ต.ค. 2553 ที่ระดับ 33,000 ล้านบาท พร้อมกับดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับปรุงยุทธศาสตร์ ปรับโครงสร้างทางการ เงิน ตามที่บอร์ดได้กำหนดกรอบแนวทางให้นายปิยสวัสดิ์ ดำเนินการไปก่อนหน้านี้

“เป้าหมาย EBITDA ที่ 33,000 ล้านบาทนั้น ไม่ได้หมายความว่า หากดีดีทำไม่ได้ตามเป้าแล้วจะไม่ผ่านประเมินผลการทำงาน เพราะในการประเมินผลการทำงานยังมีเกณฑ์และระดับของการประเมินอื่นๆ ที่ต้องนำมาพิจารณาร่วมกันด้วย” นายอำพน กล่าว

ส่วนการที่มีกระแสคัดค้านกรณีที่บริษัทยกเลิก 3 เส้นทางบิน ประกอบด้วย กรุงเทพฯ-พิษณุโลก,กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี และเชียงใหม่-แม่ฮ่องสอนโดยให้สายการบินนกแอร์เข้ามาให้บริการแทนรวมถึงการต่อต้านจากนักการเมืองในพื้นที่ด้วยนั้น นายอำพน กล่าวว่า ล่าสุดบอร์ดได้สั่งการให้ฝ่ายบริหารจัดทำแผนรายละเอียดเพิ่มเติม เช่น การบันทึกจำนวนผู้โดยสารแต่ละวันของสัปดาห์ เพราะมีการโต้แย้งว่าเส้นทางดังกล่าวมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก เพื่อนำปริมาณผู้โดยสารและต้นทุนมาพิจารณาว่า คุ้มค่าต่อการให้บริการหรือไม่ และจะเสนอข้อมูลทั้งหมดให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

อย่างไรก็ตาม บริษัทยืนยันว่า มีความจำเป็นที่จะต้องยกเลิกการให้บริการใน 3 เส้นทางดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2553 ตามกำหนดที่ได้ประกาศไปก่อนหน้านี้ แต่หากพิจารณาถึงที่สุดแล้วสรุปว่าการดำเนินการทั้ง 3 เส้นทางขาดทุน แต่รัฐบาลยังอยากให้บริษัทเป็นผู้ให้บริการต่อไป รัฐบาลก็ต้องพิจารณาในเรื่องการจ่ายเงินอุดหนุนในรูปแบบบริการเชิงสังคม เช่นเดียวกับ รถโดยสารฟรีขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เพราะผู้ถือหุ้นของบริษัทคงไม่ยอม หากต้องให้บริการในเส้นทางที่ขาดทุน

ส่วนการตั้งกรรมการบริษัทแทนนาย วัลลภ พุกกะณะสุต ที่ลาออกไปนั้น รายงานข่าวแจ้งว่า ได้มีการเสนอชื่อนายประวิทย์ รัตนเพียร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่บอร์ดยังไม่มีมติเห็นชอบเนื่องจากอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติตามกฎหมายของการเป็นกรรมการบริษัท
กำลังโหลดความคิดเห็น