xs
xsm
sm
md
lg

ทฤษฎีวันสิ้นโลก การรื้อถอนมายาภาพ (2)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

มายาภาพเรื่อง “ลัทธิวัตถุนิยม”

มายาภาพเรื่องนี้มีอิทธิพลต่อความเชื่อของบรรดาพวกที่เรียกว่า “ซ้ายเก่า” จำนวนมาก

ไม่นานมานี้ มีคนขอให้ผมช่วยพูดเรื่อง “จิต” ให้เพื่อนๆ เก่าๆ ฟัง ผมก็พูดแบบระมัดระวังมากเพราะเรื่องจิตหรือพลังจิตเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก เพราะจับต้องไม่ได้ชัดเจน ถ้าอธิบายไม่ดี ผู้ฟังจะเข้าใจว่าผมเป็นพวกจิตนิยม

ผมกล่าวว่า

พวกซ้ายเก่าจะเชื่อว่า โลกธรรมชาติโดยพื้นฐานคือ โลกของสสาร (หรือวัตถุ) และการเคลื่อนไป (หรือพลวัตของโลกทางสสาร) นี้จะกำหนดเหนือการเปลี่ยนไปของจิตใจมนุษย์ หรือที่กล่าวกันง่ายๆ ว่า “วัตถุกำหนดจิต”

จิต ในที่นี้จึงคล้ายกับอะไรที่ว่างเปล่า คล้ายกับจอทีวีที่รับเรื่องราวต่างๆ และจะคิดหรือเชื่อตาม

ปัจจุบันความเชื่อนี้เริ่มถูกตั้งคำถามอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อของนักฟิสิกส์สมัยใหม่ อย่างเช่น

ไอน์สไตน์ ที่พบว่า “โลกโดยพื้นฐานไม่ใช่โลกทางวัตถุ แต่คือ โลกของพลังงาน ก้อนวัตถุเองที่แท้ก็คือ กลุ่มหรือก้อนของพลังงานเช่นกัน”

ความเชื่อนี้จะคล้ายกับความเชื่อของลัทธิเต๋าของจีนโบราณ ซึ่งเชื่อว่า โลกธรรมชาติ ทั้งหมดคือโลกของพลังงาน

คำว่า โลกของพลังงาน นี้ทำให้เราเริ่มเข้าใจว่า ธรรมชาติอาจจะเชื่อมกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่ใช่สิ่งที่แยกได้เป็นชิ้นๆ หรือก้อนๆ อย่างที่เราเคยเข้าใจ

นอกจากนี้ แม้แต่สิ่งที่เรียกว่า จิต ก็น่าจะถือว่าเป็นพลังงานรูปหนึ่งได้ ซึ่งไปสอดคล้องกับวิชาฟิสิกส์ที่เรียกว่า “ควอนตัมฟิสิกส์” ซึ่งพบว่าเราไม่สามารถแยกผู้ทดลองกับผลของการทดลองออกจากกันได้

เมื่อจิต (หรือตัวเราเอง) ก็เป็นกลุ่มหรือก้อนพลังงาน พลังจิตซึ่งเป็นศูนย์กลางของพลังชีวิตของเราจึงมีพื้นที่ มีการเคลื่อนตัว และมีความสำคัญขึ้นมา วัตถุจึงไม่ได้ทำหน้าที่กำหนดจิตเท่านั้น แต่จิตก็ทำหน้าที่กำหนดวัตถุหรือการเคลื่อนไปของวัตถุในเวลาเดียวกันด้วย

เรื่อง ‘จิต’ ในฐานะว่าเป็น ‘พลัง’ นี้ มีการพิสูจน์ให้เห็นชัดเมื่อคุณ Masuru Emoto ได้ทำการศึกษาเรื่องสภาวะจิตของคนที่แตกต่างกันกับการเปลี่ยนแปรไปของโมเลกุลของน้ำ เขาพบว่า “จิตที่ดีงามมีความสามารถที่จะส่งผลให้โมเลกุลของน้ำงดงามตามไปด้วย”

เมื่อจิตมีฐานะเป็นพลังงาน และเราอยู่ในโลกของพลังงาน ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าอยู่ในสภาวะใด (หยุดนิ่งหรือเคลื่อนที่) ย่อมมีความสามารถในการกำหนดซึ่งกันและกันตลอดเวลาและจะกระทบต่อกันอย่างแยกขาดออกจากกันไม่ได้เลย จนบางครั้งยากที่เราจะบ่งบอกได้ว่า “อะไรกำหนดอะไร เมื่อไร และอย่างไร”

โลกของพลัง เป็นโลกที่ท้าทายผ่านมิติของพื้นที่และเวลาได้ อย่างเช่น พลังงานแสงซึ่งเคลื่อนตัวได้ไวมาก ดังนั้นโลกพลังงานจึงมีมิติหรือกรอบที่กว้างไกลมาก สิ่งหนึ่งอาจจะกระทบสิ่งหนึ่งข้ามกรอบของมิติอย่างที่เราไม่อาจจะรับรู้ได้เลยก็ได้

นี่คือคำกล่าวเล่นๆ ที่ว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาวได้”

นอกจากนี้เราพบว่า ‘จิต’ ไม่ใช่ ‘ตัวรับ’ เท่านั้น จิตยังมีความสามารถในการปรุงแต่ง อย่างเช่น การคิดค้นและสร้างภาพขึ้นใหม่ และที่สำคัญ ‘จิต’ สามารถสร้างโลกและเข้าใจโลกบนฐานของความเป็นไปได้ที่หลากหลาย

เวลาที่ผู้คนแต่ละคนรับรู้เรื่องราวเดียวกัน แต่ละคนจะคิดแยกแยะตีค่าไม่เหมือนกัน ดังนั้น วัตถุกำหนด ‘จิต’ ไม่ได้จริงๆ หรือกล่าวได้ว่า จะกำหนดให้จิตคิดไปในทิศทางอย่างหนึ่งอย่างใดนั้นเป็นไปไม่ได้

สิ่งที่สำคัญ ‘จิต’ จะมีพลังในการเก็บรับเรื่องราวในเวลาเดียวกันด้วย หรือมีสิ่งที่เรียกว่า “จิตใต้สำนึก” ซึ่งสามารถเก็บรับเรื่องราวจำนวนมากในอดีต จิตจึงมี (คล้าย) ‘ตัวตน’ ของตนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งตัวตนนี้มีความเชื่อ มีค่านิยม และมีความฝัน ความเชื่อที่ฝังอยู่เหล่านี้ล้วนมีอิทธิพลต่อการอธิบายเรื่องราวต่างๆ ที่เราพบด้วยกันทั้งนั้น

บางคนพอเห็นขอทานอาจจะรู้สึกเป็นทุกข์ บางคนไม่แม้แต่จะสนใจ บางคนอาจจะคิดว่าคนเหล่านี้น่าทุเรศ ไม่น่าเข้าไปใกล้

นี่คงไม่ต่างจากคำกล่าวโบราณของไทยว่า “จิต คือพลังที่สำคัญของชีวิตและสามารถทำหน้าที่เป็นประธาน (ในการตัดสินใจ)” รวมทั้งความเชื่อโบราณเรื่องจิตมนุษย์นั้นพลิกผันแปรเปลี่ยนไปได้ตลอดเวลา ดังคำในโคลงโลกนิติที่ว่า “จิตมนุษย์นี้ไซร้ ยากแท้ หยั่งถึง”

ที่ยุ่งไปกว่านี้ก็คือ จิตสามารถวิเคราะห์โลกแบบแยกแยะได้และสามารถมองโลก ‘ความจริง’ ได้หลายระดับ

อย่างเช่น โดยความเข้าใจของคนทั่วๆ ไป เราเชื่อว่าสิ่งต่างๆ สามารถแยกเป็นชิ้นๆ เป็นก้อนๆ สังคมแยกเป็นประเทศ ประเทศแยกเป็นชนชั้น ชนชั้นแต่ละกลุ่มมีผลประโยชน์แน่นอน จึงต้องต่อสู้และทำสงครามกัน นี่คือความจริงที่เรียกว่า “ความจริงทางภาววิสัย”

แต่เราอาจจะพบความจริงในอีกระดับหนึ่งที่ลึกกว่าที่เรียกว่า “ความเป็นหนึ่งเดียวกันของธรรมชาติทั้งมวล” นี่คือ “ความจริงแบบอัตวิสัย” (หรือใช้จิตวิเคราะห์แบบลงลึกกว่าความจริงระดับทั่วไป)

คำถามที่ต้องตอบคือ “อะไรกันแน่คือ ความจริง” หรือว่า “ความจริงแบบภาววิสัยอาจจะเป็นเพียงมายาแบบหนึ่ง” หรือว่า “ความจริงแบบอัตวิสัยอาจจะเป็น ความจริงมากกว่า”

มนุษยชาติที่ผ่านมามักจะหลงอยู่ในโลกที่เชื่อว่า ทุกสิ่งแยกเป็นชิ้น ชีวิตคือการต่อสู้และสงคราม เพราะคิดว่านี่คือความจริงแท้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งชาวพุทธมักจะบอกว่า “ทั้งหมดทั้งหลาย (การต่อสู้ฆ่าฟันกัน) คือ มายา

ความจริง 2 ระดับนี้ ยากจะบอกว่า “อะไรจริง อะไรไม่จริง” แต่ทุกวันนี้ ความเชื่อทางฟิสิกส์สมัยใหม่และทางนิเวศวิทยากำลังบอกเราว่า “ความเชื่อเรื่อง ความจริงแบบพุทธ น่าจะเป็นความจริงมากกว่า ความเชื่อที่ว่าด้วยความจริงที่เรามักจะคิดว่าจริง

ส่วนแนวปรัชญาหลักของชาวมาร์กซิสจะเรียกว่า “หลักวัตถุนิยมวิภาษ” หลักวัตถุนิยมวิภาษนั้นมีฐานคิดเรื่อง ‘วัตถุกำหนดจิต’ เหมือนกัน เพียงแต่ต่อเติมความเชื่อว่าโลกทางวัตถุนั้นสามารถพลิกผันหรือเปลี่ยนผ่านทางคุณภาพได้ จากสิ่งหนึ่งไปสู่อีกสิ่งหนึ่ง จากความขัดแย้งซึ่งดำรงอยู่ ‘ภายใน’ ก้อนวัตถุนั้นๆ อย่างเช่น เหล็กเปลี่ยนเป็นสนิมได้จากความขัดแย้งที่ซ่อนอยู่ภายในก้อนสสารนั้นเป็นหลัก

เวลาเราเข้าใจว่า โลกธรรมชาตินี้ที่แท้คือ ‘โลกแห่งพลังงาน’ คำว่า นอก หรือ ใน ที่แยกได้ ก็น่าจะเป็น มายา เช่นกัน

อย่างเช่น ทันทีที่เรามองฟ้า ภาพฟ้าทั้งหมดก็อยู่ในใจ ฟ้ากับใจอยู่ด้วยกัน ใน หรือ นอก ก็คือสิ่งเดียวกัน

แต่ถ้าเราคิดว่า โลกคือสสารเป็นก้อนๆ เป็นชิ้นๆ เราก็มักจะเชื่อว่า ‘ภายใน’ (หรือความขัดแย้งภายใน) กำหนดเหนือการเปลี่ยนแปลงของก้อนสสารนั้นๆ

หลักวัตถุนิยมวิภาษ นี้คือหลักการที่ชาวลัทธิมาร์กซ์นำมาใช้เพื่ออธิบายว่า “ระบบสังคมต้องเกิดการเปลี่ยนผ่านทางคุณภาพแบบปฏิวัติ (สงครามทางชนชั้น) เป็นขั้นๆ จากความขัดแย้งหลัก (จากภายใน)”

หลักการนี้ก็ใช้ได้อย่างจำกัดเช่นกัน ตรงที่คำว่า สงคราม เพราะสังคมอาจจะพลิกผันได้ด้วยกัน ประสานประโยชน์ทางชนชั้น ซึ่งอาจจะมีบทบาทสำคัญพอๆ กับการทำสงคราม

ที่สำคัญ สงครามที่สามารถนำความเปลี่ยนแปลงมักจะเกิดขึ้นนอกกรอบประเทศ(ภายใน) อย่างเช่น สงครามระหว่างประเทศ

บางสังคมหรือชุมชนซึ่งสามารถจัดประสานประโยชน์ทางชนชั้นได้ดี การเปลี่ยนแปลงแบบสงครามชนชั้นก็มักจะไม่ค่อยเกิดขึ้น

อย่างเช่น รัฐศักดินาไทยโบราณ ใช้หลักประสานประโยชน์ทางชนชั้น (ระบบอุปถัมภ์ การแต่งงานระหว่างชนชั้นเจ้านาย รวมทั้งความเชื่อแบบพุทธ) ได้ดี จึงทำให้การกดขี่เอารัดเอาเปรียบภายในไม่สูงมากนัก ประชาชนมีชีวิตอยู่ได้ด้วยความสุขพอควร ซึ่งอาจเนื่องจากผู้คนส่วนใหญ่มีที่ดินทำกินของตัวเอง และพื้นที่เกษตรกรรมมีความอุดมมาก

‘อะไรจริง ไม่จริง แค่ไหน’ ‘อะไรคือมายา’ จึงยากที่จะเข้าใจได้ หรือขึ้นกับเวลาและขึ้นกับสถานที่อีกเช่นกัน

แต่ที่แน่ๆ โลกธรรมชาติ และ โลกทางสังคม คือสิ่งที่เคลื่อนและเปลี่ยนไปตลอดเวลา นี่คือความจริงที่เราต้องตระหนักรู้

ดังนั้น สิ่งที่ดูว่า “จริง” ณ เวลาหนึ่ง สถานที่หนึ่ง ไม่จำเป็นว่าจะต้อง “ใช้ได้” ในอนาคตข้างหน้า

ถ้าเรายังหลงความเชื่อเก่าๆ ว่า “จริงแท้ แน่นอน”

นี่คือ การติดหลงใน “มายา” (ยังมีต่อ)

กำลังโหลดความคิดเห็น