xs
xsm
sm
md
lg

เช็กความพร้อมเปิดเสรีข้าวAFTA

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2553 เป็นต้นมา ไทยต้องเปิดเสรีให้มีการนำเข้าสินค้าข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) โดยลดภาษีนำเข้าเหลือ 0% และต้องยกเลิกการกำหนดโควตา ซึ่งจนถึงวันนี้ ยังมีการตั้งคำถามว่า ไทยพร้อมแค่ไหน มาตรการรองรับการเปิดเสรีเป็นอย่างไร เกษตรกรไทยจะได้รับผลกระทบหรือไม่ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
แต่ก่อนที่จะไปถึงมาตรการรับมือเปิดเสรีข้าว AFTA ของไทย อยากให้เห็นภาพของการดำเนินการรับมือการเปิดเสรี AFTA ให้ชัดเจนก่อน
ย้อนไปเมื่อกลางปี 2552 กรมการค้าต่างประเทศในฐานะที่รับผิดชอบการเปิดตลาดข้าว AFTA ได้เตรียมมาตรการการรับมือโดยเริ่มจากการจัดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นเรื่องการเปิดตลาดข้าวภายใต้ AFTA ใน 6 ภูมิภาคครอบคลุมทุกจังหวัด ระหว่างเดือนมิ.ย.-ก.ค.2552 เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เกษตรกร ผู้ประกอบการข้าวในประเทศ โรงสี ผู้ส่งออก องค์กรภาครัฐ เอกชน วิสาหกิจและผู้สนใจทั่วไป ได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเปิดตลาดข้าวภายใต้ AFTA และเปิดรับฟังข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียสำหรับการกำหนดแนวทางและวิธีการเปิดตลาดข้าวที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับไทยมากที่สุด
มาตรการที่ตกผลึกออกมาจากการจัดเวทีสาธารณะ ในการกำกับดูแลและติดตามการนำเข้าข้าวภายใต้ AFTA ประกอบด้วย การกำหนดคุณสมบัติผู้นำเข้าข้าว ให้นำเข้าข้าวเฉพาะที่ใช้เป็นวัตถุดิบ กำหนดระยะเวลานำเข้า กำหนดมาตรฐานคุณภาพข้าว ต้องมีใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าและรับรองการปลอดศัตรูพืช กำหนดมาตรการด้านสุขอนามัยที่เข้มงวดตามกติกาสากล กำหนดเงื่อนไขปลอด GMOs และกำหนดด่านให้นำเข้า เป็นต้น
หลังจากที่ได้มาตรการในการดูแลการนำเข้าข้าวภายใต้ AFTA ออกมาแล้ว จึงได้มีการเสนอให้คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณา ซึ่งกขช. ได้เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบริหารการนำเข้าข้าวภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) โดยมีนางพรทิวา นาคาศัย รัฐมนตรีว่ากระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่เสนอแผนงาน โครงการ มาตรการ และแนวทางการเปิดตลาดข้าวภายใต้ AFTA ที่เหมาะสมรวมทั้งการติดตามกำกับดูแล การดำเนินการตามแผนงาน / โครงการที่เกี่ยวข้องกับการเปิดตลาดดังกล่าว
จากนั้น เมื่อวันที่ 6 ม.ค.2553 คณะอนุกรรมการฯ ได้มีการจัดประชุมนัดแรกและได้กำหนดมาตรการดูแลการนำเข้าข้าวภายใต้ AFTA ออกมา โดยกำหนดให้นำเข้าเฉพาะข้าวที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเท่านั้น โดยไม่รวมถึงอุตสาหกรรมแปรรูปในลักษณะของการสีข้าวของโรงสี เป็นวัตถุดิบเท่านั้นที่สามารถนำเข้าได้ และนำเข้าได้เฉพาะปลายข้าว การกำหนดช่วงระยะเวลานำเข้า 2 ช่วง คือ เดือนพ.ค.-ก.ค. และเดือนส.ค.-ต.ค. เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวไทยออกมาน้อยที่สุด โดยจะนำเสนอให้กขช. พิจารณาอนุมัติและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
“มาตรการที่ออกมา กำหนดให้นำเข้าได้เฉพาะข้าวที่ใช้ในอุตสาหกรรมเท่านั้น ไม่ได้ให้นำเข้าข้าวสาร เพื่อการค้าหรือการบริโภคทั่วไป จึงไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะมีข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเล็ดลอดเข้ามาปลอมปนกับข้าวไทย โดยในการนำเข้าเรายังมีระบบการตรวจสอบ ติดตาม อย่างเข้มงวดว่านำเข้ามาเท่าไร ใช้ไปแค่ไหน ซึ่งผู้ที่นำเข้าจะต้องแจ้งให้เราทราบทั้งหมด”นายวิจักร วิเศษน้อย อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวถึงความพร้อมในการรับมือการเปิดเสรีข้าว AFTA
นอกจากนี้ ในการนำเข้ายังได้กำหนดมาตรการดูแลการนำเข้า โดยอุตสาหกรรมที่ต้องการนำเข้าข้าว จะต้องมาขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าต่างประเทศ ต้องขออนุญาตก่อนนำเข้า และในการนำเข้าต้องผ่านขั้นตอนต่างๆ ที่กำหนด เช่น มีใบรับรองปลอดศัตรูพืช การตรวจสอบสารตกค้าง ผ่านมาตรฐาน การตรวจสอบว่าปลอด GMOs และมีใบรับรองว่าเป็นสินค้าของอาเซียน
ส่วนการนำเข้า กำหนดให้นำเข้าได้เฉพาะ 5 ด่าน คือ ด่านแม่สอด จ.ตาก ด่านแม่สาย จ.เชียงราย ด่านอรัญประเทศ จ.สระแก้ว ด่านจ.หนองคาย ด่านจ.ระนอง และท่าเรือกรุงเทพฯ เพราะด่านเหล่านี้มีเครื่องไม้เครื่องมือพร้อม และมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องดูแลอยู่ครบ ทั้งกรมวิชาการเกษตร คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมศุลกากร
จากมาตรการที่ว่ามาทั้งหมด ทำให้มั่นใจได้ว่าการเปิดเสรีข้าว AFTA จะไม่ส่งผลกระทบกับเกษตรกรของไทย เพราะได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าข้าวชนิดใดที่ให้นำเข้าได้ และมีมาตรการดูแลการนำเข้าอย่างไร ซึ่งจะควบคุมดูแลการนำเข้าข้าวได้ แต่หากใครยังมีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการ AFTA Hotline 1385 เพราะตั้งขึ้นมาเพื่อตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับ AFTA โดยเฉพาะ ก็ลองไปใช้บริการดูก็แล้วกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น