xs
xsm
sm
md
lg

โซเชียลเน็ทเวิร์คดันหนังสือพุ่ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – โซเชียลเน็ตเวิร์คมาแรง ช่วยดันยอดขายหนังสือ สร้างนักเขียนหน้าใหม่ ส.ผู้จัดพิมพ์ฯ เผยภาครัฐหนุนตลาดหนังสือปีนี้โตแน่ 4% แตะ19,600 ล้านบาท ชี้ธรรมะประยุกต์ พัฒนาตนเอง และวรรณกรรม ยังมาแรง

นางริสรวล อร่ามเจริญ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดหนังสือในปีนี้เชื่อว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ 4% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 19,600 ล้านบาท จากปีก่อนอยู่ที่ 18,800 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพียง 1-2% เท่านั้น ซึ่งในปีนี้เชื่อว่า ปัจจัยบวกอย่างการผลักดันของภาครัฐที่ประกาศให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ
และมีแผนผลักดันให้คนไทยรักการอ่านมากขึ้น จาก 5 เล่มต่อปีเป็น 10 เล่มต่อปี โดยเฉพาะการส่งเสริมให้มีหนังสือน่าอ่านเข้าไปยังห้องสมุดสาธารณะมากขึ้น จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหนังสือในปีนี้เติบโตขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อมองในภาพรวมแล้ว ยังพบอีกว่า หนังสือที่จะมาแรงในปีนี้คือ ธรรมะประยุกต์ มีอัตราการเติบโตสูงสุด ตามมาด้วยหนังสือประเภท พัฒนาตนเอง รวมไปถึงกลุ่มหนังสือวรรณกรรม หนังสือสำหรับเด็กเล็ก วัยรุ่น เยาวชน และวัยทำงาน ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 60% ของหนังสือทุกประเภทจะได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในส่วนของสำนักพิมพ์ในปีนี้
จะมีความระมัดระวังและคิดอย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้นในการออกหนังสือเล่มใหม่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านได้ดียิ่งขึ้น โดยปีนี้ทั้งปีเชื่อว่าการออกหนังสือใหม่จะมีตัวเลขใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือประมาณ13,607 เล่มต่อปี เฉลี่ยวันละ 37.3 เล่มต่อวัน

นอกจากนี้ยังพบว่าช่องทางจำหน่ายเป็นอีกส่วนสำคัญที่ทำให้ตลาดหนังสือเติบโตขึ้น โดยในปีนี้เชื่อว่าช่องทางจำหน่ายหนังสือทั้งหมดจะเพิ่มเป็น 2,900 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 500 แห่ง มาจากเชนร้านหนังสือ อย่าง บุ๊คสไมล์ และร้านนายอินทร์ เป็นหลัก

อย่างไรก็ตามจากตัวเลขข้อมูลของทางสมาคมฯ พบว่า ในปี 2552 ที่ผ่านมาประเทศไทย มีสำนักพิมพ์รวมกว่า 517 แห่ง เพิ่มขึ้น 4 แห่งจากปี 2551, โดยมีร้านหนังสือทั่วประเทศกว่า 2,943 แห่ง จากปี 2551 มีเพียง 2,483 แห่ง(อ้างอิงจากซีเอ็ดยูเคชั่น), โดยจำนวนหนังสือที่ออกสู่ตลาดในปี 2552 อยู่ที่ 13,607 เล่ม สูงจากปี 2551 เล็กน้อย ที่มีเพียง 13,352 เล่ม โดยเฉลี่ยต่อปีแต่ละสำนักพิมพ์ออกหนังสือใหม่เพียง 26.32
เล่ม ขณะที่การใช้เงินซื้อหนังสือของผู้อ่านต่อคนต่อปี ในปี 2552 อยู่ที่ 296.55 บาท เท่านั้น

นางริสรวล กล่าวต่อว่า โชเชียลเน็ตเวิร์ค หรือ เว็บไซด์ออนไลน์ ถือเป็นเครื่องมือที่สำคัญอีกส่วนหนึ่ง ที่จะส่งผลให้ตลาดหนังสือเติบโตได้อีกด้วย โดยในประเทศไทยเริ่มเห็นสำนักพิมพ์ต่างๆให้ความสำคัญและหันมาใช้ช่องทางนี้มากขึ้นตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเว็บไซด์นี้สามารถนำมาเป็นเครื่องมือในการขายหนังสือได้เป็นอย่างดี
ที่สำคัญถือเป็นช่องทางใหม่หรือโมเดลการเปิดตัวสำนักพิมพ์ใหม่ๆในการเข้าถึงกลุ่มผู้อ่านได้ดียิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นช่องทางที่สำคัญสำหรับการเปิดตัวนักเขียนหน้าใหม่ ที่หันมาใช่เว็บไซด์ในการเขียนวรรณกรรมก่อนออกมาพิมพ์เล่มจำหน่ายในปัจจุบัน ส่งผลให้พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีนักเขียนหน้าใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น