xs
xsm
sm
md
lg

เรตติ้งสื่อสิ่งพิมพ์สะดุด พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ไม่เอื้อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เรตติ้งสื่อสิ่งพิมพ์ สะดุด พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ไม่เอื้อ กก.แก้ปัญหาเฉพาะหน้า เสนอทำคู่มือเรตติ้งก่อน ทดลองใช้-ทำประชาพิจารณ์รอกฎหมาย ภาคเอกชนหนุนออกคู่มือก่อน รับนำไปใช้คู่กับกฎแต่ละสมาคมจะได้ผลดีกว่าออกกฎหมายเพียวๆ

วันนี้ (21 ม.ค.) ที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) มีการประชุมพัฒนาหลักเกณฑ์การจัดระดับความเหมาะสมของสื่อสิ่งพิมพ์ โดยมี ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ รองปลัด วธ. เป็นประธานการประชุม และมีผู้แทนผู้ประกอบการ สมาคม เข้าร่วม โดย พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผอ.สถาบันราชานุกูล ในฐานะประธานคณะทำงานพัฒนาหลักเกณฑ์การจัดระดับความเหมาะสมของสื่อสิ่งพิมพ์ กล่าวว่า

ที่ประชุมได้หารือถึงข้อกฎหมายของเรตติ้งสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะการบรรจุเนื้อหาเรตติ้ง เนื่องจาก พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ไม่เอื้อให้ออกกฎกระทรวง ส่วนการแก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติม พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว อาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ดังนั้น ที่ประชุมเห็นว่า ระหว่างรอการบรรจุเนื้อหาในข้อกฎหมาย จะมีการจัดทำร่างคู่มือการใช้เรตติ้งขึ้นซึ่งขณะนี้คืบหน้าไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์แล้ว ทั้งนี้ เมื่อร่างคู่มือดังกล่าวเสร็จสมบูรณ์จะนำไปให้ผู้ประกอบการได้ทดลองใช้ และนำไปทำประชาพิจารณ์ คล้ายกับการจัดเรตติ้งสื่อโทรทัศน์ควบคู่กับการรอความพร้อมของกฎหมาย ขณะเดียวกันก็จะทำการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทุกภาคส่วนรับทราบไปพร้อมกันด้วย


นายอิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะคณะกรรมการพัฒนาหลักเกณฑ์ฯ กล่าวว่า ในวันที่ 27 มกราคมนี้ จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการพัฒนากฎหมาย นโยบาย สื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยมีนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นประธานอนุกรรมการ จะหารือถึงแนวทางข้อกฎหมายการบรรจุเรตติ้งสื่อสิ่งพิมพ์ว่า จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาใน พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์หรือไม่ แต่โดยส่วนตัวเห็นว่า หากมีการบรรจุเรตติ้ง ควรแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องเรตติ้งใน (4) ในพ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ มาตรา 8 น่าจะเหมาะสมที่สุด

ด้าน นายธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในการจัดเรตติ้งสื่อสิ่งพิมพ์นั้น จะไม่มีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาเหมือนการจัดเรตติ้งภาพยนตร์และสื่อโทรทัศน์ แต่จะเป็นการบังคับใช้โดยผู้ประกอบการเอง ซึ่งแต่ละสมาคมจะมีกฎระเบียบการพิจารณาสื่อสิ่งพิมพ์อยู่แล้ว ดังนั้น ตนเห็นว่าเมื่อมีการยกร่างคู่มือฯเสร็จสิ้นแล้ว จะมีการนำคู่มือดังกล่าวมาใช้ควบคู่กับระเบียบของสมาคม ซึ่งน่าจะให้ผลดีมากกว่าการออกกฎหมายออกมาก่อนแล้วค่อยจัดทำคู่มือ เพราะกฎที่มาจากผู้ประกอบการก็เท่ากับภาคเอกชนควบคุมกันเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น