xs
xsm
sm
md
lg

ชงสารพัดโปรเจกต์รับลุ่มน้ำโขงโต ทั้งเปิดด่านเพิ่มรอบทิศ-รื้อลอจิสติกส์ เหนือ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อมรพันธ์ นิมานันท์
เชียงราย – รัฐ-เอกชน เร่งชงสารพัดโครงการรองรับกรอบการพัฒนาลุ่มน้ำโขง ทั้งเปิดด่านเพิ่มรอบชายแดน ปลุกผีรถไฟเด่นชัย – เชียงราย ขณะที่ผู้ว่าฯเชียงใหม่ นำทีมเจรจา “อลงกรณ์” ดันรัฐบาล “มาร์ค” รื้อลอจิสติกส์ 10 จังหวัดภาคเหนือเพิ่มศักยภาพการขนส่ง

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ (คสศ.) หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ เปิดเผยภายหลังจัดประชุม คสศ.หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ครั้งที่ 1/2553 ณ โรงแรมพิมานอินน์ อ.เมือง จ.เชียงราย เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า คสศ.ได้ทำเรื่องถึงเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ เพื่อให้มีการผลักดันให้มีการจัดหาที่ดินบริเวณเชิงสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 4 เชื่อมกับถนน R3a ในฝั่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว )ที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย โดยกันที่ดินมาใช้ในการเป็นศูนย์บริการด้านลอจิสติกส์โดยเฉพาะภาคการขนส่งระหว่างไทย-สปป.ลาว-จีนตอนใต้ ซึ่งสภาพัฒน์ได้เห็นชอบในหลักการไปแล้วและมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เข้าไปศึกษาวิจัยให้แล้วเสร็จภายในเดือน กันยายน 2553

นายพัฒนา กล่าวว่า หลังการดำเนินการแล้วดังกล่าว คสศ.หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ได้มีการประชุมกันในครั้งนี้และมีมติให้จัดทำหนังสือข้อเรียกร้องผ่านนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งรับผิดชอบดูแลด้านลอจิสติกส์ของรัฐบาลและเดินทางมาร่วมสัมมนาเรื่อง GMS ในทศวรรษใหม่ เพื่อให้พิจารณาเสนอต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาดำเนินการอีกหลายเรื่อง

ได้แก่ ให้เปิดจุดผ่านแดนใหม่ในภาคเหนือโดยเฉพาะที่ด่านบ้านห้วยผึ้ง อ.แม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน ด่านกิ่วผาวอก จ.เชียงใหม่ ให้รัฐบาลได้มีการเจรจาระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดการเปิดด่านต้าลั๊ว บนถนน R 3 b เชื่อมไทย-พม่า-จีนตอนใต้ ซึ่งด่านนี้เป็นจุดเชื่อมระหว่างจีนตอนใต้กับพม่า แต่ถูกปิดใช้งานมานานหลายปีแล้ว และหากเปิดใช้งานได้ก็จะมีระยะทางในการขนส่งสินค้าและท่องเที่ยวจาก จ.เชียงราย สู่จีนตอนใต้ ได้ใกล้เคียงกับถนน R3a ที่ผ่าน สปป.ลาว
นอกจากนี้ยังได้เสนอให้มีการพัฒนาระบบรถไฟรางคู่จาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ สู่เชียงราย ให้สำเร็จในรัฐบาลชุดนี้หลังจากเรื่องยืดเยื้อมานานหลายสิบปีแล้ว

นายประสพสุข พ่วงสาครา ผู้อำนวยการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานภาคเหนือ ในฐานะที่ปรึกษา คสศ.หอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ประเทศจีนได้มีการเปิดใช้รถไฟความเร็วสูงจากเมืองหูเป่ยหรืออู่ฮั่น ลงมาถึงเมืองฉางซา เมืองหลวงของมณฑลหูหนัน และต่อมายังเมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้งแล้ว รวมทั้งกำลังจะเชื่อมต่อมายังเมืองเซินเจิ้น เขตเศรษฐกิจพิเศษที่สำคัญในภาคใต้ด้วย

รถไฟความเร็วสูงดังกล่าวทำความเร็วได้ถึง 350 กิโลเมตรต่อชั่วโมงซึ่งถือว่าเร็วที่สุดในโลก และเป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบการขนส่งทั่วประเทศของจีนให้เชื่อมถึงกันทั่วประเทศได้อย่างรวดเร็ว คาดว่าภายใน 10-15 ปีข้างหน้ารถไฟความเร็วสูงดังกล่าวจะเชื่อมต่อไปยังมณฑลต่างๆ อีก และลงสู่ภาคตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งมีการค้าขายกับประเทศไทยผ่าน จ.เชียงราย โดยตรง จากนั้นคงจะเชื่อมต่อลงไปยังกลุ่มอาเซียนอื่นๆ คือ มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ต่อไป ดังนั้น การเตรียมการรองรับระบบการขนส่งอันเกิดจากการถาโถมลงมาของเศรษฐกิจจีน จึงเป็นสิ่งที่ดี

ด้านนายวิรุณ คำภิโล ประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่าปัจจุบันเชียงรายมีการค้าชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้านผ่าน 3 จุดผ่านแดนถาวรที่ อ.แม่สาย อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ โดยถนน R3a ซึ่งเชื่อมกับจุดผ่านแดนถาวร อ.เชียงของ มีความคึกคึกมากขึ้นตามลำดับ หลังถนนแล้วเสร็จ และกำลังมีโครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเชื่อมระหว่าง อ.เชีย'ของ กับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว ด้วย ดังนั้นในอนาคตคงต้องให้ความสำคัญต่อระบบลอจิสติกส์เพราะเป็นต้นทุนของการค้าถึง 17% แต่ที่ประเทศสิงคโปร์มีการจัดระบบลอจิสติกส์ดีมาก จึงทำให้ต้นทุนลดลงเหลือ 10% ซึ่งตนเห็นว่าการผลักดันเรื่องรถไฟเด่นชัย-เชียงราย เป็นหนึ่งในการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของ จ.เชียงราย

นายสุพจน์ กลิ่นปราณีต ประธานหอการค้า จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า เหตุที่ต้องผลักดันให้มีการเปิดจุดผ่อนปรนไทย-พม่า ที่บ้านห้วยผึ้งเนื่องจากจุดดังกล่าวตั้งอยู่ห่างจากเมืองเนปิดอร์เมืองหลวงใหม่ของประเทศพม่าเพียงประมาณ 200 กิโลเมตร และสามารถเชื่อมต่อไปยังเมืองใหญ่ต่างๆ ของพม่ารวมทั้งผ่านไปยังประเทศบังกลาเทศ อินเดียหรือขึ้นสู่จีนตอนใต้ได้

ในโอกาสนี้นายอมรพันธ์ นิมานันท์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงใหม่ ได้นำคณะตัวแทนจากภาครัฐและเอกชนในภาคเหนือ นำเสนอเรื่องการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ในภาคเหนือเพื่อให้รัฐบาลนำไปดำเนินการ โดยเสนอให้มีการศึกษาเพื่อพัฒนาระบบลอจิสติกส์ระหว่าง 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน กับจังหวัดที่เกี่ยวข้องคือพิษณุโลก ตาก และอุตรดิตถ์ หรือ 8 บวก 3 แต่นายอลงกรณ์ ขอให้ทุกจังหวัดได้กลับไปประชุมหารือกันอีกครั้ง เพื่อแจ้งรายละเอียดในการศึกษาร่วมกันให้ชัดเจนจากนั้นให้นำเสนอไปยังรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง

นายอมรพันธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันการคมนาคมในกลุ่มประเทศ GMS โดยเฉพาะระเบียงเหนือ-ใต้ หรือไทย-จีนตอนใต้ ซึ่งมีการพัฒนาไปมากโดยมีการสร้างถนน สะพาน เส้นทางการบิน ทางเรือ ฯลฯ ถึงกันตลอด แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมาแต่ละจังหวัดในภาคเหนือ ซึ่งกำลังจะได้รับผลกระทบจากการพัฒนาดังกล่าวโดยตรง กลับมีการพัฒนาในลักษณะต่างฝ่ายต่างดำเนินการทำให้ดูเหมือนว่าไม่ได้เชื่อมต่อถึงกัน โดยเฉพาะระบบลอจิสติกส์ไม่ได้หมายถึงแค่การขนส่งแต่หมายถึงทุกๆ อย่างในการนำสินค้าจากแหล่งผลิตไปสู่จุดจำหน่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นจึงได้เสนอให้รัฐบาลอนุมัติให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ศึกษาวิจัยใน 8 จังหวัดบวก 3 ดังกล่าว ว่าสภาพปัจจุบันเป็นอย่างไร และในอนาคตแต่ละจังหวัดควรจะทำสิ่งใด เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพและความเหมาะสมของตัวเอง รวมทั้งหาแนวทางเชื่อมโยงระบบลอจิสติกส์ร่วมกัน ทั้งนี้หากได้รับการอนุมัติงบประมาณก็คงจะใช้เวลาเพียง1 ปีเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น