ข่าวความวุ่นวายจากความขัดแย้งทางด้านศาสนาในมาเลเซียที่ชักบานปลายจนถึงขั้นที่มีการก่อเหตุลอบวางเพลิงเผาโบสถ์ของชาวคริสต์ และโรงเรียนคอนแวนต์รวมกันนับสิบแห่งทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยฝีมือของชาวมุสลิมมาเลย์ถือเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนที่ถูกนำพูดถึงมากที่สุดประเด็นหนึ่งในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยที่มูลเหตุของความขัดแย้งดังกล่าว มีที่มาจากการที่ศาลสูงของมาเลเซียมี “คำตัดสินประวัติศาสตร์”เมื่อวันศุกร์ที่ 8 มกราคม อนุญาตให้หนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ “ เดอะเฮรัลด์ ” ซึ่งเป็นของเครือข่ายชาวคาทอลิกในมาเลเซีย สามารถใช้คำว่า “ อัลเลาะห์” แทนคำว่าพระเจ้าในศาสนาคริสต์ได้ จนสร้างความโกรธแค้นขุ่นเคืองให้กับชาวมุสลิม ที่เป็นชนส่วนใหญ่ที่จำนวนกว่าร้อยละ 62ของประเทศ
ข่าวดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมที่มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติอย่างมาเลเซีย เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยปรากฎว่ามีความขัดแย้งทางด้านศาสนาระหว่างชาวมุสลิมมาเลย์กับชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติต่างๆ ปะทุขึ้นเป็นประจำเช่นหนล่าสุดคือเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2006 ที่เกิดเหตุวุ่นวายและการประท้วงจนหวิดเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ หลังจากที่มีข่าวลือแพร่สะพัดในหมู่ชาวมุสลิมมาเลย์ว่า โบสถ์คริสต์แห่งหนึ่งในเมืองอิโปห์ รัฐเประ มีแผนจะชักจูงให้ชาวมุสลิมในพื้นที่เปลี่ยนไปเข้ารีตนับถือคริสต์ศาสนาแทน แม้ต่อมาเรื่องดังกล่าวจะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นเพียงข่าวโคมลอยเท่านั้นก็ตาม
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นรัฐบาลมาเลเซียในขณะนั้นซึ่งอยู่ภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรีอับดุลลาห์ บิน ฮาจิ อาหมัด บาดาวี ก็ได้ออกมาประกาศ “นโยบายความสมานฉันท์ทางศาสนา” ที่มีเป้าหมายต้องการให้ชนต่างศาสนาในมาเลเซียยุติความเป็นปรปักษ์ต่อกันลงอย่างสิ้นเชิงภายใน 5 ปี พร้อมผลักดันให้มาเลเซียก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างอันดีของประชาคมโลกในฐานะชาติที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในการยุติความขัดแย้งระหว่างผู้นับถือศาสนาต่างๆ ในประเทศ จนภาพลักษณ์ของมาเลเซียในด้านดังกล่าวได้รับการยอมรับอย่างมากจากประชาคมโลกในช่วง 3 ปีกว่าที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของมาเลเซียในฐานะของการเป็นประเทศมุสลิมสมัยใหม่ที่มีความเจริญก้าวหน้า และมีความปรองดองทั้งทางเชื้อชาติและศาสนาที่รัฐบาลเสือเหลืองพยายามจะโปรโมต กลับมีอันต้องมัวหมองและแปดเปื้อน หลังเกิดเหตุวุ่นวายระลอกล่าสุดและถือเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่สำหรับผู้นำคนปัจจุบัน คือ นายกรัฐมนตรีนาจิบ บิน ตุน ฮาจิ อับดุล ราซัค วัย 56 ปี ที่เพิ่งก้าวขึ้นมาครองอำนาจได้เพียง 9 เดือนเศษ ในการหาทางกอบกู้ภาพลักษณ์อันดีของประเทศกลับคืนมาอีกครั้ง
อัซมี ชารอม ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมจากมหาวิทยาลัยมลายา (ยูเอ็ม) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของมาเลเซียระบุว่า ความขัดแย้งทางศาสนาระลอกล่าสุดนี้ถือเป็น “ระเบิดลูกใหญ่” ที่ทำลายภาพลักษณ์การเป็นประเทศมุสลิมหัวสมัยใหม่ของมาเลเซียจนหมดสิ้น และเป็นการบ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากที่มาเลเซียอาจกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็น “รัฐอิสลามเต็มขั้น” ดังที่หลายฝ่าย เช่น พวกชนกลุ่มน้อยชาวจีนและอินเดียเคยหวั่นวิตกกันก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน อัซมียังกล่าวว่าการเผาโบสถ์และโรงเรียนคริสต์อย่างต่อเนื่องในระยะนี้ จริงๆแล้วอาจไม่ได้มีสาเหตุจากความไม่พอใจด้านศาสนาเพียงอย่างเดียว โดยตั้งข้อสังเกตว่าแกนนำระดับสูงหลายคนของพรรครัฐบาลอย่าง “อัมโน” อาจเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุวุ่นวายครั้งนี้ด้วยการยุยงปลุกปั่นและเติม “เชื้อไฟในใจ” ให้กับกลุ่มชาวมาเลย์มุสลิมชาตินิยม ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค ให้ออกมาก่อเหตุร้ายเพียงเพื่อหวังผลทางการเมืองก็เป็นได้
ขณะเดียวกัน เหตุร้ายอันมีที่มาจากคำว่า “อัลเลาะห์” นี้ ยังทำให้นายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของประเทศอย่างนาจิบ ราซัค ต้องตกอยู่ในภาวะ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” เนื่องจากหากรัฐบาลของเขาไม่รีบตัดสินใจหาช่องทางตามกฏหมายบางอย่างเพื่อ “ล้มล้าง” คำตัดสินของศาลสูงเกี่ยวกับการใช้คำดังกล่าว ก็ย่อมจะทำให้ตัวเขาและบรรดาสมาชิกพรรคอัมโน “ตกที่นั่งลำบาก” ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถือเป็นการตบหน้าชาวมาเลย์มุสลิมหัวอนุรักษ์นิยมที่เป็นฐานเสียงสำคัญของตัวเองแบบฉาดใหญ่ ซึ่งคงเป็นสิ่งที่ผู้นำมาเลเซียไม่พึงปรารถนาเท่าใดนัก
แต่หากนาจิบตัดสินใจหาทางล้มล้างคำตัดสินของศาลสูงขึ้นมา ภาพลักษณ์ของตัวเขาเองในฐานะผู้นำที่เป็น “ความหวัง” ของคนมาเลย์ทุกเชื้อชาติในการนำพาประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ลำดับ 3 ในอาเซียน ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความปรองดองและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ก็จะถูกทำลายย่อยยับและยังอาจทำให้นาจิบกลายเป็นคน “ตระบัดสัตย์” ในสายตาชาวโลกและชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติต่างๆในประเทศ เพราะเขาเคยประกาศตั้งแต่ 3 เมษายนปีก่อน ซึ่งเป็นวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศว่า “ผมขอให้คำมั่นที่จะยุติความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาให้หมดไป เพราะนับจากนี้ประเทศของเราจะไม่มีคนมาเลย์มุสลิม คนจีน หรือคนอินเดียอีกต่อไป แต่จะมีเพียงคนมาเลเซียเท่านั้น ”
ด้วยเหตุนี้จึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าอนาคตทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้นำที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดของอาเซียนในปีที่ผ่านมากำลัง “แขวนอยู่บนเส้นด้าย” และไม่ว่าผู้นำมาเลเซียจะตัดสินใจเลือกเดินทางใดทางหนึ่ง ก็จะต้องเจอกับผลลัพธ์อันไม่พึงปรารถนาทั้งสิ้น ดังนั้น ในยามนี้ชายที่ชื่อนาจิบ ราซัค คงจะไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้ว นอกเหนือไปจากการสวดอ้อนวอนให้องค์ “อัลเลาะห์” ช่วยดลบันดาลให้ตัวเขาพบ “ทางออก” ของปัญหานี้โดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะต้องจบชีวิตบนถนนสายการเมืองแบบ “ไม่สวยงาม”
ข่าวดังกล่าวอาจไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับสังคมที่มีประชากรหลากหลายเชื้อชาติอย่างมาเลเซีย เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยปรากฎว่ามีความขัดแย้งทางด้านศาสนาระหว่างชาวมุสลิมมาเลย์กับชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติต่างๆ ปะทุขึ้นเป็นประจำเช่นหนล่าสุดคือเมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2006 ที่เกิดเหตุวุ่นวายและการประท้วงจนหวิดเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ หลังจากที่มีข่าวลือแพร่สะพัดในหมู่ชาวมุสลิมมาเลย์ว่า โบสถ์คริสต์แห่งหนึ่งในเมืองอิโปห์ รัฐเประ มีแผนจะชักจูงให้ชาวมุสลิมในพื้นที่เปลี่ยนไปเข้ารีตนับถือคริสต์ศาสนาแทน แม้ต่อมาเรื่องดังกล่าวจะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นเพียงข่าวโคมลอยเท่านั้นก็ตาม
หลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้นรัฐบาลมาเลเซียในขณะนั้นซึ่งอยู่ภายใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรีอับดุลลาห์ บิน ฮาจิ อาหมัด บาดาวี ก็ได้ออกมาประกาศ “นโยบายความสมานฉันท์ทางศาสนา” ที่มีเป้าหมายต้องการให้ชนต่างศาสนาในมาเลเซียยุติความเป็นปรปักษ์ต่อกันลงอย่างสิ้นเชิงภายใน 5 ปี พร้อมผลักดันให้มาเลเซียก้าวขึ้นไปเป็นผู้นำและเป็นแบบอย่างอันดีของประชาคมโลกในฐานะชาติที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในการยุติความขัดแย้งระหว่างผู้นับถือศาสนาต่างๆ ในประเทศ จนภาพลักษณ์ของมาเลเซียในด้านดังกล่าวได้รับการยอมรับอย่างมากจากประชาคมโลกในช่วง 3 ปีกว่าที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ภาพลักษณ์ของมาเลเซียในฐานะของการเป็นประเทศมุสลิมสมัยใหม่ที่มีความเจริญก้าวหน้า และมีความปรองดองทั้งทางเชื้อชาติและศาสนาที่รัฐบาลเสือเหลืองพยายามจะโปรโมต กลับมีอันต้องมัวหมองและแปดเปื้อน หลังเกิดเหตุวุ่นวายระลอกล่าสุดและถือเป็นความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่สำหรับผู้นำคนปัจจุบัน คือ นายกรัฐมนตรีนาจิบ บิน ตุน ฮาจิ อับดุล ราซัค วัย 56 ปี ที่เพิ่งก้าวขึ้นมาครองอำนาจได้เพียง 9 เดือนเศษ ในการหาทางกอบกู้ภาพลักษณ์อันดีของประเทศกลับคืนมาอีกครั้ง
อัซมี ชารอม ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมจากมหาวิทยาลัยมลายา (ยูเอ็ม) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของมาเลเซียระบุว่า ความขัดแย้งทางศาสนาระลอกล่าสุดนี้ถือเป็น “ระเบิดลูกใหญ่” ที่ทำลายภาพลักษณ์การเป็นประเทศมุสลิมหัวสมัยใหม่ของมาเลเซียจนหมดสิ้น และเป็นการบ่งชี้ว่ามีความเป็นไปได้อย่างมากที่มาเลเซียอาจกำลังก้าวเข้าสู่ความเป็น “รัฐอิสลามเต็มขั้น” ดังที่หลายฝ่าย เช่น พวกชนกลุ่มน้อยชาวจีนและอินเดียเคยหวั่นวิตกกันก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกัน อัซมียังกล่าวว่าการเผาโบสถ์และโรงเรียนคริสต์อย่างต่อเนื่องในระยะนี้ จริงๆแล้วอาจไม่ได้มีสาเหตุจากความไม่พอใจด้านศาสนาเพียงอย่างเดียว โดยตั้งข้อสังเกตว่าแกนนำระดับสูงหลายคนของพรรครัฐบาลอย่าง “อัมโน” อาจเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุวุ่นวายครั้งนี้ด้วยการยุยงปลุกปั่นและเติม “เชื้อไฟในใจ” ให้กับกลุ่มชาวมาเลย์มุสลิมชาตินิยม ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรค ให้ออกมาก่อเหตุร้ายเพียงเพื่อหวังผลทางการเมืองก็เป็นได้
ขณะเดียวกัน เหตุร้ายอันมีที่มาจากคำว่า “อัลเลาะห์” นี้ ยังทำให้นายกรัฐมนตรีคนที่ 6 ของประเทศอย่างนาจิบ ราซัค ต้องตกอยู่ในภาวะ “กลืนไม่เข้า คายไม่ออก” เนื่องจากหากรัฐบาลของเขาไม่รีบตัดสินใจหาช่องทางตามกฏหมายบางอย่างเพื่อ “ล้มล้าง” คำตัดสินของศาลสูงเกี่ยวกับการใช้คำดังกล่าว ก็ย่อมจะทำให้ตัวเขาและบรรดาสมาชิกพรรคอัมโน “ตกที่นั่งลำบาก” ในการเลือกตั้งครั้งต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะถือเป็นการตบหน้าชาวมาเลย์มุสลิมหัวอนุรักษ์นิยมที่เป็นฐานเสียงสำคัญของตัวเองแบบฉาดใหญ่ ซึ่งคงเป็นสิ่งที่ผู้นำมาเลเซียไม่พึงปรารถนาเท่าใดนัก
แต่หากนาจิบตัดสินใจหาทางล้มล้างคำตัดสินของศาลสูงขึ้นมา ภาพลักษณ์ของตัวเขาเองในฐานะผู้นำที่เป็น “ความหวัง” ของคนมาเลย์ทุกเชื้อชาติในการนำพาประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ลำดับ 3 ในอาเซียน ก้าวเข้าสู่ยุคแห่งความปรองดองและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ก็จะถูกทำลายย่อยยับและยังอาจทำให้นาจิบกลายเป็นคน “ตระบัดสัตย์” ในสายตาชาวโลกและชนกลุ่มน้อยเชื้อชาติต่างๆในประเทศ เพราะเขาเคยประกาศตั้งแต่ 3 เมษายนปีก่อน ซึ่งเป็นวันแรกที่เข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศว่า “ผมขอให้คำมั่นที่จะยุติความขัดแย้งทางเชื้อชาติและศาสนาให้หมดไป เพราะนับจากนี้ประเทศของเราจะไม่มีคนมาเลย์มุสลิม คนจีน หรือคนอินเดียอีกต่อไป แต่จะมีเพียงคนมาเลเซียเท่านั้น ”
ด้วยเหตุนี้จึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าอนาคตทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีนาจิบ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในผู้นำที่มีบทบาทโดดเด่นที่สุดของอาเซียนในปีที่ผ่านมากำลัง “แขวนอยู่บนเส้นด้าย” และไม่ว่าผู้นำมาเลเซียจะตัดสินใจเลือกเดินทางใดทางหนึ่ง ก็จะต้องเจอกับผลลัพธ์อันไม่พึงปรารถนาทั้งสิ้น ดังนั้น ในยามนี้ชายที่ชื่อนาจิบ ราซัค คงจะไม่มีทางเลือกอื่นใดอีกแล้ว นอกเหนือไปจากการสวดอ้อนวอนให้องค์ “อัลเลาะห์” ช่วยดลบันดาลให้ตัวเขาพบ “ทางออก” ของปัญหานี้โดยเร็วที่สุด ก่อนที่จะต้องจบชีวิตบนถนนสายการเมืองแบบ “ไม่สวยงาม”