xs
xsm
sm
md
lg

อัยการสั่งฟ้อง “สมคิด” พัวพันฆ่า “อัลรู ไวรี”

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


อัยการสั่งฟ้องคดี “พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม” และพวก พัวพันฆ่า “อัลรู ไวรี่” เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่เห็นว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 มีมูลความผิด อีกทั้งพยานหลักฐานมีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้ ด้าน "สมคิด" ปิดปากเงียบไม่แสดงความคิดเห็นใด เดินเลี่ยงสื่อด้วยสีหน้าเรียบเฉย



คลิกที่นี่ เพื่อฟัง นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ ให้สัมภาษณ์

วันนี้ (12 ม.ค.) ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก เวลา 10.00 น. นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นัดสั่งคดีที่พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภ.5 กับพวก รวม 5 คน เป็นผู้ต้องหาร่วมกันฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ (Mr.Mohammad Al - Ruwaily) นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย พระญาติกษัตริย์ไฟซาล ซึ่งหายตัวไปเมื่อเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยนายธนพิชญ์ได้แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบว่า คณะทำงานอัยการพิจารณาพยานหลักฐานแล้วมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด

ต่อมานายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้นำพล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อายุ 57 ปี ผบช.ภ.5 , พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท อายุ 53 ปี ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ,พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล อายุ 52 ปี ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี , พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี อายุ 64 ปี นายตำรวจนอกราชการ และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง อายุ 50 ปี อาชีพรับจ้าง ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 – 5 ตามลำดับ ผู้ต้องหาทั้งหมดมายื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญา ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อปกปิดการกระทำความผิดอื่นของตน และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นความผิดทางอาญาที่ตนได้กระทำไว้ , ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดจำเลยทั้งห้าสรุปว่า

เมื่อประมาณปี 2530 เกิดความขัดแย้งขึ้นอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลซาอุฯ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนีย์กับรัฐบาลประเทศอิหร่าน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกาย ชีอะห์ เนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนา รวมทั้งสาเหตุที่รัฐบาลซาอุฯ ทำการปราบปรามสลายการชุมนุมของกลุ่มประท้วงกลุ่มมุสลิมนิกาย ชีอะห์ ที่มาแสวงบุญที่เมืองเมกกะห์ ประเทศซาอุฯ ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่านเสียชีวิตจำนวนมาก

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเหตุลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่นักการทูต ของรัฐบาลของประเทศซาอุฯ ในประเทศต่างๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 32 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตของสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ ประจำประเทศไทย เสียชีวิต 1 คน เหตุเกิดที่บริเวณ แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ ได้แจ้งขอร้องต่อรัฐบาลไทย ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่สถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่นักการทูตอย่างเต็มที่ และแจ้งเตือนถึงกรมตำรวจในขณะนั้น และกระทรวงการต่างประเทศของไทย ในเรื่องดังกล่าวหลายครั้ง แต่ต่อมาวันที่ 1 ก.พ.33 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตซาอุฯ อีก 2 ครั้ง ทำให้ นักการทูตของซาอุฯ เสียชีวิต รวม 3 ราย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา กทม. รัฐบาลไทยขณะนั้นสั่งการให้ พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อธิบดีกรมตำรวจ ดำเนินการติดตามและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้

ต่อมาระหว่างวันที่ 12-15 ก.พ. 33 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งห้า ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล พระนครใต้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยจำเลยที่ 1 มียศเป็น พ.ต.ท. ตำแหน่ง รอง ผกก. จำเลยที่ 2 และ 3 มียศ ร.ต.อ.ตำแหน่ง รอง สว. ส่วนจำเลยที่ 4 ยศ ร.ต.ท. ตำแหน่ง รอง สว. และจำเลยที่ 5 ยศ จ.ส.ต. ตำแหน่ง ผบ.หมู่ ซึ่งจำเลยทั้งห้าได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามสืบสวนจับกุมคนร้ายที่ฆ่านักการทูตซาอุฯ ดังกล่าว โดยจำเลยทั้งห้า กับพวก ได้บังอาจร่วมกันลักพาตัว นายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุฯ ประกอบธุรกิจจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศซาอุฯ เนื่องจากจำเลยทั้งห้า เข้าใจว่า นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวรี่ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของนักการทูตซาอุฯ เพราะมีความขัดแย้งกันเรื่องจัดส่งแรงงานไทย โดยจำเลยทั้งห้าบังคับนำตัว นายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ ไปหน่วงเหนี่ยว หรือกักขังไว้ที่โรงแรมฉิมพลี แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กทม. บังคับข่มขื่นใจใช้กำลังประทุษร้าย ชกต่อย และทำร้ายร่างกายโดยวิธีการต่าง ๆ มีวัตถุประสงค์ เพื่อซักถามข้อเท็จจริง เพื่อให้นายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ ยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่านักการทูตซาอุฯ

ทั้งนี้ จำเลยทั้งห้ามีเจตนาฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ จนถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อปกปิดความผิดของตนในความผิดที่จำเลยร่วมกันลักพาตัวนายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ มาหน่วงเหนี่ยวกักขัง และทำร้ายร่างกาย เพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้น ในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ดังกล่าวมา

นอกจากนี้ จำเลยทั้งห้า ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายชกต่อยทำร้ายร่างกายนายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ โดยวิธีการต่าง ๆ และร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ จนถึงแก่ความตาย สมดังเจตนา โดยไตร่ตรองไว้ก่อน และได้ร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือ ทำลายศพ โดยนำศพของ นายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ ไปเผาทำลายภายในไร่ ท้องที่ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อปิดบังการตาย หรือปิดบังสาเหตุของการตาย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา , แขวงและเขต บางกะปิ , แขวงคลองตัน เขตพระโขนง และที่ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เกี่ยวพันกัน

ต่อมาวันที่ 24 พ.ย.52 จำเลยทั้งห้าได้พบกับพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยแจ้งข้อกล่าวหาและทำการสอบสวนแล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยึดแหวนของนายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ ที่สวมใส่อยู่ขณะเกิดเหตุจำนวน 1 วง ของกลาง ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งห้า ให้การปฏิเสธ โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 , 289 , 309 , 310 , 83 , พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 6 พ.ศ.2526 มาตรา 4 และขอให้ศาลมีคำสั่งคืนแหวนของกลางคืนให้กับทายาทของนายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ด้วย

ศาลอาญารับคำฟ้องไว้เป็นคดีดำที่ อ.119/2553 โดยศาลอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งห้าฟัง พร้อมสอบคำให้การว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าแถลงให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี โดยจัดเตรียมทนายความไว้เรียบร้อยแล้ว ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 มี.ค.53 เวลา 09.00น. ต่อมาทนายความของจำเลยทั้งห้า ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด จำนวนคนละ 500,000 บาท เพื่อขอประกันตัว

ภายหลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ กล่าวว่า หลังจากที่นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ได้ตั้งคณะทำงาน เพื่อพิจารณาคดีนี้ โดยมีรองอัยการสูงสุด 2 ท่าน และอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา ซึ่งจากการพิจารณาสำนวนคดีและพยานหลักฐาน รวมทั้งพยานหลักฐานใหม่แล้ว คณะทำงานอัยการเห็นว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 มีมูลความผิด ประกอบกับพยานหลักฐานมีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้ จึงมีความเห็นสั่งฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภ.5 พร้อมพวกรวม 5 คน ซึ่งขั้นตอนต่อไปอัยการจะนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 ไปส่งฟ้องต่อศาลอาญา ส่วนกรณีที่ พล.ต.ท.สมคิด ฟ้องตนและเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษกลับ ในข้อหาปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น ตนเห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่สามารถทำได้ ซึ่งทางอัยการก็จะแก้ต่างไปตามพยานหลักฐาน

เมื่อถามว่าคดีดังกล่าวจะคล้ายกับคดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือไม่นั้น นายธนพิชญ์ กล่าวว่า พฤติการณ์ของคดีทั้ง 2 นั้นไม่เกี่ยวข้องกัน ขอให้อย่าเอาไปโยงกัน ซึ่งมันเป็นคนละคดีกัน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นตนได้รายงานความเห็นสั่งฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด พร้อมพวกรวม 5 คน ต่ออัยการสูงสุดแล้ว ส่วนจะรายงานต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หรือไม่นั้น ตนเห็นว่านายกรัฐมนตรี น่าจะทราบข่าวจากทางสื่อมวลชนแล้ว

ทางด้าน พล.ต.ท.สมคิด หลังฟังคำสั่งแล้วได้ปฎิเสธที่จะตอบคำถามต่อสัมภาษณ์สื่อมวลชน โดยเดินเลี่ยงไปด้วยสีหน้าเรียบเฉย

ต่อมาผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังศาลพิจารณาคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัวที่ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภ.5 , พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน , พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี , พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี นายตำรวจนอกราชการ และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง ตำรวจนอกราชการ ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 – 5 ตามลำดับ ผู้ต้องหาร่วมกันอุ้มฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวลี่ นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย ยื่นเงินสดคนละ 5 แสนบาทแล้ว ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 5 โดยตีราคาประกันคนละ 5 แสนบาท

ภายหลัง พล.ต.ท. สมคิด บุญถนอม กล่าวยืนยันถึงความบริสุทธิ์และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุฯ แต่ยินดีที่จะเข้าสู่กระบวนยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ตัวเอง พร้อมทั้งขอความเป็นธรรมต่อศาล และขอเรียกร้องให้อุปทูตซาอุฯ ตรวจสอบความถูกต้องของพยานหลักฐานที่ดีเอสไอนำมากล่าวอ้างว่าตนกับพวกกระทำผิด ซึ่งพยานดังกล่าวให้การกลับไปกลับมา ซึ่งตามกฎหมายถือว่าไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งพยานคนดังกล่าวมีหมายจับ ภายหลังทางดีเอสไอได้ปล่อยตัวไป หากในชั้นศาลพยานหลบหนีไม่มาเบิกความต่อศาลหรือ ศาลตัดพยานปากนี้ออกไป จะทำให้ตนไม่มีโอกาสพิสูจน์ความจริง ตนขอต่อสู้ทุกประเด็นเรื่องการให้การของพยานปากนี้และความไม่เป็นธรรมของพนักงานสอบสวน รวมทั้งแหวน ของกลาง พยานในคดี ที่ไม่มีการตรวจสอบให้ชัดเจนว่าได้จากใคร และไม่เปิดโอกาสให้จำเลยเข้าไปตรวจสอบและยืนยันว่าแหวนดังกล่าวพนักงานสอบสวนไม่ได้มาโดยตรง จากตนและพวกทั้ง 5 คน อย่างแน่นอน

เมื่อถามว่าเป็นการเอาคืนทางการเมืองกับ ตระกูลบุญถนอม หรือไม่ พล.ต.ท.สมคิด กล่าวว่า นามสกุลบุญถนอมมีคนใช้เยอะและไม่ใช่ประเด็นสำคัญทางการเมือง แต่อาจจะมีบ้าง งานบางอย่างที่ทำ อาจจะไปขัดแย้งกับคนอื่น ส่วนจะการแต่งตั้งโยกย้ายนั้น ก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้บังคับบัญชา ซึ่งตนเห็นว่าเรื่องดังกล่าวจบไปตั้งแต่สมัยปี 2536 ที่เคยถูกพักราชการและในที่สุดแล้วอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว

ด้านนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ กล่าวว่า จะต่อสู้คดี 3 ประเด็น คือ ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้ง 5 เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่มีการแจ้งดำเนินคดี ข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ มาตรา 157 และโต้แย้งประเด็นอัยการมีอำนาจฟ้องร้องหรือไม่ และคำให้การของพยานไม่มีการสอบสวนข้อเท็จจริง ส่วนแหวนที่เป็นของกลาง ไม่ได้จากตัวจำเลย แต่ได้จากตัวพยาน ซึ่งตนเห็นว่าหากมีการสอบสวนโดยมิชอบไม่ได้ตัวคนร้ายตัวจริงมาลงโทษ นั้นแหละจึงอาจจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างแท้จริง และสุดท้ายประชาชนก็เห็นถึงการทำงานที่ล้มเหลวของดีเอสไอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าส่วนที่ทนายความ พล.ต.ท.สมคิดกับพวก ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนอำนาจการยื่นฟ้องของอัยการ ปรากฏว่าศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีเหตุอันสมควร




กำลังโหลดความคิดเห็น