มีเรื่อง 2 เรื่องที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกัน หลายคนอาจคิดว่า เรื่องนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกัน แต่เมื่อนำเหตุและนำผลมาปะติดปะต่อกันแล้ว จะเห็นได้ว่า เรื่องนี้ “นช.ทักษิณ ชินวัตร” เจตนาและจงใจที่จะขยายความเรื่องให้กลายเป็นปัญหาเดียวกัน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง “ไทย” กับ “ซาอุดิอาระเบีย” ร้าวฉาวหนักขึ้นไปอีก
เรื่องแรกคือ คดีการหายตัวไปของ “นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวรี่” นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย ที่มีศักดิ์เป็นพระญาติของกษัตริย์ไฟซาลแห่งซาอุดิอาระเบีย ที่จะสิ้นอายุความลงในวันที่ 12 ก.พ.ศกนี้ และอัยการกำลังจะมีคำสั่งว่า ฟ้องหรือไม่ฟ้อง “พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม” ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 พร้อมกับพวกในวันที่ 12 ม.ค.ที่ผ่านมาหลังจากเลื่อนมาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงเดือน ธ.ค.52
คดีนี้ เป็นคดีที่รัฐบาลซาอุดิอาระเบียให้ความสำคัญและมีการเคลื่อนไหวกดดันประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการที่ “นายนาบิล ฮุสเซ็น อัชรี” อุปทูตซาอุดิอาระเบีย ที่เดินเกมอย่างหนัก ทั้งการให้สัมภาษณ์สื่อต่างๆ และการขอเข้าพบบุคคลสำคัญของรัฐบาลไทยหลายต่อหลายคน ทั้งนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกรทรวงมหาดไทยและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา
เรื่องที่สองก็คือ การที่ นช.ทักษิณโม้ผ่านทวิตเตอร์ว่า ตัวเองได้รับการทาบทามจากเจ้าชายซาอุดิอาระเบียพระองค์หนึ่งให้ไปนั่งแป้นเป็นกรรมการในโครงการเมืองใหม่ของซาอุดิอาระเบีย
คำถามคือ เรื่องนี้มีความเกี่ยวพันกันอย่างไร?
นช.ทักษิณเจตนาหยิบเรื่องเจ้าชายซาอุดิอาระเบียเชิญไปนั่งกรรมการผังเมืองในโครงการเมืองใหม่ของซาอุดิอาระเบียในช่วงจังหวะเวลาที่อัยการกำลังพิจารณาคำสั่งว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องอย่างพอดิบพอดีและมีนัยสำคัญยิ่ง
เรื่องนี้ในทางการเมืองแล้ว ถือเป็นเหลี่ยมคูที่เข้าขั้นสุดยอดทีเดียว เพราะรู้จักหยิบเอาสถานการณ์ร้อนขึ้นมาเป็นประเด็นเรียกความสนใจ แต่ถ้านช.ทักษิณยังคงมีความเป็น “คนไทย” และมีจิตสำนึกรักแผ่นดินเกิดหลงเหลืออยู่บ้าง เขาคงไม่หยิบประเด็นนี้ขึ้นมา เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่จะก่อให้เกิดผลกระทบตามมามากมาย
ทว่า นั่นไม่ใช่ชายชื่อทักษิณ เพราะนักธุรกิจอย่างเขาไม่เคยยึดติดกับคำว่า “ชาติ” และชาติน่าจะไม่มีความหมายอะไรสำหรับเขา มิฉะนั้นแล้วเขาคงไม่สุมไฟปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาให้ลุกลามจนถึงขั้นทั้งสองประเทศเรียกเอกอัครราชทูตของตนกลับ และนายฮุนเซ็น นายกรัฐมนตรีกัมพูชาประกาศตัวเป็นคนเสื้อแดงเพื่อล้มรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เหมือนเช่นทุกวันนี้
ดังนั้น ปัญหาระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียก็เป็นไปในท่วงทำนองเดียวกัน
นช.ทักษิณต้องการแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลซาอุดิอาระเบียตัดสินใจที่จะเลือกและให้ความสำคัญกับเขามากกว่ารัฐบาลของนายอภิสิทธิ์
แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ต้องการสื่อให้เห็นว่า เขามีศักยภาพที่จะนำพาแรงงานที่ต้องการเดินทางไปทำงานในประเทศซาอุดิอาระเบียได้ หลังจากซาอุดิอาระเบียไม่พอใจในการทำคดีจนตัดความสัมพันธ์ทางการทูตและปิดฉากการค้าแรงงานไทยในซาอุฯ เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้
เขาคือคนที่สามารถทำให้ซาอุฯ กลายเป็นขุมทองของแรงงานไทยได้ และต้องการปลุกกระแส “ถ้าอยากไปซาอุฯ ต้องรักและเลือกทักษิณ” เพื่อช่วงชิงคะแนนเสียงที่ทำท่าจะย่ำแย่ให้กลับคืนมาอีกครั้ง
นอกจากนั้น บรรดาพลพรรคสมุนคนเสื้อแดงก็หยิบยกเรื่องนี้ออกมาโจมตีรัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมไทยเป็นระยะๆ โดยเฉพาะ “นายจตุพร พรหมพันธุ์” ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนองใส่ร้ายว่า ขณะนี้ทางซาอุดิอาระเบียพบว่ามีบุคคลระดับสูงของรัฐบาลไทยพยายามเข้าไปวิ่งเต้นเพื่อให้อัยการสั่งไม่ฟ้องและเลื่อนการสั่งคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุดิอาระเบีย ที่มี พล.อ.สมคิดเป็นจำเลย เพื่อช่วยคนที่อยู่ฝ่ายรัฐบาล
เรียกว่า เคลื่อนไหวและรับส่งลูกไปในท่วงทำนองเดียวกัน
แต่แล้วความฝันที่ย่ำยีความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียก็มีอันต้องสลายไป เพราะหลังจากอัยการประมวลเอกสารหลักฐานทั้งหมดที่กรมสอบสวนคดีพิเศษนำเสนอมา ก็มีคำสั่ง “ฟ้อง” พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม พร้อมกับพวกอีก 4 คน ได้แก่ พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ,พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี , พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี นายตำรวจนอกราชการ และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง อาชีพรับจ้าง
แน่นอน เมื่ออัยการสั่งฟ้องในคดีนายอัลลูไวรี่ รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ก็สามารถหายใจหายคอได้อีกเฮือก เพราะนั่นหมายความว่า ผลที่ออกมาน่าจะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดิอาระเบียพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น และไม่ต้องถูกคนไทยใจเขมรอย่าง นช.ทักษิณหยิบยกขึ้นมาปั่นหัวเพื่อหวังผลในทางการเมืองอีกต่อไป
แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้คงไม่จบลงง่ายๆ และนายอภิสิทธิ์จำต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะมีความพยายามของ นช.ทักษิณที่จะขยายความเรื่องนี้ต่อไป และเมื่อใดก็ตามถ้าหากนช.ทักษิณสามารถนำตัวเองเข้าไปเชื่อมโยงกับรัฐบาลซาอุดิอาระเบียได้สำเร็จไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เรื่องนี้จะสามารถเขย่ารัฐบาลนายอภิสิทธิ์ได้อย่างชะงัด
โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าหาก นช.ทักษิณสามารถใช้ซาอุดิอาระเบียเป็นฐานในการเคลื่อนไหวทางการเมืองเหมือนดังเช่นดูไบและกัมพูชาด้วยแล้ว สถานการณ์จะยิ่งบานปลายไปกันใหญ่ เพราะไม่รู้ว่า เขาจะไปยุยงส่งเสริมหรือสุมไฟให้รัฐบาลและราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียให้เข้าใจอะไรผิดหรือไม่
และเชื่อขนมกินเถอะว่า นช.ทักษิณกำลังมีความพยายามที่จะทำให้ตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนั้นจริงๆ
ส่วนสุดท้ายแล้ว คดีนี้จะเป็นอย่างไร พล.ต.ท.สมคิดมีความผิดจริงอย่างที่กล่าวหาหรือไม่ คงต้องรอให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน
------------------------------------------------------------------------
“แหวนจันทร์เสี้ยว” ชนวนเหตุสั่งฟ้อง “สมคิด”
ที่มาของคดีฆาตกรรมนายโมฮัมเหม็ด อัลลู ไวรี่ เมื่อพิจารณาจากคำสั่งฟ้องของอัยการจะพบว่า มีที่มาที่ไปจากความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลซาอุฯ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนีย์กับรัฐบาลประเทศอิหร่าน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกาย ชีอะห์ ผลของความขัดแย้งทางศาสนา รวมทั้งสาเหตุที่รัฐบาลซาอุฯ ทำการปราบปรามสลายการชุมนุมของกลุ่มประท้วงกลุ่มมุสลิมนิกาย ชีอะห์ ที่มาแสวงบุญที่เมืองเมกกะห์ ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่านเสียชีวิตจำนวนมาก
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเหตุลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่นักการทูตของซาอุฯ ในประเทศต่างๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 32 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตของสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ ประจำประเทศไทย เสียชีวิต 1 คน ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ ได้แจ้งขอร้องต่อรัฐบาลไทยให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่สถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่นักการทูตอย่างเต็มที่ และแจ้งเตือนถึงกรมตำรวจในขณะนั้น และกระทรวงการต่างประเทศของไทย ในเรื่องดังกล่าวหลายครั้ง แต่ต่อมาวันที่ 1 ก.พ.33 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตซาอุฯ อีก 2 ครั้ง ทำให้นักการทูตของซาอุฯ เสียชีวิต รวม 3 ราย
ทั้งนี้ สำนวนฟ้องระบุถึงความผิดของจำเลยทั้ง 5 ว่าต่อมาระหว่างวันที่ 12-15 ก.พ. 33 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งห้าได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามสืบสวนจับกุมคนร้ายที่ฆ่านักการทูตซาอุฯ ดังกล่าว แต่จำเลยได้ร่วมกันลักพาตัว นายอัลรู ไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุฯ ประกอบธุรกิจจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศซาอุฯ เนื่องจากเข้าใจว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของนักการทูตซาอุฯ เพราะมีความขัดแย้งกันเรื่องจัดส่งแรงงานไทย จากนั้นได้วิธีการต่างๆ เพื่อให้นายอัลรู ไวรี่ ยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่านักการทูตซาอุฯ และในที่สุดนายอัลรู ไวรี่ก็ถึงแก่ความตาย
การหายตัวของนายอัลรูไวรี่นั้น เกิดขึ้นในวันที่ 12 ก.พ.33ขณะที่เขาขับรถหมายเลขทะเบียน 3ข-9867 กทม.ออกจากบ้านไปทำงานเมื่อเวลา 15.00 น. และหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย จากนั้น ทางการซาอุฯ ได้เข้าแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งมหาเมฆ และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจสอบสถานที่ต่างๆ แต่ก็ไม่พบร่องรอย จนกระทั่งวันที่ 15 ก.พ.33 เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้พบรถยนต์จอดอยู่ที่ลานจอดรถของรพ.กรุงเทพ คริสเตียน แต่ไม่พบตัวของนายอัลรูไวรี่แต่อย่างใด
เมื่อไร้ศพ การทำคดีของตำรวจก็ไม่อาจคืบหน้าไปได้ และในที่สุดอัยการก็มีคำสั่งไม่ฟ้อง อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งในช่วงรัฐบาลนช.ทักษิณ เมื่อได้มีการตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และมีการโอนคดีนี้มาให้ดูแล แต่เรื่องก็ยังคงเงียบหายไปเช่นเดิม
ต่อมาในยุคที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นอธิบดีดีเอสไอก็ได้ปัดฝุ่นคดีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง แต่ก็เป็นการทำคดีที่เต็มไปด้วยคำถามตามมามากมายว่า พ.ต.อ.ทวีหยิบยกคดีนี้ขึ้นในช่วงที่เก้าอี้อธิบดีดีเอสไอของเขาเริ่มสั่นคลอน จากนั้นก็นำไปสู่การเรียกตัว พล.ต.ท.สมคิดกับพวกอีก 5 คนมารับทราบข้อกล่าวหา พร้อมระบุว่า มีพยานหลักฐานใหม่ที่มีน้ำหนักพอจะสั่งฟ้องผู้ต้องหาในคดีนี้ได้
ทั้งนี้ หลักฐานที่ว่านั้น ก็คือ “แหวนจันทร์เสี้ยว” ซึ่งพนักงานสอบสวนของดีเอสไปพบถูกสวมอยู่ในนิ้วของ พ.ต.ท.สุวิชชา แก้วผลึก และรายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อนำแหวงวงนี้ไปให้ภรรยาของนายอัลรู ไวรี่ดู ปรากฏว่าเป็นแหวนที่เขาสวมเป็นประจำ อีกทั้งยังเป็นแหวนประจำตระกูลของนายอัลรูไวรี่อีกด้วย
--------------------------------------------------------------------------------
5 คำถามคาใจ “สมคิด”
หลังอัยการมีคำสั่ง “ฟ้อง” ในคดีการหายตัวไปของนายอัลรูไวรี่ “พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม" ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ได้ออกคำชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยมี 5 ประเด็นค้างค้าใจดังต่อไปนี้
1.การสร้างภาพตอกย้ำให้น่าเชื่อว่าเป็นผู้กระทำผิด ขณะนี้มีการนำรายละเอียดของคำให้การ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก พยานในคดีมาเปิดเผยกับสื่อมวลชน เสนอข่าวให้น่าเชื่อถือว่าเป็นประจักษ์พยาน เห็นเหตุการณ์จริง ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วในอดีตเคยให้การว่าไม่เห็นเหตุการณ์ แต่มากลับคำให้การใหม่ ตามหลักกฎหมายเป็นคำให้การที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการคดีพิเศษ กลับอ้างว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ น่าเชื่อถือและมีความเห็นสั่งฟ้อง ซึ่งกระผมได้ฟ้องคดีต่อศาลอาญาไว้แล้ว เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
2.ที่มาของการให้การ ของ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก พยานที่มีหมายจับ นั้น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้นำตัวขณะที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก อยู่ระหว่างหลบหนีหมายจับศาลมีนบุรี ซึ่งมีคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในคดีฆ่านายฉัตรดำรงพรรณ ชัยเฉลิมภัค เพื่อให้การปรักปรำกระผมกับพวก ก่อนปล่อยตัวไปหรือไม่
- ถามว่าคำให้การ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก พยานปากนี้ ถูกบีบบังคับด้วยหมายจับเพื่อให้การปรักปรำกระทำกับพวกก่อนปล่อยตัวไปหรือไม่
- ถามว่า พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ อดีตรอง ผบ.ตร.ที่ได้รับแต่งตั้งให้ร่วมเป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ เคยไปเตือนเรื่องหมายจับแล้ว แต่โต้แย้งว่าไม่มีหน้าที่จับกุม ผู้ต้องหาตามหมายจับ ใช่หรือไม่
- ถามว่า เมื่อคดีถึงศาล ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษปล่อยตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก พยานหลบหนีหมายจับ ไม่สามารถนำตัวมาเบิกความได้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งได้เคยแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทราบปัญหานี้แล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบ
3.ปัญหาที่กระทบกับคดีนี้ ขณะนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งจะต้องรับผิดชอบกรณี ปล่อยตัวพยานปากนี้ไป ทั้งๆ ที่มีหมายจับ ซึ่ง พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ เคยเตือนเรื่องหมายจับ และการรับฟังน้ำหนักพยาน เนื่องจากเป็นการกลับคำให้การใหม่ กฎหมายไม่ถือว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ ไม่น่าเชื่อถือ
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เคยสั่งการให้นำตัวพยานปากนี้ไปขออนุญาตศาลสืบพยานล่วงหน้าโดยอ้างว่าติดตามตัวพยานยาก และเกรงว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานทั้งๆ ที่มีหมายจับ เพียงแต่จับกุมตัวส่งเรือนจำตามหมายจับมีนบุรีของศาลมีนบุรี ก็จะเป็นการง่ายในการนำตัวไปเบิกความ
คดีนี้หากไม่สามารถนำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก มาเบิกความยืนยันคำให้การที่เป็นเท็จ กลับไปกลับมา ไม่น่าเชื่อถือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ปัญหาที่จะตามมาอันมีผลกระทบต่อการพิสูจน์ความจริง
4.ขอเรียกร้องให้ท่านอุปทูตซาอุฯ ประจำประเทศไทย ทวงถามความจริงใจในการแก้ไขปัญหาคดีนี้ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งกำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับผิดชอบการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้ ซึ่งเป็นผู้นำ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก พยานปากนี้มาให้การ ว่าเหตุใด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จึงปล่อยตัวพยานปากนี้ไป ทั้งๆ ที่อ้างว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ อันสำคัญแห่งคดี ใช้เป็นข้อมูลสำหรับดำเนินคดีกระผมกับพวกได้
- ความรับผิดชอบ หากไม่สามารถนำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก พยานมาเบิกความได้ ปัญหาก็จะไม่จบสิ้น มิใช่เป้าหมายเพียงแต่ดำเนินคดี กระผมกับพวกเท่านั้น
5.ภาพที่สื่อมวลชน กำลังเสนอเรื่องราวเหตุการณ์ ที่มีผู้จงใจนำจากสำนวนในคดี มาเปิดเผยเพื่อชักจูงให้เชื่อว่า กระผมกับพวกเป็นผู้กระทำผิดนั้น จึงเป็นเหตุการณ์ที่ยังมิได้มีการพิสูจน์ว่าจริงเท็จประการใด ตามข้อเท็จจริงที่เรียนเบื้องต้นไปแล้ว แต่ก็สร้างความเสียหายกระทบต่อความเชื่อมั่นของสังคม และประชาชน เนื่องจากในอดีต กระผมมีบทบาทและหน้าที่ในการเข้าไปสืบสวนในคดีขบวนการสังหารเจ้าหน้าที่สถานทูตซาอุฯ เหตุเกิดระหว่างปี 2532-2533 ซึ่งในอดีตมีข้อสงสัยว่ากระผมมีส่วนเกี่ยวข้องก็ได้มอบตัว ถูกดำเนินคดีไปครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อปี 2536 ผลคดี พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้นการที่มีการกล่าวหาว่า กระผมกับพวกเป็นผู้กระทำผิดนั้น จึงยินดีที่จะให้สังคมและประชาชน ตรวจสอบและพิสูจน์ความจริง ผ่านกระบวนการยุติธรรมเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ