xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้องอุ้มฆ่า"อัลรูไวรี่" ส่ง"สมคิด"สู้คดีในศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-อัยการสั่งฟ้อง“พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม”และพวกพัวพันฆ่า“อัลรู ไวรี่” คำฟ้องระบุชัด มีพยานหลักฐานใหม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่ากลุ่มผู้ต้องหามีเจตนาฆ่าเหยื่อ "สมคิด" ยื่น 5 แสน ประกันตัวสู้คดีในศาล “มาร์ค”ยันไม่ให้ใครแทรกแซงคดี โยนพักงานหรือไม่ อยู่ที่ผู้บังคับบัญชาตัดสิน ด้านอุปทูตซาอุฯชื่นชมไทย ทวงถามอีก 2 คดีฆ่าฑูต-คดีเพชร

วานนี้(12 ม.ค.)ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก เวลา 10.00 น.นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นัดสั่งคดีที่ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภ.5 กับพวก รวม 5 คน เป็นผู้ต้องหาร่วมกันฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ (Mr.Mohammad Al - Ruwaily)นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย พระญาติกษัตริย์ไฟซาล ซึ่งหายตัวไปเมื่อเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา โดยนายธนพิชญ์ ได้แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบว่า คณะทำงานอัยการพิจารณาพยานหลักฐานแล้วมีความเห็นสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด

ต่อมานายรุจ เขื่อนสุวรรณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 ได้นำ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อายุ 57 ปี ผบช.ภ.5 , พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท อายุ 53 ปี ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ,พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล อายุ 52 ปี ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี ,พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี อายุ 64 ปี นายตำรวจนอกราชการ และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง อายุ 50 ปี อาชีพรับจ้าง ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 – 5 ตามลำดับ ผู้ต้องหาทั้งหมดมายื่นฟ้องเป็นจำเลยต่อศาลอาญา ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อปกปิดการกระทำความผิดอื่นของตน และเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นความผิดทางอาญาที่ตนได้กระทำไว้ , ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย โดยอัยการโจทก์ระบุฟ้องความผิดจำเลยทั้งห้าสรุปว่า

เมื่อประมาณปี 2530 เกิดความขัดแย้งขึ้นอย่างรุนแรงระหว่างรัฐบาลซาอุฯ ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกายซุนนีย์กับรัฐบาลประเทศอิหร่าน ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามนิกาย ชีอะห์ เนื่องจากความขัดแย้งทางศาสนา รวมทั้งสาเหตุที่รัฐบาลซาอุฯ ทำการปราบปรามสลายการชุมนุมของกลุ่มประท้วงกลุ่มมุสลิมนิกาย ชีอะห์ ที่มาแสวงบุญที่เมืองเมกกะห์ ประเทศซาอุฯ ทำให้กลุ่มผู้ประท้วงซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอิหร่านเสียชีวิตจำนวนมาก

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดเหตุลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่นักการทูต ของรัฐบาลของประเทศซาอุฯ ในประเทศต่างๆ กระทั่งเมื่อวันที่ 4 ม.ค. 32 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตของสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ ประจำประเทศไทย เสียชีวิต 1 คน เหตุเกิดที่บริเวณ แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ ได้แจ้งขอร้องต่อรัฐบาลไทย ให้ดูแลรักษาความปลอดภัยแก่สถานเอกอัครราชทูตซาอุฯ รวมทั้งเจ้าหน้าที่นักการทูตอย่างเต็มที่ และแจ้งเตือนถึงกรมตำรวจในขณะนั้น และกระทรวงการต่างประเทศของไทย ในเรื่องดังกล่าวหลายครั้ง แต่ต่อมาวันที่ 1 ก.พ.33 เกิดเหตุคนร้ายลอบฆ่านักการทูตซาอุฯ อีก 2 ครั้ง ทำให้ นักการทูตของซาอุฯ เสียชีวิต รวม 3 ราย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา กทม. รัฐบาลไทยขณะนั้นสั่งการให้ พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อธิบดีกรมตำรวจ ดำเนินการติดตามและนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษให้ได้

**ฟ้องระบุ"สมคิด"มีเจตนาอุ้มฆ่า

ต่อมาระหว่างวันที่ 12-15 ก.พ. 33 ต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งห้า ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล พระนครใต้ กองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยจำเลยที่ 1 มียศเป็น พ.ต.ท. ตำแหน่ง รอง ผกก. จำเลยที่ 2 และ 3 มียศ ร.ต.อ.ตำแหน่ง รอง สว. ส่วนจำเลยที่ 4 ยศ ร.ต.ท. ตำแหน่ง รอง สว. และจำเลยที่ 5 ยศ จ.ส.ต. ตำแหน่ง ผบ.หมู่ ซึ่งจำเลยทั้งห้าได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ติดตามสืบสวนจับกุมคนร้ายที่ฆ่านักการทูตซาอุฯ ดังกล่าว โดยจำเลยทั้งห้า กับพวก ได้บังอาจร่วมกันลักพาตัว นายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ นักธุรกิจชาวซาอุฯ ประกอบธุรกิจจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศซาอุฯ เนื่องจากจำเลยทั้งห้า เข้าใจว่า นายโมฮัมเหม็ด อัลรูไวรี่ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของนักการทูตซาอุฯ เพราะมีความขัดแย้งกันเรื่องจัดส่งแรงงานไทย โดยจำเลยทั้งห้าบังคับนำตัว นายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ ไปหน่วงเหนี่ยว หรือกักขังไว้ที่โรงแรมฉิมพลี แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กทม. บังคับข่มขื่นใจใช้กำลังประทุษร้าย ชกต่อย และทำร้ายร่างกายโดยวิธีการต่างๆ มีวัตถุประสงค์ เพื่อซักถามข้อเท็จจริง เพื่อให้นายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ ยอมรับว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการฆ่านักการทูตซาอุฯ

ทั้งนี้ จำเลยทั้งห้ามีเจตนาฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ จนถึงแก่ความตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และเพื่อปกปิดความผิดของตนในความผิดที่จำเลยร่วมกันลักพาตัวนายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ มาหน่วงเหนี่ยวกักขัง และทำร้ายร่างกาย เพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้น ในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ดังกล่าวมา

นอกจากนี้ จำเลยทั้งห้า ร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายชกต่อยทำร้ายร่างกายนายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ โดยวิธีการต่าง ๆ และร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงนายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ จนถึงแก่ความตาย สมดังเจตนา โดยไตร่ตรองไว้ก่อน และได้ร่วมกันซ่อนเร้น ย้าย หรือ ทำลายศพ โดยนำศพของ นายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ ไปเผาทำลายภายในไร่ ท้องที่ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อปิดบังการตาย หรือปิดบังสาเหตุของการตาย เหตุเกิดที่แขวงทุ่งมหาเมฆ เขตยานนาวา , แขวงและเขต บางกะปิ , แขวงคลองตัน เขตพระโขนง และที่ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี เกี่ยวพันกัน

**หลักฐานสำคัญ"แหวน"อัลรู ไวรี่

ต่อมาวันที่ 24 พ.ย.52 จำเลยทั้งห้าได้พบกับพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)โดยแจ้งข้อกล่าวหาและทำการสอบสวนแล้ว ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยึดแหวนของนายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ ที่สวมใส่อยู่ขณะเกิดเหตุจำนวน 1 วง ของกลาง ชั้นสอบสวนจำเลยทั้งห้า ให้การปฏิเสธ โจทก์จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งห้า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 , 289 , 309 , 310 , 83 , พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 6 พ.ศ.2526 มาตรา 4 และขอให้ศาลมีคำสั่งคืนแหวนของกลางคืนให้กับทายาทของนายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ด้วย

ศาลอาญารับคำฟ้องไว้เป็นคดีดำที่ อ.119/2553 โดยศาลอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้งห้าฟัง พร้อมสอบคำให้การว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าแถลงให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี โดยจัดเตรียมทนายความไว้เรียบร้อยแล้ว ศาลจึงนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 29 มี.ค.53 เวลา 09.00น. ต่อมาทนายความของจำเลยทั้งห้า ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสด จำนวนคนละ 500,000 บาท เพื่อขอประกันตัว

**อัยการแจงมีหลักฐานใหม่น่าเชื่อถือ

ภายหลังอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง นายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ กล่าวว่า หลังจากที่นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ อัยการสูงสุด ได้ตั้งคณะทำงาน เพื่อพิจารณาคดีนี้ โดยมีรองอัยการสูงสุด 2 ท่าน และอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา ซึ่งจากการพิจารณาสำนวนคดีและพยานหลักฐาน รวมทั้งพยานหลักฐานใหม่แล้ว คณะทำงานอัยการเห็นว่าผู้ต้องหาทั้ง 5 มีมูลความผิด ประกอบกับพยานหลักฐานมีน้ำหนักน่าเชื่อถือได้ จึงมีความเห็นสั่งฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภ.5 พร้อมพวกรวม 5 คน ซึ่งขั้นตอนต่อไปอัยการจะนำตัวผู้ต้องหาทั้ง 5 ไปส่งฟ้องต่อศาลอาญา ส่วนกรณีที่ พล.ต.ท.สมคิด ฟ้องตนและเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษกลับ ในข้อหาปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบนั้น ตนเห็นว่าเป็นสิทธิของผู้ต้องหาที่สามารถทำได้ ซึ่งทางอัยการก็จะแก้ต่างไปตามพยานหลักฐาน

เมื่อถามว่าคดีดังกล่าวจะคล้ายกับคดีการหายตัวไปของนายสมชาย นีละไพจิตร ประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิม และรองประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน หรือไม่นั้น นายธนพิชญ์ กล่าวว่า พฤติการณ์ของคดีทั้ง 2 นั้นไม่เกี่ยวข้องกัน ขอให้อย่าเอาไปโยงกัน ซึ่งมันเป็นคนละคดีกัน

ต่อมาภายหลังศาลพิจารณาคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ขอประกันตัวที่ พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม และพวกแล้ว ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยทั้ง 5 โดยตีราคาประกันคนละ 5 แสนบาท

**ทนายเตรียมต่อสู้ 3 ประเด็น

ด้านนายนิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ กล่าวว่า จะต่อสู้คดี 3 ประเด็น คือ ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้ง 5 เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่มีการแจ้งดำเนินคดี ข้อหาปฏิบัติหน้าที่มิชอบ มาตรา 157 และโต้แย้งประเด็นอัยการมีอำนาจฟ้องร้องหรือไม่ และคำให้การของพยานไม่มีการสอบสวนข้อเท็จจริง ส่วนแหวนที่เป็นของกลาง ไม่ได้จากตัวจำเลย แต่ได้จากตัวพยาน ซึ่งตนเห็นว่าหากมีการสอบสวนโดยมิชอบไม่ได้ตัวคนร้ายตัวจริงมาลงโทษ นั้นแหละจึงอาจจะกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างแท้จริง และสุดท้ายประชาชนก็เห็นถึงการทำงานที่ล้มเหลวของดีเอสไอ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าส่วนที่ทนายความ พล.ต.ท.สมคิด กับพวก ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนอำนาจการยื่นฟ้องของอัยการ ปรากฏว่าศาลพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง เนื่องจากเห็นว่าไม่มีเหตุอันสมควร

**“มาร์ค”ยันไม่แทรกแซงคดี

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีแถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีถึงความคืบหน้าคดีการฆาตรกรรม นายอัลรู ไวรี่ หลังอัยการสั่งฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม และพวก ว่าทราบจากข่าวเท่านั้นว่าอัยการสั่งฟ้อง ผู้สื่อข่าวถามว่าควรให้ พล.ต.ท.สมคิด พักราชการก่อนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อยู่ที่ผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย

เมื่อถามว่าทำเนียมปฏิบัติควรพักการปฏิบัติราชการหรือไม่เพราะมีผลต่อการสอบสวน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เข้าใจว่าเรื่องทำนองนี้มีค่อนข้างหลากหลาย อยู่ที่กฎหมายตำรวจกับผู้บังคับบัญชา เมื่อถามว่า คิดว่าความสัมพันธ์จะดีขึ้นหรือไม่ เพราะเราสั่งดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรามีหน้าที่ทำตามกระบวนการ และสิ่งที่ตนได้พูดกับอุปทูตซาอุดิอารเบีย คือ เราไม่เข้าไปแทรกแซง และจะไม่ให้เข้าไปแทรกแซง ส่วนผลออกมาเป็นที่พอใจหรือไม่ เราไปตอบแทนไม่ได้

**“อดีต คมช.”ข้องใจอัยการสั่งฟ้อง

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตหัวหน้าสำนักงานเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)และพี่ชาย พล.ต.ท.สมคิด กล่าวว่า ตนได้ประกันตัว พล.ต.ท.สมคิด ออกมาเพื่อต่อสู้คดี แต่ เป็นที่น่าผิดสังเกตขบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่กรมสอบสวนคดีพิเศษ รวมถึงสำนักอัยการสูงสุด ซึ่งมองดูแล้วไม่ได้ให้ความเป็นธรรมกับเรา อย่างไรก็ตาม ตนให้ความสำคัญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่การเอาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมาเป็นสาเหตุ โดยบอกว่า ต้องเสียสละตรงนี้เพื่อให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศดีขึ้น

เมื่อถามว่า อนาคตการรับราชการของ พล.ต.ท. สมคิด จะสะดุดหรือไม่ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา เพราะเรื่องที่เกี่ยวกับวินัยมันจบไปแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับทางผู้บังคับบัญชาว่าจะมองเรื่องนี้อย่างไร แต่การทำแบบนี้เหมือนเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว หรืออีกประเด็นหนึ่งคือเป็นการเตะสกัดในการที่ พล.ต.ท.สมคิด ไปทำงานอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งก็ถือว่าทำงานได้บังคับใช้กฎหมายได้ แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่ามองเรื่องนี้อย่างไร ทั้งนี้ให้เราทำงานก็ทำงาน แต่ไม่ให้ทำงานก็ไม่ทำงาน ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าเราต้องการไปทำงานตรงนี้เพื่อไปหวังผลประโยชน์อื่นใดจากตำแหน่งหน้าที่ตรงนี้

**อุปทูตซาอุฯ ชื่นชมไทย

วันเดียวกันเวลา 15.00 น. ที่สถานเอกอัครราชทูตซาอุดิอารเบีย ประจำประเทศไทย นายนาบิล อัชรี อุปทูตซาอุดิอารเบีย ประจำประเทศไทย ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังจากที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผบช.ภ.5 กับพวกรวม 5 คน

โดยแถลงการณ์ระบุว่า "กระผมปรารถนาที่จะกล่าวว่า ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ชื่นชมอย่างยิ่งกับความพยายามล่าสุดของรัฐบาลไทยที่จะจัดการปัญหาคดีเพชรซาอุฯ ที่ยังคงคั่งค้างอยู่หลายคดี ทั้งนี้ เพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ของไทยกับซาอุดีอาระเบีย

คำตัดสินของสำนักงานอัยการสูงสุดในคดีการหายตัวไปของนักธุรกิชาวซาอุดีอาระเบีย เป็นสัญญาณบ่งชี้ในทางบวกที่แสดงให้เห็นว่า ราชอาณาจักรไทยมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย และจะยังทำงานเพื่อจัดการคดีที่ยังคั่งค้างทั้งหมดอีกต่อไปด้วยความโปร่งใสกับกระบวนการยุติธรรมด้วย

สหราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียเฝ้ารอคอยวันนี้มาเกือบ 20 ปีแล้ว พัฒนาการล่าสุดถือเป็นก้าวสำคัญสู่การบบรรลุถึงแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งหมด นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราเชื่อมั่นว่า ฯพณฯท่าน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลชุดปัจจุบันของไทยจะนำพาความยุติธรรมมาสู่คดีต่างๆ ที่ยังคั่งค้างเหล่านั้นอย่างที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้

**ทวงถามไทยฟื้นอีก 2 คดี

ในการนี้ กระผมขอเสริมว่า ขณะที่หนึ่งใน 3 คดีที่เจ้าหน้าที่กำลังจัดการอยู่นั้น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางการไทยจะยังพยายามจัดการต่อไป พร้อมกับอีก 2 คดีที่เหลือซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กันด้วย

กระผมยังปรารถนาที่จะชี้ให้เห็นว่า ระหว่างช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมานี้ ทางการไทยได้พยายามสรุปผลการสอบสวนคดีที่ยังคั่งค้างดังกล่าวอย่างยิ่งยวด และในที่สุด บัดนี้ คดีนี้ได้เข้ามาอยู่ในกระบวนการยุติธรรมของศาลไทยแล้ว ทางการซาอุดีอาระเบียขอชื่นชมความพยายามของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคณะสอบสวนดีเอสไอ อัยการ เจ้าหน้าที่สอบสวน รวมถึงผู้แทนภาคส่วนต่างๆ ด้วย

นอกจากนี้ กระผมขอแสดงความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายของไทย ประสิทธิภาพของศาลไทยที่จะดำเนินการตามกฏหมายและความยุติธรรม กระผมยังเชื่อมั่นด้วยว่า การพิจารณาคดีเพชรซาอุจะบริสุทธิ์ยุติธรรมด้วย

"แหวน"หลักฐานใหม่ มัดคดีอุ้มฆ่า"อัล รูไวรี"

พลันที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ มีความเห็นสั่งฟ้อง พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม อายุ 57 ปี ผบช.ภ.5 , พ.ต.อ.สรรักษ์ หรือสมชาย จูสนิท อายุ 53 ปี ผกก.สภ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ,พ.ต.อ.ประภาส ปิยะมงคล อายุ 52 ปี ผกก.สภ.น้ำขุ่น จ.อุบลราชธานี , พ.ต.ท.สุรเดช อุดมดี อายุ 64 ปี นายตำรวจนอกราชการ และ จ.ส.ต.ประสงค์ ทอรั้ง อายุ 50 ปี อาชีพรับจ้าง ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1 – 5 เป็นผู้ต้องหาร่วมกันฆ่านายโมฮัมเหม็ด อัลรู ไวรี่ (Mr.Mohammad Al - Ruwaily) นักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย พระญาติกษัตริย์ไฟซาล ซึ่งหายตัวไปเมื่อเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ตามที่พนักงานสอบสวน กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นผู้ทำสำนวนสั่งฟ้องผู้ต้องหาทั้งหมด โดยระบุว่า "มีหลักฐานใหม่" ที่จะใช้มัดผู้ต้องหาได้ ส่งผลให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 5 คน ตกเป็นจำเลยในทันที แม้คดีดังกล่าว จะไม่มีหลักฐานสำคัญคือ"ศพ" ของนายอัล รูไวรี่ก็ตามที

เมื่อย้อนกลับไปเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ระหว่างที่พล.ต.ท.สมคิด ยังครองยศพ.ต.ท. มีตำแหน่งเป็นรองผกก.สส.บก.น.ใต้ (กองกำกับการสืบสวนนครบาลใต้) พ.ต.อ.สรรักษ์ พ.ต.อ.ประภาส และพ.ต.ท.สุรเดช เป็นรองสว. โดยระหว่างวันที่ 12-15 ก.พ.2533 จำเลยทั้งหมด เข้ารับงานคลี่คลายคดีฆ่านักการทูตซาอุดิอารเบีย และเข้าใจว่า นายอัลรูไวรี่ มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของนักการทูต จึงร่วมกัน จับตัวนายอัล รูไวรี่ไปกักขัง ที่โรงแรมฉิมพลี แขวงคลองตัน เขตพระโขนง กทม. ซ้อมให้รับว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของนักการทูต และในที่สุด ได้ใช้อาวุธปืนยิงนายอัล รูไวรี่จนเสียชีวิต ก่อนจะนำศพไปเผาทำลายในไร่ท้องที่ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

คดีดังกล่าวเงียบหายไป จนกระทั่งดีเอสไอ ขุดคดีนี้กลับขึ้นมาอีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 24 พ.ย.2552 พนักงานสอบสวนของดีเอสไอระบุว่า มีพยานหลักฐานใหม่ เป็นแหวนของนายอัล รูไวรี่ ที่สวมระหว่างที่ถูกอุ้มหายตัวไป 1 วง จึงได้นำคดีมาฟ้อง

"หลักฐานใหม่"ที่ว่า เป็นแหวน ซึ่งพนักงานสอบสวนดีเอสไอไปพบ ถูกสวมอยู่ในนิ้วของพ.ต.ท.สุวิชชา แก้วผลึก ที่พล.ต.ท.สมคิดระบุว่า พ.ต.ท.สุวิชชา เป็นผู้ต้องหาคดีฆาตกรรม นายฉัตรดำรงพรรณ ชัยเฉลิมภัค แกนนำขบวนการต่อต้านลาว (ขตล.) และศาลพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตเมื่อปี 2548 ต่อมาพ.ต.ท.สุวิชชา ได้รับการประกันตัวและหลบหนีไป ระหว่างการพิจารณาในชั้นอุทธรณ์ จนกระทั่งวันพิพากาา พ.ต.ท.สุวิชชาก็ไม่มาฟังคำพิพากษา

มีรายงานว่า แหวนที่นิ้วของพ.ต.ท.สุวิชชานั้น ทางพนักงานสอบสวนดีเอสไอ นำไปให้คนใกล้ชิด ซึ่งถูกระบุว่า เป็นภรรยาของนายอัลรูไวรีเองดูแล้ว จำได้แม่นยำว่า เป็นแหวนที่นายอัลรูไวรี สวมอยู่เป็นประจำ ทั้งยังเป็นแหวนประจำตระกูลของนายอัลรูไวรีอีกด้วย แต่รายงานข่าวไม่ได้บอกว่า แหวนวงนั้น พ.ต.ท.สุวิชชา ได้มาจากไหน และเรื่องนี้ ทางพล.ต.ท.สมคิด ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนอ้างใหม่นั้น เป็นผู้หลบหนีหมายจับของศาลอยู่ ซึ่งจุดนี้พนักงานสอบสวนทราบดีว่าพยานเป็นจำเลยหลบหนีคดีของศาลอยู่ จึงอดตั้งข้อสงสัยไม่ได้ว่า จะมีการต่อรองในการปล่อยตัวผู้ต้องหารายนี้หรือไม่" ซึ่งเรื่องนี้ คงจะต้องถุกพิสูจน์กันต่อไป

คดีนี้ จะหมดอายุความลงในวันที่ 12 ก.พ.ศกนี้ และเมื่อพนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้อง นั่นย่อมแสดงให้เห็นว่า คดีการหายตัวไปของนายอัลรู ไวรี จะไม่เป็นสูญ และจะเริ่มต้นบทพิสูจน์ข้อเท็จจริงกันในชั้นศาล อันจะส่งผลให้ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซาอุดิอารเบีย กับประเทศไทย มีความคืบหน้าที่ดีต่อกันมากขึ้น ภายหลังจากที่อุปทูตซาอุดิอารเบีย ประจำประเทศไทย ได้เข้าพบนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และคดีถูกยกขึ้นสู่ศาลสถิตย์ยุติธรรม ที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของรัฐบาล ในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ของประเทศทั้งสอง และฟางเส้นสุดท้ายระหว่างซาอุฯ-ไทย ที่จะขาดแหล่มิขาดแหล่ ก็จะกลับมาเหนียวแน่นเช่นเดิม ด้วยคดีการสั่งฟ้อง"พล.ต.ท.สมคิดกับพวก" ส่วนพล.ต.ท.สมคิด กับพวก จะเป็นผู้มีความผิดตามฟ้องหรือไม่ คงต้องพิสูจน์กันในชั้นศาลอีกหลายปี

"สมคิด"พร้อมพิสูจน์ความจริงในศาล! คาใจ"ทวี"สร้างประจักษ์พยานปรักปรำ

พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ได้ออกคำชี้แจงถึงสื่อมวลชน กรณีถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนักธุรกิจชาวซาอุดิอาระเบีย และภายหลังอัยการได้สั่งฟ้องเป็นจำเลยต่อศาล โดยคำชี้แจงมีรายละเอียดดังนี้

1.การสร้างภาพตอกย้ำให้น่าเชื่อว่าเป็นผู้กระทำผิด ขณะนี้มีการนำรายละเอียดของคำให้การ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก พยานในคดีมาเปิดเผยกับสื่อมวลชน เสนอข่าวให้น่าเชื่อถือว่าเป็นประจักษ์พยาน เห็นเหตุการณ์จริง ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว ในอดีตเคยให้การว่าไม่เห็นเหตุการณ์ แต่มากลับคำให้การใหม่ ตามหลักกฎหมายเป็นคำให้การที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการคดีพิเศษ กลับอ้างว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ น่าเชื่อถือและมีความเห็นสั่งฟ้อง ซึ่งกระผมได้ฟ้องคดีต่อศาลอาญาไว้แล้ว เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

2.ที่มาของการให้การ ของ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก พยานที่มีหมายจับ นั้น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ขณะดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้นำตัวขณะที่ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก อยู่ระหว่างหลบหนีหมายจับศาลมีนบุรี ซึ่งมีคำพิพากษาจำคุกตลอดชีวิตในคดีฆ่านายฉัตรดำรงพรรณ ชัยเฉลิมภัค เพื่อให้การปรักปรำกระผมกับพวก ก่อนปล่อยตัวไปหรือไม่

-ถามว่าคำให้การ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก พยานปากนี้ ถูกบีบบังคับด้วยหมายจับเพื่อให้การปรักปรำกระทำกับพวกก่อนปล่อยตัวไปหรือไม่

-ถามว่า พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ อดีตรอง ผบ.ตร.ที่ได้รับแต่งตั้งให้ร่วมเป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้ เคยไปเตือนเรื่องหมายจับแล้ว แต่โต้แย้งว่าไม่มีหน้าที่จับกุม ผู้ต้องหาตามหมายจับ ใช่หรือไม่

-ถามว่า เมื่อคดีถึงศาล ซึ่งพนักงานสอบสวนคดีพิเศษปล่อยตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก พยานหลบหนี หมายจับ ไม่สามารถนำตัวมาเบิกความได้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งได้เคยแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ทราบปัญหานี้แล้ว แต่ไม่ได้รับคำตอบ

3.ปัญหาที่กระทบกับคดีนี้ ขณะนี้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งจะต้องรับผิดชอบกรณี ปล่อยตัวพยานปากนี้ไป ทั้งๆที่มีหมายจับ ซึ่ง พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ เคยเตือนเรื่องหมายจับ และการรับฟังน้ำหนักพยาน เนื่องจากเป็นการกลับคำให้การใหม่ กฎหมายไม่ถือว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ ไม่น่าเชื่อถือ

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เคยสั่งการให้นำตัวพยานปากนี้ไปขออนุญาตศาลสืบพยานล่วงหน้าโดยอ้างว่าติดตามตัวพยานยาก และเกรงว่าจะมีการยุ่งเหยิงกับพยานทั้งๆ ที่มีหมายจับ เพียงแต่จับกุมตัวส่งเรือนจำตามหมายจับมีนบุรีของศาลมีนบุรี ก็จะเป็นการง่ายในการนำตัวไปเบิกความ

คดีนี้หากไม่สามารถนำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก มาเบิกความยืนยันคำให้การที่เป็นเท็จ กลับไปกลับมา ไม่น่าเชื่อถือ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ปัญหาที่จะตามมาอันมีผลกระทบต่อการพิสูจน์ความจริง

4.ขอเรียกร้องให้ท่านอุปทูตซาอุฯ ประจำประเทศไทย ทวงถามความจริงใจในการแก้ไขปัญหาคดีนี้ ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งกำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษในขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ รับผิดชอบการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้ ซึ่งเป็นผู้นำ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก พยานปากนี้มาให้การ ว่าเหตุใด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง จึงปล่อยตัวพยานปากนี้ไป ทั้งๆ ที่อ้างว่าเป็นพยานหลักฐานใหม่ อันสำคัญแห่งคดี ใช้เป็นข้อมูลสำหรับดำเนินคดีกระผมกับพวกได้

-ความรับผิดชอบ หากไม่สามารถนำตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก พยานมาเบิกความได้ ปัญหาก็จะไม่จบสิ้น มิใช่เป้าหมายเพียงแต่ดำเนินคดี กระผมกับพวกเท่านั้น

5.ภาพที่สื่อมวลชน กำลังเสนอเรื่องราวเหตุการณ์ ที่มีผู้จงใจนำจากสำนวนในคดี มาเปิดเผยเพื่อชักจูงให้เชื่อว่า กระผมกับพวกเป็นผู้กระทำผิดนั้น จึงเป็นเหตุการณ์ที่ยังมิได้มีการพิสูจน์ว่าจริงเท็จประการใด ตามข้อเท็จจริงที่เรียนเบื้องต้นไปแล้ว แต่ก็สร้างความเสียหายกระทบต่อความเชื่อมั่นของสังคม และประชาชน เนื่องจากในอดีต กระผมมีบทบาทและหน้าที่ในการเข้าไปสืบสวนในคดีขบวนการสังหารเจ้าหน้าที่สถานฑูต ซาอุฯ เหตุเกิดระหว่างปี 2532-2533 ซึ่งในอดีตมีข้อสงสัยว่ากระผมมีส่วนเกี่ยวข้องก็ได้มอบตัว ถูกดำเนินคดีไปครั้งหนึ่งแล้ว เมื่อปี 2536 ผลคดี พนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีเสร็จสิ้นแล้ว ดังนั้นการที่มีการกล่าวหาว่า กระผมกับพวกเป็นผู้กระทำผิดนั้น จึงยินดีที่จะให้สังคมและประชาชน ตรวจสอบและพิสูจน์ความจริง ผ่านกระบวนการยุติธรรมเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

ขอกราบเรียนสื่อมวลชนได้กรุณาตรวจสอบติดตามการทำงานของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ในปัญหา พยานหลักฐานใหม่ ที่เป็นคำให้การของ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก น่าเชื่อถือหรือไม่ และการปล่อยตัว พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก พยานหลักฐานที่มีหมายจับให้หลบหนีไป แล้วจะสามารถตามตัวมาเบิกความต่อศาลได้หรือไม่ สุดท้ายใครจะรับผิดชอบผลกระทบ ที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ในการสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานในคดีนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น