xs
xsm
sm
md
lg

เปิดบัญชี “ที่ดินร้อน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เสนาะ เทียนทอง
ผลพวงของการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงในครั้งนี้ ทำให้หลายฝ่ายมีการพูดถึงเรื่องของปัญหาการบุกรุกและครอบครองที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยมิชอบทั้งที่อยู่ในลักษณะเดียวกับกรณีของ พล.อ.สุรยุทธ์ รวมไปถึงกรณีอื่นๆ รวมกันแล้วทั่วประเทศมีอยู่นับล้านๆ ไร่ ที่ยังไม่มีดำเนินการตามกฎหมาย และที่สำคัญคนที่ครอบครองนอกจากพวกนายทุนและนักการเมืองแล้ว ยังมีชาวบ้านทั่วไปอีกด้วย

เพราะเชื่อแน่ว่ายังมีพื้นที่ป่าสงวน พื้นที่สาธารณะอีกหลายแห่ง มีภูเขาอีกหลายลูก ดอยอีกหลายดอย และเกาะอีกหลายเกาะ ในหลายจังหวัด ที่ยังมีปัญหาเรื่องการบุกรุก คาราคาซัง ยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขสะสางให้เกิดความชัดเจน เนื่องจากมีปัญหาจากผู้มีอิทธิพล ซึ่งมีทั้งนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงเข้าไปครอบครองจับจองเอาไว้เป็นเจ้าของ

1.สนามกอล์ฟอัลไพน์

สนามกอล์ฟอัลไพน์มีที่มาจากการที่ นางเนื่อม ชำนาญชาติศักดา ได้ทำพินัยกรรม ยกที่ดินบริเวณ อ.คลองหลวง จปทุมธานี จำนวน 924 ไร่ ให้แก่ วัดธรรมมิการามวรวิหาร จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยมีมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัยช่วยกันจัดทำผลประโยชน์ เมื่อนางเนื่อมถึงแก่กรรม วัดเห็นว่าควรจำหน่ายเพื่อนำเงินมาบำรุงวัด อีกทั้งที่ดินมรดกอยู่ จ.ปทุมธานี แต่วัดอยู่ที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์จึงไม่สะดวกต่อการดูแล และวัดไม่มีเงินเสียค่าธรรมเนียมโอนที่ดิน ดังนั้นมูลนิธิฯ จึงขายที่ดินให้แก่บริษัท อัลไพน์ เรียลเอสเตท จำกัด วันที่ 21 สิงหาคม 2533

จากนั้นที่ดินผืนงามก็ถูกนำไปสร้างบ้านจัดสรรและสนามกอล์ฟอัลไพน์ ก่อนที่นายเสนาะ เทียนทอง จะขายให้กับ นช.ทักษิณ ชินวัตร ขณะเดียวกันก็มีนักการเมืองเกี่ยวข้องอีกจำนวนมาก เช่น นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีต รมว.คมนาคม ที่เป็นอดีตกรรมการผู้จัดการบริษัทอัลไพน์, นายวิทยา เทียนทอง อดีต ส.ส.สระแก้ว น้องชายนายเสนาะ เทียนทอง เป็นต้น

นี่คือรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดกฎหมาย เพราะที่ธรณีสงฆ์นั้นไม่สามารถโอนหรือซื้อขายกันได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยความร้อยเล่ห์เพทุบาย ปัญหานี้ก็ได้เงียบหายไปด้วยความช่วยเหลือของนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ซึ่งปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้สั่งยุติเรื่องจึงทำให้ไม่ต้องมีการเพิกถอนเอกสารสิทธิดังกล่าว กระทั่งเมื่อมีการผลัดแผ่นดิน กรมที่ดินจึงมีความเห็นเสนอให้รมว.มหาดไทยทำการยกเลิกคำสั่งระงับเรื่องการเพิกถอนที่ดินดังกล่าวของนายยงยุทธ แต่จนแล้วจนเล่ากระบวนการทวงคืนที่ธรณีสงฆ์ผืนนี้ก็จะยังไม่จบสิ้น

2.ที่ดินรัชดา

คดีที่สองคือคดีที่ดินรัชดา ที่ นช.ทักษิณ ชินวัตร เข้าไปพัวพัน ด้วยการเซ็นยินยอมให้คุณหญิงพจมาน ซึ่งเป็นภรรยาเข้าไปร่วมประมูลซื้อที่ดินริมถนนเทียมร่วมมิตร ย่านถนนรัชดาภิเษก ใกล้กับศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เนื้อที่ประมาณ 33 ไร่ ด้วยราคา 772 ล้านบาท จากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยในขณะนั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

เรื่องถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและในที่สุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็พิพากษาให้มีความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 (1) วรรค 3 และมาตรา 122 วรรค 1 ให้ลงโทษจำคุก 2 ปีส่งผลให้นช.ทักษิณกลายเป็นเป็นนักโทษชายหนีระหกระเหินหัวซุกหัวซุนออกนอกประเทศอย่างทุกวันนี้

ส่วนที่ดินผืนดังกล่าวแม้จะกลับไปเป็นของหลวงแล้ว แต่ขณะนี้ก็ยังคงมีความพยายามที่จะทวงคืนกลับมาเป็นของตนเองอีกครั้ง

3.เขากระโดง

คดีที่เป็นข่าวครึกโครม แต่ยังคงคาใจสังคมอยู่ทุกวันนี้คือการ ออกโฉนดทับที่ดินของทางรถไฟ ที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ของตระกูล “ชิดชอบ”

หากย้อนเรื่องกลับไปการสอบสวนของ กรรมาธิการสอบการทุจริต ระบุว่าที่ดิน 2 แปลงรวมเนื้อที่กว่า 37 ไร่ แปลงแรก 7 กว่าไร่ ออกโฉนดโดยมิชอบในปี 2515 โดยนายชัย ชิดชอบ (ต่อมาในปี 2535 ได้ขายให้กับโรงโม่หินศิลาชัยฯ ของตนเอง) แปลงหลังกว่า 30 ไร่ ออกโฉนดโดยมิชอบในปี 2518 โดยนายประพันธ์ สมานประธาน อดีตประธานสภาจังหวัดบุรีรัมย์

ที่ดิน 2 แปลงนี้ตั้งอยู่ติดกับทางรถไฟ ทางกรรมาธิการฯ จึงได้ขอให้ รฟท.เสนอเพิกถอนโฉนดที่ออกทับที่การรถไฟตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 61 อันเป็นอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ในทางปฏิบัติกลับมีการเตะถ่วงและโยนเรื่องกลับไปกลับมาตลอด ระหว่าง รฟท.กับกรมที่ดินและจังหวัดบุรีรัมย์ ทั้งๆ ที่ทุกฝ่ายต่างทราบปัญหานี้มานานนับ 10 ปีแล้ว

ต่อมาในปี 2536 และ 2540 ได้ขายเปลี่ยนมือให้ นายประสิทธิ์ ตั้งศรีเกียรติกุล และนางกรุณา ชิดชอบ ตามลำดับ สุดท้ายได้มีการฉวยโอกาสนำที่ดินทั้ง 2 แปลงเข้าจำนองกับธนาคารของรัฐและเอกชนในปี 2540 รวมวงเงินกว่า 70 ล้านบาท

ปัจจุบันทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่รับผิดชอบคดีการทุจริตบุกรุกเขากระโดง มีการไต่สวนคดีดังกล่าวไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเอาผิดกับตระกูล ชิดชอบได้ โดยให้เหตุผลว่ายังไม่สามารถหาหลักฐานมาเอาผิด ตระกูล ชิดชอบ ได้

อย่างไรก็ตาม นอกจากพื้นที่ 3 กรณีที่กล่าวมา ยังมีพื้นที่ทั่วประเทศไทยอีกจำนวนมากที่มีการบุกรุกป่า ไม่ว่าจะเป็นที่ดินใน อ.วังน้ำเขียวที่ มีเกษตรกร พ่อค้า คหบดี ข้าราชการ อดีตข้าราชการ นักการเมือง รัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีให้บุคคลอื่นถือครองแทนเป็นนอมินีเกือบทั้งอำเภอ รวมไปถึงพื้นที่ป่าอื่นๆ เช่น สมุย ภูเก็ต เขาใหญ่ เขาสอยดาว ฯลฯ
พจมาน ณ ป้อมเพชร(ชินวัตร)

เนวิน ชิดชอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น