xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อมาบตาพุดเขย่าเมือง เราพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงหรือยัง?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
     หลังสิ้นสุดการอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดกรณีมาบตาพุด เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 โดยสั่งให้ระงับ 65 โครงการต่อไป ส่วนอีก 11 โครงการสามารถดำเนินต่อได้…

     ‘จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงถึงการขาดการติดตามและการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังของผู้ถูกฟ้องคดีที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานของรัฐที่มิได้ดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงเป็นความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีโดยตรงที่ไม่ได้ดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าว’

     คือส่วนหนึ่งของคำพิพากษาที่พูดได้ว่ามีนัยสำคัญ ถือเป็นการวางบรรทัดฐานที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่า สิทธิชุมชนได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ รัฐจะเพิกเฉยเหมือนแต่ก่อนไม่ได้

     เมื่อคำพิพากษาออกมา ผลกระทบทางเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสื่อสารสู่สังคมทันที คงไม่ต้องบอกว่าเจตนาคืออะไร

     ในสภาวะโกลาหลเช่นนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพยายามหาทางออกและกำหนดเกณฑ์ร่วมกัน เพื่อให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด หลายคนอาจไม่ชอบความวุ่นวาย แต่เราจะมองในแง่ดีได้หรือไม่ว่า ความโกลาหลถือเป็นขั้นตอนปกติก่อนระเบียบใหม่ที่ดีกว่ากำลังจะตามมา

     กล่าวได้หรือไม่ว่ากรณีมาบตาพุดอาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญอีกครั้งหนึ่งของการเคลื่อนไหวภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตของสังคมไทย รวมถึงการพัฒนาที่เคยแต่ใส่ใจเรื่องเศรษฐกิจ จะเปลี่ยนไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน


ประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหว
ของภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อม

     มาบตาพุดไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว

     คำพิพากษาของศาลปกครองไม่ใช่สิ่งที่อยู่ๆ ก็ผุดขึ้นจากความว่างเปล่า หากเราสันนิษฐานว่ากรณีมาบตาพุดเป็นจุดหักเหสำคัญ ก็จำเป็นยิ่งที่ต้องปะติดปะต่อชิ้นส่วนต่างๆ ทางประวัติศาสตร์การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อม

     ป่าชุมชนและเขื่อนปากมูนอาจไม่ใช่ภาพทั้งหมด แต่ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นความบิดเบี้ยวเชิงโครงสร้างที่กดทับและดูดดึงทรัพยากรของคนชนบทมาป้อนให้ภาคเมืองและอุตสาหกรรมมาอย่างต่อเนื่อง

     การเคลื่อนไหวในสองประเด็นนี้ค่อยๆ สั่งสมพลังงาน สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรถูกพูดถึงมากขึ้น จนในที่สุดสามารถเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งต่อมา ชาวบ้านก็นำสิทธินี้เป็นหลังพิงให้การต่อสู้กับรัฐและทุน เห็นได้จากการต่อสู้ของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ เช่น บ่อนอก บ้านกรูด จะนะ ป่าชุมชนในภาคเหนือ เหมืองโปแตซที่อุดรฯ เป็นต้น

     อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญปี 2540 ยังมีการกั๊กว่า ‘...ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ’ ส่งผลให้ภาครัฐมีข้ออ้างที่จะละเลยไม่ทำตามรัฐธรรมนูญ กระทั่ง รัฐธรรมนูญปี 2550 ตัดถ้อยคำนี้ออกไป

     “ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540 และก่อนการเกิดศาลปกครอง การฟ้องเชิงรุกเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือการอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญมีน้อยมาก เพราะเรื่องทางปกครองยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับนักกฎหมายและผู้ที่เกี่ยวข้อง รัฐธรรมนูญยังพูดแต่หลักการกว้างๆ พูดง่ายๆ ว่ารัฐธรรมนูญยังกินไม่ค่อยได้เท่าไหร่ ยังอยู่บนพานแถวราชดำเนิน

     “แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ในมาตรา 28, 29 หรือในมาตรา 67 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ศาลปกครองสูงสุดก็ได้อ้างถึงผลการวินิจฉัยหรือสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันการใช้บังคับตีความกฎหมายของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ตรงนี้มันยืนยันหลักการว่าสิทธิตามรัฐธรรมนูญต้องถูกบังคับใช้” สุรชัย ตรงงาม ผู้อำนวยการโครงการยุติธรรมสิ่งแวดล้อม อธิบาย

     ด้าน จิตติมา บ้านสร้าง รองประธานชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ที่คลุกคลีกับข่าวสิ่งแวดล้อมมานาน อธิบายว่า แต่ก่อนองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอเป็นตัวหลักในการเคลื่อนไหว แต่เพราะปัจจัยใดก็ตาม ช่วงหนึ่งเอ็นจีโอถอยออกไป ขณะที่ปัญหาในพื้นที่ยังคงอยู่ จึงทำให้ชาวบ้านต้องพึ่งตนเอง เกิดการเรียนรู้การเคลื่อนไหวต่อรองในเชิงนโยบาย รู้จักเล่นกับสื่อ และรู้จักหาแนวร่วมฟากนักวิชาการ ทำให้ได้ข้อมูลที่มีความหนักแน่น เพื่อยืนยันต่อสังคม

     การนำเสนอข่าวสิ่งแวดล้อมของสื่อมวลชนที่มีมากขึ้น ยังทำให้สังคมซึมซับและเชื่อมโยงประเด็นสิ่งแวดล้อมเข้ากับประเด็นอื่นได้ชัดเจนขึ้น เรียกว่าสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าแค่การตัดไม้หรือทะเลสกปรก ทำให้ประเด็นสิ่งแวดล้อมเป็นที่สนใจ

     บวกกับการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่ชัดเจน กระแสการเคลื่อนไหวในระดับโลก การเข้ายึดกุมทรัพยากรในท้องถิ่นของทุนและรัฐที่โจ่งแจ้งรุนแรงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงทางอำนาจที่ไม่ได้อิงอยู่กับฐานใดฐานหนึ่งเช่นอดีต แต่กระจายเป็นฐานเล็กฐานน้อย เป็นอีกกลุ่มปัจจัยที่นำมาสู่วันนี้ ตามคำอธิบายของ ดร.เลิศชาย ศิริชัย อาจารย์ประจำสำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

     “กรณีมาบตาพุด ชาวบ้านไปฟ้องศาล ศาลตัดสิน อำนาจทุนโลกาภิวัตน์ที่เคยใหญ่โตร่วมกับนักการเมือง พอมาเจออำนาจนี้เข้าไปเลย มันมีอำนาจอยู่หลายอัน ทำให้อำนาจทางการเมืองไม่เบ็ดเสร็จอยู่ตรงไหนแห่งเดียว จึงเปิดโอกาสให้คนกลุ่มต่างๆ เคลื่อนไหวต่อรองอยู่ตลอดเวลา”

พร้อมรับมือหรือยัง?

     เมื่อรัฐธรรมนูญสร้างช่องทางให้แก่สุ้มเสียงของชาวบ้าน เพื่อมีส่วนร่วมในการพัฒนาและจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ซึ่งได้รับการยืนยันจากอำนาจตุลาการเช่นนี้แล้ว ย่อมเกิดการเขย่าโครงสร้างทางอำนาจครั้งใหม่ ภาครัฐและธุรกิจภาครัฐจะดำเนินโครงการโดยอำเภอใจอีกไม่ได้ คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่าภาครัฐและธุรกิจพร้อมหรือยังกับสถานการณ์ใหม่

     นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ รัฐและหน่วยงานภาครัฐดูเหมือนจะยังไม่ตระหนักในเรื่องนี้เท่าที่ควร จึงไม่ใส่ใจที่จะสร้างกลไกทางกฎหมายเพื่อรองรับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

     “บทบาทของรัฐบาลและรัฐสภาซึ่งมีหน้าที่ในการออกกฎหมาย แต่ไม่พยายามทำให้เกิดกฎหมายใหม่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 ว่าด้วยองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม หรือไม่แก้ไขกฎหมายเก่าที่ไม่สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จึงทำให้เกิดปัญหาทางกฎหมาย ไม่มีการบังคับใช้กฎหมายที่จะสร้างความเป็นธรรมแก่ชุมชนท้องถิ่น เป็นเหตุให้เกิดกรณีมาบตาพุด”

     ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่ควรจะต้องเกิดขึ้นเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง สุรชัย กล่าวว่า

     “ผมยกตัวอย่างว่า มีรัฐธรรมนูญมาตราอื่นๆ ที่ยังไม่มีการออกกฎหมายรองรับ อย่างหมวดเรื่องสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ระบุว่าบุคคลมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง เหตุผล จากหน่วยงานราชการหรือท้องถิ่น ก่อนอนุญาตให้ดำเนินโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และมีสิทธิแสดงความเห็นเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาในเรื่องดังกล่าว ซึ่งรวมถึงเรื่องการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจ การเมือง คือมันไม่ได้พูดถึงการดำเนินโครงการอย่างเดียว แต่พูดว่าโครงการใดจะมีผลกระทบ

     “ในมาตรา 67 พูดถึงโครงการที่มีผลกระทบรุนแรง มีเงื่อนไขคำว่า ‘รุนแรง’ ซึ่งถ้าไม่รุนแรงก็จะไม่เข้าเงื่อนไข แต่ว่ามาตรา 57 ไม่ได้พูดเงื่อนไขความรุนแรง มาตรานี้กว้างกว่าด้วยซ้ำ โครงการใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย ก็ต้องดำเนินการตามนี้ แต่จริงๆ แล้วก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ หรือมาตรา 57 วรรค 2 ที่ว่าการวางแผนพัฒนาสังคม การเวนคืน การวางผังเมือง การกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดิน การออกกฎเกณฑ์ที่อาจมีผลกระทบ รัฐต้องจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และอาจจะเป็นปัญหาในอนาคต”

 
     อย่างไรเสีย ความเสียหายในภาคธุรกิจก็เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้
ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการวางกฎระเบียบให้ชัดเจนและโดยเร็ว

     “รัฐควรเร่งโครงการไทยเข้มแข็ง อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เร่งการเบิกจ่าย และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อเนื่อง เพราะขณะนี้การลงทุนกำลังชะงัก และจำเป็นต้องใช้นโยบายด้านการเงินให้ดอกเบี้ยทรงตัวต่ำ และค่าเงินบาทอย่าให้แข็งมากนัก ผมคิดว่านี่น่าจะเป็นมาตรการในระยะสั้นที่น่าจะกระทำ”
ดร.ธนวรรธน์ บอกต่อว่า ส่วนมาตรการในระยะกลางคงต้องชัดเจนว่า แนวทางการแก้ไขจะเป็นแนวทางไหน ต้องเร่งดำเนินการให้เกิดผล

     “สมมติว่าพอระยะสั้นออกมาได้ชัดว่าจะต้องมีการตั้งองค์กรอิสระต่างๆ เมื่อประกาศแล้ว รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรต่อ รัฐจะต้องทุ่มเทสรรพกำลังลงไปร่วมทำประชาพิจารณ์ โดยผ่านกระทรวงต่างๆ อาจต้องมีสถาบันการศึกษาเข้าไปร่วมทำประชาพิจารณ์และทำรายงานผลกระทบด้านต่างๆ โดยเร็ว สร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน นั่นคือระยะปานกลางที่จะต้องทำคือแก้ไขปัญหามาบตาพุดให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และต้องประชาสัมพันธ์สิ่งที่เกิดขึ้นแก่นักลงทุนต่างประเทศว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยจะดำเนินการนั้น มีแนวทางอย่างไร นักลงทุนจะได้เข้ามาภายใต้กรอบกติกาที่ชัดเจน”

จูนความคิด ก้าวไปข้างหน้าอย่างสมดุล

     แม้กรณีมาบตาพุดจะมีนัยสำคัญต่อสังคมไทย แต่กับภาคประชาชนจำนวนหนึ่งก็ยังรู้สึกว่า ปัญหาสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ซึ่งภาครัฐยังไม่มีความจริงใจที่จะปฏิบัติตาม
      กรณ์อุมา พงษ์น้อย แกนนำชาวบ้านบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เธอเล่าว่ากรณีโรงถลุงเหล็กเข้าครอบครองที่ดินสาธารณะ แม้ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จะมีคำสั่งให้เพิกถอนเอกสารสิทธิ์แล้ว แต่เจ้าหน้าที่ในท้องที่ก็ยังนิ่งเฉย หนำซ้ำยังให้ความเห็นต่อท้ายด้วยว่าควรเยียวยาความเสียหายให้แก่ทางโรงงาน ถ้าเกิดการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์

     นั่นเป็นเรื่องที่ยังดำรงอยู่ แต่อนาคตการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนด้านสิ่งแวดล้อมและภาคธุรกิจล่ะจะเป็นอย่างไร ซึ่งเราคงต้องรวมทั้งสังคมเข้าไปด้วย ในมุมมองของจิตติมาเชื่อว่า

     “ถ้ามองแนวโน้มตอนนี้ ภาคประชาชนก็จะใช้วิธีเหมือนกับมาบตาพุด คือเล่นทั้งสองด้าน หนึ่งคือสร้างกระแสทางสังคมเพื่อเรียกร้องในระดับนโยบาย การจัดกิจกรรมต่างๆ การเดินประท้วง ถือป้าย อีกด้านหนึ่งคือการใช้สิทธิทางกฎหมาย ในเมื่อกฎหมายรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้”

 
     ในด้านภาคธุรกิจอาจมองว่ากติกาใหม่จะสร้างความยุ่งยากในการประกอบธุรกิจ แต่ ดร.ธนวรรธน์ มองว่าจะเป็นการเอื้อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

     “ผมคิดว่ามันเป็นขั้นตอนที่จะเอื้อให้เศรษฐกิจโตอย่างมีคุณภาพ ซึ่งผมเชื่อว่ามันเป็นกระแสโลกและภาคธุรกิจพึงปฏิบัติและปฏิบัติได้ เพราะเป็นกฎเกณฑ์ที่ชัดเจน ถามว่ายุ่งยากไหม คงต้องบอกว่าประเทศที่มีระดับการพัฒนามากขึ้น เช่น สหภาพยุโรป เขาก็มีแนวแบบเรานี่แหละครับ จะสังเกตได้ว่าอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมคิดว่าผลิตในประเทศพัฒนาแล้ว ต้นทุนสูง ไม่คุ้ม ก็เลยมาที่เรา

     “ผมเชื่อว่าตอนนี้ เรากำลังก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีการพัฒนามากขึ้นที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และเป็นหลักปฏิบัติที่ภาคธุรกิจสามารถตัดสินได้ว่ามันคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ มันเป็นขั้นตอนที่ภาคธุรกิจทำได้และไม่น่าจะยุ่งยาก เพียงแต่จะมีขั้นตอนมากขึ้นกว่าเดิม”

 
     เรียกว่าเป็นช่วงโกลาหลของทุกฝ่าย เมื่อฝุ่นจางลง อาจเห็นระเบียบใหม่ที่ชัดเจน ที่ช่วยสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่ประเทศ โดยไม่เสือกไสคนเล็กคนน้อยออกไปจากสารบบดังแต่ก่อน ซึ่งไม่ใช่ภาระของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดร.เลิศชายสรุปทิ้งท้ายไว้ให้คิดต่อว่า

     “สังคมจะต้องร่วมกันจูนความคิด หาความรู้ใหม่ๆ เพื่อจะก้าวไปข้างหน้า เราจะพัฒนาอย่างไรให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันได้ ผมว่ามันเป็นจุดเปลี่ยนสังคมที่ต้องแสวงหาความรู้ชุดใหญ่ที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างสมดุล”

                     ...............

           เรื่อง : กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล
           ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ, วรวิทย์ พานิชนันท์

กำลังโหลดความคิดเห็น