xs
xsm
sm
md
lg

สแตนชาร์ดฯชี้ศก.โตเปราะบาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สแตนดาร์ดชาร์ดประเมินจีดีพีไทยปีนี้โต 2.8% และยังมีความเประบาง จี้รัฐเร่งหาทางออกมาบตาพุด ดึงความเชื่อมั่นกลับ พร้อมมองต่างมุมกนง.คงดอกเบี้ยไปจนถึงสิ้นปี และจะเริ่มปรับขึ้นช่วงต้นปีหน้า เพื่อพยุงเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อยังไม่น่าห่วง ขณะที่ดอกเบี้ยแบงก์นำขึ้นก่อน หลังสภาพคล่องเริ่มลด ด้านเงินบาทในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อ่อนแตะ 33.50 บาทต่อดอลล์ แต่กลับแข็งค่าแตะ 32 ช่วงปลายปี

นายเจอราร์ด ลีอองส์ หัวหน้าสำนักวิจัยเศรษฐกิจ กลุ่มธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด เปิดเผยในงานบรรยายสรุปภาวะเศรษฐกิจ "โลกหลังภาวะวิกฤต : นัยยะต่อภูมิภาคเอเชียและโลก" ว่า คาดการณ์ว่าภูมิภาคเอเชียจะเป็นภูมิภาคที่นำการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2553 นี้ โดยธนาคารประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะกลับมาเติบโตดีขึ้นในระดับ 2.9% จากที่หดตัวลงในอัตรา 1.9% ปี 2552 ทั้งนี้ ประเทศจีนและอินเดียที่จะเป็นผู้นำการฟื้นตัวในครั้งนี้ซึ่งคาดว่าอัตราการขยายตัวจะอยู่ในระดับที่ 7% จากปีที่แล้วซึ่งขยายตัวอยู่ที่ 4.5% และปัจจัยที่จะผลักดันให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจน่าจะมาจากอุปสงค์ภายในประเทศ ส่วนการตลาดส่งออกหลักของเอเชียอย่างสหรัฐฯและยุโรปจะยังมีแนวโน้มเติบโตในลักษณะที่อ่อนแออยู่

ด้านนางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) (SCBT)ให้มุมมองต่อการจับตาเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไปจนถึงอนาคตว่า ธนาคารได้พิจารณาปัจจัยโดยรวมและคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีลักษณะการขยายตัวที่ระดับ 2.8%ในปีนี้ ซึ่งเป็นการเติบโตในระดับต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็นคือระหว่าง 5.0-5.5% ในระยะกลาง และคาดว่าในปี 2554 อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจดังกล่าวจะอยู่ที่ประมาณ 4.5%

"โดยการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะยังอยู่บนปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเปราะบาง อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองของไทยที่ยังมีความขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน รวมไปถึงความสำเร็จในการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโครงการไทยเข้มแข็งของรัฐบาลว่าจะเป็นอย่างไร จะเดินไปข้างหน้าได้หรือไม่ ตรงจุดนี้มีความสัมพันธ์กับปัจจัยการเมืองโดยตรง นอกจากนี้ปัญหาเรื่องมาบตาพุดก็ยังเป็นประเด็นที่ต้องจับตามองกันอีกเพราะมีผลกระทบต่อความรู้สึกและความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของความไม่แน่นอนของกฏระเบียบ ซึ่งหากเราไม่สามารถแกปัญหาได้เชื่อว่าจะส่งผลต่อศักยภาพเงินลงทุนต่างประเทศที่จะมาในไทยในระยะกลางและระยะยาวที่จะลดลง"นางอุสรา กล่าว

ส่วนปัจจัยเงินเฟ้อขณะนี้มองว่าไม่ใช่ประเด็นที่ต้องวิตก โดยไม่มีความน่าเป็นห่วงในเรื่องเกิดภาวะฟองสบู่ของราคาสินทรัพย์ในประเทศไทย เนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจเกิดขึ้นน่าจะมาจากความผันผวนของราคาอาหารและพลังงาน ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น แต่ไม่ใช่เงินเฟ้อที่เกิดจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น เนื่องการอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมยังอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น แนวโน้มที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบใหม่คงยังไม่เกิดขึ้นและน่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.25% เกือบตลอดทั้งปีนี้ เพื่อประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องไปจนกว่าจะถึงต้นปี 2554 ที่คาดว่า ธปท.จะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

"อัตราเงินเฟ้อในปีนี้ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ดังนั้น จึงไม่ใช่สาเหตุที่กดดันให้ทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะการใช้นโยบายเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยในขณะนี้เพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อยังไม่ใช่เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ แต่การใช้เครื่องมือทางการคลังเกี่ยวกับมาตรการภาษีและอุดหนุนราคาน้ำมันเป็นมาตรการชั่วคราวในการจัดการราคาน้ำมันได้เหมาะสมกับสถานการณ์แบบนี้มากกว่าใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบาย" นางอุสรา กล่าว

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์มองว่าอาจจะปรับขึ้นเร็วกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรและหุ้นกู้ ที่ผ่านมาเริ่มมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นล่วงหน้าแล้ว ประกอบกับสภาพคล่องในธนาคารพาณิชย์แม้จะยังคงมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่หากต้องการเร่งปล่อยสินเชื่อในปีนี้ให้ขยายตัว 5-8% หรือคิดเป็นมูลค่า 4-6 แสนล้านบาท ก็ย่อมทำให้สภาพคล่องส่วนเกินในธนาคารพาณิชย์ลดลง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากปรับขึ้นได้ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาทของไทยต่อเงินดอลลาร์สหรัฐในปีนี้ก็เชื่อว่า ธปท.จะยังคอยติดตามดูแลไม่ให้ค่าเงินบาทผันผวนมากเกินไป โดยคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ค่าเงินบาทจะมีการอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จนกระทั่งปลายปีนี้ค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าแตะที่ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็เป็นผลมาจากการที่สหรัฐฯจะมีการปรับฐานแล้วดึงเงินจากภูมิภาคเอเชียกับไป
กำลังโหลดความคิดเห็น