xs
xsm
sm
md
lg

คลังออกบอนด์ไม่กระทบสภาพคล่องคาดกนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย1.25%

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ธปท.ระบุคลังออกบอนด์ 5-8 หมื่นล้านบาทไม่กระทบสภาพคล่อง เหตุแบงก์มีการถือครองสินทรัพย์สภาพคล่องสูงถึง 2 ล้านล้านบาท และมีสภาพคล่องส่วนเกินสูงกว่าเกณฑ์กำหนดถึง 4 เท่า ระบุเงินทุนไหลเข้าจาก FDI และการซื้อหุ้นในสถาบันการเงินและพันธบัตร ขณะที่การประชุมกนง.คาดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 1.25%ต่อปี

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า การที่กระทรวงการคลังมีแผนออกพันธบัตรออมทรัพย์วงเงิน 5-8 หมื่นล้านบาทในช่วงปลายไตรมาส 1ของปีนี้เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อสภาพคล่องในระบบให้ลดลง เนื่องจากขณะนี้สภาพคล่องอยู่ในระดับค่อนข้างสูงมาก โดยธนาคารพาณิชย์ถือครองสินทรัพย์สภาพคล่องสูงถึง 2 ล้านล้านบาท และมีสภาพคล่องส่วนเกินก็สูงกว่า 4 เท่าของเกณฑ์ที่ธปท.กำหนด

ขณะเดียวกันเชื่อว่าพันธบัตรของกระทรวงการคลังภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งท้ายที่สุดแล้วเงินเหล่านั้นก็จะกลับมาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจต่อไป และในส่วนของธปท.เองไม่มีแผนที่จะออกพันธบัตรออมทรัพย์ในช่วงนี้ จึงไม่เพิ่มแรงกดดันให้สภาพคล่องในระบบลดลง และเชื่อว่าจากเครื่องมือที่มีอยู่เพียงพอที่จะสามารถบริหารสภาพคล่องในระบบให้เหมาะสมได้

ชี้ไทยมีกระแสเงินทุนไหลเข้า

ผู้ช่วยผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า สำหรับกระแสเงินทุนไหลเข้ามาในไทยขณะนี้ส่วนใหญ่เป็นเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) การซื้อหุ้นในสถาบันการเงินและซื้อพันธบัตร ซึ่งเชื่อว่าผลตอบแทนจากพันธบัตรของไทยยังสูงกว่าหลายประเทศ โดยพันธบัตรอายุ 10 ปี ผลตอบแทนอยู่ที่ 4.2% อายุ 2 ปี อยู่ที่ระดับ 2% ขณะที่ในต่างประเทศผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 2 ปีไม่ถึง 1% และมั่นใจว่าที่ผ่านมาไทยได้มีการพัฒนาตลาดทุนพอสมควร ทำให้มีแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น

คาดดบ.นโยบายไม่ขยับ

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวว่า การประชุมของกนง.ในวันนี้เกี่ยวกับการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังให้น้ำหนักอัตราเงินเฟ้อเป็นสำคัญ แม้ขณะนี้อัตราเงินเฟ้อยังไม่เร่งตัวสูงนัก ทำให้มีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายยังคงที่อยู่หรืออยู่ที่ 1.25%ต่อปี แต่ต่อไปข้างหน้ามีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้น ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ขยับขึ้นอย่างแน่นอน จึงต้องติดตามดูอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน พร้อมทั้งข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญในแต่ละช่วงเวลาประกอบด้วย

“ในการดำเนินนโยบายการเงินของปีก่อน กนง.จะให้ความสำคัญเรื่องอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจมากกว่าอัตราเงินเฟ้อ จึงได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายค่อนข้างเยอะ แต่ในปีนี้คาดว่าทิศทางอัตราเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้า ซึ่งไม่ใช่แค่ปัจจัยจากฐานราคาน้ำมันอย่างเดียว ทำให้คาดว่าปีนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับขึ้นแน่นอน”

โดยก่อนหน้านี้ นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ในปี 53 อัตราเงินเฟ้อจะสูงกว่าปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 1-2 เป็นผลจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐ 5 ข้อ ซึ่งหากหมดอายุลงอาจมีผลให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ปัจจัยอัตราเงินเฟ้อยังไม่น่าตื่นตระหนกไม่ว่าจากฐานราคาน้ำมันปีก่อนต่ำ ทำให้ราคาสินค้าไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก รวมถึงการคาดการณ์ทั่วไปว่าอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ก็ยังไม่มีในขณะนี้

“หากแบงก์ชาติมองไปข้างหน้าแล้วคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อเร็วมาก เราก็ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปเร็ว แต่หากเงินเฟ้อและเศรษฐกิจทยอยไปได้ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยทยอยปรับได้ ฉะนั้นหลักๆ ดูทั้งแนวโน้มเงินเฟ้อและแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ”ผู้ว่าการธปท.กล่าว

ด้านนางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธปท.และในฐานะคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อปี 53 จะเพิ่มแรงกดดันหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ 1.การฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยว่าจะกดดันดีมานส์ในระบบเพิ่มขึ้นหรือไม่ 2.ราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น และ3.ผลของมาตรการภาครัฐ ซึ่งหากมีการต่ออายุไปอีกหลังจากเม.ย.นี้ไปแล้วอาจมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นได้

บาทแตะ33.03แข็งสุดรอบ15เดือน

นักค้าเงินธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวค่าเงินบาทเมื่อวานนี้ เปิดตลาดระดับ 33.06-33.07 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะปิดตลาดเงินบาทแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ระดับ 33.03-33.04 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ถือว่าเงินบาทแข็งค่าที่สุดในรอบ 15 เดือน โดยระหว่างวันเงินบาทค่อนข้างผันผวน จึงมีแรงซื้อจากธปท.เข้ามาเป็นระยะๆ สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในวันนี้คาดว่าแกว่งตัวอยู่กรอบ 32.90-33.10 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น