xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์ใหญ่ สร้างคน

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

การเมืองใหม่จะต้องเข้าแทนที่การเมืองเก่า คือกฎเกฑ์พัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย ที่จะต้องเป็นไป เพื่อนำไปสู่พัฒนาการทางด้านอื่นๆ ของประเทศไทย ตามความเรียกร้องต้องการของประชาชนไทย ในยุคสมัยที่คนทั้งโลกได้ตื่นตัวขึ้นมาทวงสิทธิ์ของความเป็น “คน” ยิ่งกว่ายุคใดๆ

มองในมุมกว้าง ก็จะพบว่า การเมืองใหม่เป็นปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงแนวโน้มใหญ่ของโลกเลยทีเดียว ประเทศต่างๆ “จำเป็น” ต้องเร่งปรับตัวเอง เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ที่กำลังขับเคลื่อนตัวเองไปด้วยพลังแห่งความรู้และวิทยาการสมัยใหม่ ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจาก “เก่า” สู่ “ใหม่” จึงมีขึ้นในประเทศต่างๆ ทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เช่น การเปลี่ยนแปลงกลุ่มผู้นำในสหรัฐอเมริกาจากกลุ่มคนผิวขาวมาเป็นกลุ่มคนผิวสี การขยายตัวของสหภาพยุโรป การปฏิรูปทางการเมืองของประเทศจีน การพลิกขั้วของรัฐบาลญี่ปุ่น เป็นต้น

โดยนัยนี้ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจาก “เก่า” สู่ “ใหม่” จึงเป็น “ปรากฏการณ์ทั่วไป” ที่สะท้อนกฎเกณฑ์การพัฒนาของสังคมโลกโดยรวม ซึ่งเป็นอีกขั้นหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิวัติตนเองอย่างรอบด้านของมวลมนุษยชาติ เพื่อให้ตนเองหลุดพ้นจากกรอบจำกัดของธรรมชาติและเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน โดยทุกอย่างจะเริ่มต้นจาก “ตนเอง” ด้วยสำนึกที่จะพัฒนาตนเอง ยกระดับตนเอง กระทั่งมีความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเองสูงสุด

ในบริบทดังกล่าว การเมืองใหม่ของประเทศไทย จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองใหม่โลก การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของโลก

กระนั้น “การเมืองใหม่” ในแต่ละประเทศมีจุดเริ่มต้น ระดับขั้นตอน เนื้อหาสาระและลักษณะรูปแบบที่แตกต่างกันไป แต่ละประเทศจะต้องออกแบบการเมืองใหม่ที่เหมาะสมกับตัวเอง สามารถจัดวางตำแหน่งการเมืองใหม่ของตนเองได้ตามเหตุปัจจัยเอื้อ เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและประสบผลสำเร็จสูงสุด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ หนีไม่พ้นต้องชี้ขาดกันที่ “ปัญญาตื่นรู้” ของ “คน” ที่มีต่อสภาพเป็นจริงของตนและของโลกโดยรวม ในยุคสังคมสารสนเทศที่ “ความรู้” เป็นใหญ่

สำหรับประเทศไทย การเมืองใหม่ปรากฏออกมาในรูปของการต่อสู้ระหว่างอำนาจการเมืองเก่าที่ใช้เงินเป็นอาวุธกับอำนาจการเมืองใหม่ที่ใช้ปัญญาเป็นอาวุธ กลุ่มการเมืองเก่าใช้เงินบวกความรู้บันดาล สร้างฐานอำนาจทางการเมือง ส่วนกลุ่มการเมืองใหม่ใช้ปัญญาบวกความรู้บันดาล สร้างฐานอำนาจทางการเมือง

“ปัญญา” หมายถึงการเข้าถึงความเป็นจริง กระจ่างแจ้งในสัจธรรม “เห็น” ถึงกฎเกณฑ์การพัฒนาของสังคมไทยและสังคมโลก สะท้อนถึงความมี “สัมมาทิฐิ” ของอำนาจการเมืองใหม่ ตรงกันข้าม กลุ่มอำนาจการเมืองเก่าใช้เงินเป็นตัวตั้ง มองไม่เห็นความจริง ไม่ยอมรับความจริง หมกมุ่นอยู่แต่ในเรื่องผลประโยชน์เฉพาะตน สะท้อนถึง “มิจฉาทิฐิ” ที่ฝังรากอยู่ในกลุ่มการเมืองเก่า

การต่อสู้จึงดำเนินไปในรูปแบบที่อำนาจการเมืองเก่าโดยกลุ่มทุนนิยมสามานย์พยายามระดมกำลังรักษาฐานอำนาจทุกวิถีทาง ขณะที่อำนาจการเมืองใหม่โดยขบวนการการเมืองภาคประชาชนเดินหน้าจุดเทียนปัญญา ขยายเครือข่าย ยกระดับการจัดตั้ง สร้างสมอำนาจขึ้นในหมู่มวลมหาชนอย่างไม่หยุดยั้ง นำเสนอทางออกของประเทศไทย ระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันเปลี่ยนแปลงประเทศไทย จัดทัพมวลมหาชนให้ยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเผด็จศึกขั้นสุดท้าย

รูปแบบการต่อสู้เช่นนี้จะดำเนินไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดการพลิกเปลี่ยนของดุลอำนาจระหว่างอำนาจการเมืองเก่ากับอำนาจการเมืองใหม่ อำนาจการเมืองเก่าตกเป็นรองและอำนาจการเมืองใหม่กลายเป็นหลัก การเมืองใหม่ของขบวนการการเมืองภาคประชาชนจึงจะประกาศชัยชนะได้

ลักษณะและรูปแบบของการต่อสู้ทางการเมืองเช่นนี้ กำหนดให้พันธมิตรฯ และพรรคการเมืองใหม่ซึ่งเป็นแกนนำและกองหน้าของขบวนการการเมืองภาคประชาชน ต้องกำหนดยุทธศาสตร์ “สร้างคน” เป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ เพราะถึงที่สุดแล้ว ผลแพ้-ชนะในทุกเวที ทั้งในและนอกรัฐสภา จะตัดสินกันที่ “คน” ทั้งที่เป็น “คน” ในระดับแกนนำ “คน” ในระดับผู้ปฏิบัติงาน และ “คน” ในระดับมวลมหาชน

อธิบายในบริบทของชาวพันธมิตรฯ และพรรคการเมืองใหม่ (ตามความเข้าใจในระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน) “คน” ในที่นี้ หมายถึง “คนการเมืองใหม่” ที่มีจิตใจ “ซื่อสัตย์ เสียสละ กล้าหาญ” และมีคุณสมบัติ “ทำงานเป็น” รวมถึงเป็น “ผู้ปฏิบัติที่ตื่นรู้” สามารถพัฒนายกระดับจิตใจและคุณสมบัติต่างๆ เหล่านี้ของตนเองอยู่เสมอในท่ามกลางการเคลื่อนไหว ปฏิบัติภาระหน้าที่ต่างๆ ด้วยหลักยึด 4 ประการ ได้แก่ จุดเทียนปัญญา เอาธรรมนำหน้า สัมมาทิฐิ และเดินทางสายกลาง ฯลฯ ซึ่งคุณสมบัติของความเป็น “คนการเมืองใหม่” เหล่านี้ จะไม่จำกัดอยู่แค่นี้ แต่จะพัฒนาเพิ่มพูนความสมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไปตามการพัฒนาเติบใหญ่ของขบวนการการเมืองใหม่

สองแนวทางสร้างคน

การสร้างคนมีสองทาง ทางหนึ่ง สร้างคนในท่ามกลางการเคลื่อนไหวต่อสู้ ปฏิบัติภารกิจด้วยจิตใจแน่วแน่ จัดอยู่ในส่วนของการสร้างคนด้วยตนเอง ซึ่งก็คือการสร้างตนเอง พัฒนา ยกระดับตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่จะต้องเป็นไปเองในตัวอยู่แล้ว ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจใฝ่ดีและก้าวหน้าอยู่เป็นทุนเดิม จะทำได้ดีกว่า เห็นผลชัดเจนกว่า สามารถแบกรับภารกิจสำคัญๆ ได้มากกว่า

อีกทางหนึ่งคือ สร้างคนด้วยการศึกษา อบรม สัมมนา ร่วมกันกับคนอื่น โดยมีหน่วยงานรับผิดชอบ จัดทำระบบและหลักสูตรการศึกษาฯ ดำเนินการให้กระบวนการศึกษาฯ บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ จัดอยู่ในส่วนของการสร้างคนด้วยระบบการจัดตั้ง แม้จะให้ผลทางด้านคุณภาพไม่เท่ากับการพัฒนาตนเอง แต่จะให้ผลอย่างสำคัญทางด้านปริมาณ เมื่อผู้ปฏิบัติงานจำนวนมากผ่านกระบวนการอบรมบ่มเพาะ สามารถปรับปรุงตนเอง เสริมสร้างความเป็น “คนการเมืองใหม่” ได้เป็นขั้นๆ จะทำให้ขบวนการการเมืองใหม่เติบโตเข้มแข็งทางด้านคุณภาพในทุกระดับชั้น มีผลโดยตรงต่อการทำงานในหมู่มวลมหาชนทุกระดับชั้น เพราะถึงที่สุดแล้ว สิ่งที่พวกเขาจะต้องทำให้ได้ก็คือการสร้าง “มวลมหาชนการเมืองใหม่” ขึ้นมา สนับสนุนและเข้าร่วมขบวนการสร้างการเมืองใหม่ตามวิถีทางที่เปิดให้อย่างเต็มที่ เพื่อนำไปสู่การพลิกเปลี่ยนทางการเมือง จากการเมืองเก่าเป็นการเมืองใหม่ในที่สุด

คนการเมืองใหม่มีอยู่ 3 ระดับ คือระดับแกนนำ ระดับผู้ปฏิบัติงาน และระดับมวลชน คนการเมืองใหม่ทั้งสามระดับนี้ มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน มีบทบาทสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน เสริมส่งซึ่งกันและกัน ผสมกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน

คนการเมืองใหม่ในระดับแกนนำมีความตื่นตัวสูง สายตากว้างไกล รับผิดชอบมาก โดยทั่วไปจะพัฒนายกระดับตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ สามารถกำหนดทิศทาง แนวนโยบายการต่อสู้ได้อย่างถูกต้องในทุกขั้นตอน ขณะที่คนการเมืองใหม่ในระดับผู้ปฏิบัติงาน จะต้องสนใจพัฒนายกระดับตนเองควบคู่ไปกับการเข้ารับการอบรมตามโครงการอบรม (ปัจจุบันก็คือตามโครงการอบรมของสถาบันการเมืองใหม่ พรรคการเมืองใหม่) ส่วนมวลชนการเมืองใหม่ จะต้องอาศัยการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน ไปจุดเทียนปัญญา เคลื่อนไหวทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสม ดึงดูดมวลชนเข้าสู่ขบวนการการเมืองใหม่อย่างไม่ขาดสาย
กำลังโหลดความคิดเห็น