xs
xsm
sm
md
lg

กูรูท่องเที่ยวเชียงรายวางเข็มทิศปี 53 มุ่งเป้าสร้างเมืองวัฒนธรรม-ประตูสี่เหลี่ยมศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย (กลาง)
เชียงราย – กูรูท่องเที่ยวเมืองพ่อขุนฯ ตั้งวงเสวนาถกอนาคตเมืองเชียงรายปี 53 วางเป้าเป็น “เมืองแห่งวัฒนธรรม-ประตูสี่เหลี่ยมศก.” พร้อมเร่งสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ ผู้ว่าฯย้ำให้จัดงานกระตุ้นตลอดปี ไม่เน้นเฉพาะหน้าหนาว

สมาคมท่องเที่ยวเชียงรายและสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จ.เชียงราย ได้จัดการเสวนาในหัวข้อ "ทิศทางการพัฒนาการท่องเที่ยว จ.เชียงราย ปี 2553" ณ ห้องประชุม โรงแรมเดอะริเวอร์เฮ้าส์ รีสอร์ท แอนด์ สปา อ.เมือง จ.เชียงราย เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย เป็นประธานและผู้ร่วมเสวนาประกอบไปด้วยนายพรหมโชติ ไตรเวช ผู้อำนวยการศูนย์การท่องเที่ยวและกีฬา จ.เชียงราย นายอิศรา สถาปนาเศรษฐ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานเชียงราย ตัวแทนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนครเชียงราย และผู้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยวใน จ.เชียงราย เข้าร่วม

ผู้เข้าร่วมเสวนาแต่ละคนต่างแสดงทัศนะว่า ต้องการให้การท่องเที่ยวของเชียงรายอนาคตมีเป้าหมายอย่างไร และเมื่อตั้งเป้าแล้วจะมีปัญหาอุปสรรคและการดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งส่วนใหญ่มีความเห็นว่า ควรตั้งเป้าให้เชียงรายเป็น "เมืองแห่งวัฒนธรรมล้านนา" เพราะถือเป็นจุดแข็งที่ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือน เห็นควรให้ทุกฝ่ายร่วมกันอนุรักษ์ขนบธรรมเนียม ประเพณีและวัฒนธรรมล้านนา สอดแทรกลงไปในกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวต่างๆ รวมทั้งอนุรักษ์ธรรมชาติ ใช้ประโยชน์จากการเป็นเมืองแห่งการเป็นประตูสู่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ เพราะมีชายแดนติดกับ สปป.ลาว พม่า เชื่อมไปถึงมณฑลหยุนหนัน จีนตอนใต้ ผ่านทางบก – ทางเรือในแม่น้ำโขง และทางอากาศ

นายสุเมธ กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีสมาคมนักธุรกิจไทย-จีน และนักธุรกิจจากจีนประมาณ 60 คน เดินทางเข้าพบปะหารือกับตนที่ศาลากลางเชียงราย เกี่ยวกับการจัดโครงการเมืองเชียงรายน่าเที่ยวโดยจะพาคนจีนเข้ามาท่องเที่ยว ในเดือนเมษายน 2553 และเมื่อได้นำมาประมวลกับศักยภาพด้านต่างๆ ของ จ.เชียงราย และสะท้อนจากความเห็นของนานาประเทศที่ให้ความสนใจแล้วเห็นว่า เชียงราย ควรมีเข็มทิศมุ่งไปสู่การเป็นเมืองแห่งการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งจังหวัดก็มีนโยบายเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ถือปฏิบัติอยู่แล้วตามยุทธศาสตร์ 3 ด้านคือ "เพิ่ม" เพิ่มสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ๆ และจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่เสมอ "ลด" คือการลดปัญหาอุปสรรคต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น และ "คงที่" คือการอนุรักษ์สิ่งดีงามที่เคยมีอยู่เดิม

นายสุเมธ กล่าวอีกว่า ปี 2552 พบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนเชียงราย ประมาณ 1.6 ล้านคน ซึ่งถือว่าสวนกระแส เพราะทุกฝ่ายร่วมแรงร่วมใจกัน โดยเฉพาะการจัดงานเทศกาลเชียงรายดอกไม้บานโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย การจัดงานถนนคนเดินทุกวันเสาร์ของเทศบาลนครเชียงราย ฯลฯ และในปี 2553 ก็ตั้งเป้าที่จะให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวให้ถึง 3 ล้านคน โดยจะเน้นให้มีการจัดงานกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปี เพื่อให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนได้ทุกฤดูไม่ว่าจะเป็นฤดูฝน ร้อน หนาว ไม่ใช่เน้นเฉพาะฤดูหนาวเหมือนเดิมอีก

ล่าสุดหลังเทศกาลปีใหม่จะมีการจัดงาน "อลังการงานแสดงสินค้า และวัฒนธรรมสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง ครั้งที่ 15" ณ สนามบินทหารอากาศ ฝูงบิน 416(สนามบินเก่า) อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นงานระดับนานาชาติ ซึ่งจะมีนักแสดงจากประเทศลุ่มแม่น้ำโขง เช่น จีน สปป.ลาว พม่า ฯลฯ นำนักแสดงมาร่วมแสดงทางวัฒนธรรม-ออกร้านแสดงสินค้าต่างๆ มากมาย จากนั้นวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันแห่งความรักหรือวาเลนไทน์ก็จะจัดกิจกรรม "second honeymoon" หรือการฮันนีมูนรอบที่สองกับคู่รักคนเดิมบนดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง ฯลฯ จากนั้นก็จะจัดไปเรื่อยๆ ตลอดทั้งปี

ทั้งนี้ทุกกิจกรรมจะเน้นให้เป็นเมืองวัฒนธรรม เช่น การจัดงานถนนคนเดินใน อ.เมือง ควรจะเน้นให้คนขายและผู้เกี่ยวข้องแต่งกายชุดล้านนาทั้งหมด เป็นต้น

ด้านนายพรหมโชติ กล่าวว่า ในมุมมองของนักท่องเที่ยวมองภาคเหนือว่าเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมล้านนาและธรรมชาติสวยงาม ในอดีตมอง จ.เชียงใหม่ ว่าเป็นเมืองแห่งดอกไม้ และเชียงรายเป็นเมืองวัฒนธรรม แต่ปัจจุบันเชียงใหม่มุ่งเป้าไปเป็นเมืองแห่งการประชุมสัมมนา ซึ่งถือว่าไขว้เขวออกไปจากมุมเดิม ทำให้เชียงรายมีความโดดเด่นมากขึ้น ดังนั้นศักยภาพนี้ยังคงใช้ได้ตลอดไป แต่ก็ยังคงเกิดปัญหาขึ้นบ้าง เช่น ปัจจุบันปฏิทินการท่องเที่ยวไม่ได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่าย การจัดงานระดับจังหวัด อำเภอ ท้องถิ่น ฯลฯ เป็นไปในลักษณะต่างคนต่างจัดจนซ้ำซ้อนกัน

นอกจากนี้ยังเกิดความสับสนของหลายองค์กรที่จะจัดกิจกรรมต่างๆ มักจะขอการสนับสนุนจากจังหวัดเป็นหลัก ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันงบประมาณจังหวัดมีเพียง 10% เท่านั้น ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ มีบทบาทมากขึ้น ต่อไปจึงควรจะมีการบูรณาการจากทุกฝ่าย และสุดท้ายอยากให้ภาคธุรกิจท่องเที่ยวปรับกลยุทธ์เพิ่มศักยภาพตัวเอง มากกว่าการพึ่งพาธุรกิจท่องเที่ยวที่กรุงเทพฯ เป็นหลักเหมือนเดิม

นายอิศรา กล่าวว่า เชียงรายมีจุดแข็ง คือ นอกจะเป็นเมืองแห่งวัฒนธรรมล้านนา และยังเป็นประตูสู่สี่เหลี่ยมเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถเชื่อมเครือข่ายการท่องเที่ยวเข้าไปยังประเทศต่างๆ ได้ด้วย ดังนั้นการพัฒนาในอนาคตคงต้องผสมผสมกันระหว่างการอนุรักษ์สิ่งดีงามที่มีอยู่แล้ว กับการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น