xs
xsm
sm
md
lg

พล.อ.เปรมฯ กับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการฯ

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 แล้วที่นายจตุพร พรหมพันธุ์แถลงข่าวไว้ว่าหากกดดันให้รัฐสภายุบสภาสำเร็จ และหลังเลือกตั้งพรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล เขาและพรรคพวกจะเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตราที่ว่าด้วยผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่รัฐธรรมนูญ 2550 เขียนล็อคให้กับพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เขายังคงยืนยันคำพูดเดิมในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับแทบลอยด์ไทยโพสต์ช่วงวันหยุดส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เช่นเดียวกับที่นายวีระ มุสิกพงศ์พูดบนเวทีอภิปรายของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2552

เป็นการพูดความจริงไม่หมด และจงใจไม่พูดความจริง

ที่จงใจไม่พูดความจริงอย่างชัดเจนก็คือประโยค “รัฐธรรมนูญ 2550 เขียนล็อคให้กับพล.อ.เปรม...” !

เพราะรัฐธรรมนูญ 2550 ที่บัญญัติเรื่องนี้ไว้ในมาตรา 20 วรรคหนึ่ง และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ก็ลอกมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 วรรคหนึ่ง และมาตรา 24 วรรคหนึ่ง ไม่ได้แก้ไขแม้แต่ตัวอักษรเดียว

“มาตรา 20 ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 หรือมาตรา 19 ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน....”

“มาตรา 24 ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาทหรือองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 23 ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน แต่ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงในระหว่างที่ได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ตามมาตรา 18 หรือมาตรา 19 หรือระหว่างเวลาที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามมาตรา 20 วรรคหนึ่ง ให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นั้น ๆ แล้วแต่กรณีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อไป ทั้งนี้ จนกว่าจะได้ประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาทหรือองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์....”


อันที่จริงรัฐธรรมนูญ 2550 หมวดพระมหากษัตริย์ทั้งหมวด (มาตรา 8 – 25) ก็ลอกมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 หมวดพระมหากษัตริย์ (มาตรา 8 – 25) ทุกตัวอักษร

แม้แต่เลขมาตราก็ยังเหมือนกัน !


ไม่เฉพาะรัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2540 ที่บัญญัติไว้เช่นนี้ ย้อนไปดูรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ 2534 รัฐธรรมนูญ 2521 รัฐธรรมนูญ 2517 รัฐธรรมนูญ 2511 รัฐธรรมนูญ 2475 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2495 และรัฐธรรมนูญ 2492 ล้วนบัญญัติหลักการไว้เหมือนกัน มีแตกต่างกันเล็กน้อยเพียงตัวอักษรและการแบ่งวรรครวมทั้งเลขมาตราเท่านั้น

พูดง่าย ๆ ว่านับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2492 ที่ให้กำเนิดตำแหน่งองคมนตรี บัญญัติกรณีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นี้ไว้เหมือนกันหมด

หรือจะบอกว่ารัฐธรรมนูญ 2492 เขียนล็อคไว้ให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ในขณะที่ยังเป็นทหารชั้นผู้น้อยอายุยังไม่เต็ม 30 ?

รัฐธรรมนูญตั้งแค่ปี 2492 เป็นต้นมาจนถึงรัฐธรรมนูญ 2550 บัญญัติไว้เช่นนี้ก็เพื่อไม่ให้มีสภาพสุญญากาศในตำแหน่งประมุขของประเทศ

ประเด็นที่ควรทำความเข้าใจก็คือการที่ประธานองคมนตรีจะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยอัตโนมติ โดยผลของรัฐธรรมนูญ มีอยู่เพียง 2 กรณีเท่านั้น

หนึ่ง – กรณีทั่วไป

มาตรา 18, 19 และ 20 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ลอกมาจากชุดมาตราเดียวกันของรัฐธรรมนูญ 2540 บัญญัติไว้ว่าในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ ด้วยเหตุใดก็ตาม (1) จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ, หรือ (2) ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะเหตุยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ประธานองคมนตรีจะเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็เฉพาะกรณีกระบวนการตาม (1) และ (2) ยังไม่เสร็จสิ้นเท่านั้น

สอง – กรณีราชบัลลังก์ว่างลง

มาตรา 24 รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ลอกมาจากมาตราเดียวกันของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ก็มาจากหลักการเดียวกันของรัฐธรรมนูญทุกฉบับตั้งแต่ปี 2492 เป็นต้นมา บัญญัติไว้ว่าในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงและอยู่ในช่วงที่ยังไม่มีประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาทหรือองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ หรือกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ที่ได้รับการแต่งตั้งไว้ก่อนแล้ว

ทั้ง 2 กรณีมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก หรือมีก็จะเป็นช่วงเวลาสั้นมาก ๆ เท่านั้น

แต่รัฐธรรมนูญจำเป็นต้องบัญญัติไว้เพื่ออุดช่องโหว่ที่อาจจะมีเพื่อไม่ให้เกิดภาวะสุญญากาศในตำแหน่งประมุขของประเทศ

การที่บอกว่า “รัฐธรรมนูญ 2550 เขียนล็อคไว้ให้พล.อ.เปรม....” จึงไม่ใช่ความจริงโดยสิ้นเชิง !

ส่วนที่ขยายความว่าจะแก้ไขให้ผู้ที่เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องเป็นพระบรมวงศานุวงศ์หรือองค์พระรัชทายาทเท่านั้น ไม่ให้เป็นสามัญชน ยังเป็นประเด็นที่พออภิปรายกันได้ แต่ถ้าศึกษาลึกลงไปแล้วจะพบว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติมากว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญออกมาในลักษณะใด อย่างเช่นกรณีตามมาตรา 20 และ 24 หากแก้ไขให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องเป็นพระบรมวงศานุวงศ์หรือองค์พระรัชทายาทเท่านั้น จะมีวิธีการใดและองค์กรใดตัดสินให้ตกอยู่กับพระบรมวงศานุวงศ์ท่านใดเล่า และถ้าวิธีการนั้นต้องใช้เวลา ก็จะเกิดสุญญากาศขึ้นได้ หรือถ้าจะแก้ไขให้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องเป็นองค์พระรัชทายาทเท่านั้นเพื่อตัดปัญหาการพิจารณาเลือกพระบรมวงศานุวงศ์ ก็จะเกิดปัญหาในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้

และอันที่จริงผู้ดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในอดีตตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ก็มีทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระรัชทายาท และสามัญชน

เฉพาะที่เป็นสามัญชนก็อาทิ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค), เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม), เจ้าพระยาพิชเยนทรโยธิน (อุ่ม อินทรโยธิน), หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์), พระยามานวราชเสวี (ปลอด ณ สงขลา) และพล.ต.อ.หลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ)

การเปิดประเด็นของนายวีระ มุสิกพงศ์และนายจตุพร พรหมพันธ์จึงมีจุดอ่อนมาก

และพอเข้าใจได้ไม่ยากว่ามีเจตนาแฝงเร้นที่ลึกซึ้งกว่า !

แต่ในยุคที่การชี้แจงตอบโต้ด้วยข้อมูลและความจริงของรัฐยังคงหละหลวมต่อเนื่อง ประเด็นที่มีจุดอ่อนมากจึงยังพอทำให้คนบริสุทธิ์ที่ขาดข้อมูลข่าวสารหลงเชื่อหลงตามไปได้บ้าง และทำให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตลอดจนท่านผู้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีทั้งหลาย ที่ไม่อยู่ในสถานะที่จะชี้แจงตอบโต้ได้ ต้องพลอยฟ้าพลอยฝนถูกเข้าใจไปต่าง ๆ นานา

เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ “เจตนาแฝงเร้นที่ลึกซึ้งกว่า” ของคนบางกลุ่มจึงยังคงมีความหวัง !
กำลังโหลดความคิดเห็น