ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย....ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
รัฐบาลชุดนี้ได้ตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการที่เน้นการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการใช้ภาครัฐบาลเป็นตัวกลไกในการกู้เงินเพื่ออัดเงินงบประมาณแผ่นดิน เข้าไปในระบบผ่านการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อทำให้ภาคเอกชนนั้นมีการฟื้นตัว
การลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็งตั้งแต่ปี 2552 – 2555 ซึ่ง ใช้เงินสำหรับการลงทุนประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท ซึ่งแน่นอนแล้วว่าการเลือกใช้วิธีนี้ย่อมตามมาด้วยหนี้สินของประเทศที่เรียกว่า หนี้สาธารณะซึ่งปัจจุบันเมื่อถึงปี 2555 ประเทศไทยจะมีหนี้สาธารณะอย่างน้อยเป็น 4.85 ล้านล้านบาท คิดเป็นหนี้ประมาณ 75,000 บาทต่อประชากรหนึ่งคน
การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบประมาณจำนวนมากๆเช่นนี้ หากต้องการทำให้ได้ผลเพื่อให้ภาคเอกชนได้หมุนฟันเฟืองต่อเองไปได้หลังการกระตุ้นเศรษฐกิจ ก็น่าจะมีความคิดที่จะไม่ใช่เรื่องแค่ว่าจะใส่เงินเข้าไปในระบบเท่านั้น แต่จะต้องดูความเร็วและจำนวนเงินที่กระตุ้น ควบคู่ไปกับความยั่งยืนหลังจากการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกด้วย
แต่น่าเสียดายที่โครงการไทยเข้มแข็งในปีนี้ใช้จ่ายงบประมาณต่ำกว่าเป้าหมายไปมาก ที่อ้างว่าต้องเป็นพระราชกำหนดกู้เงิน 4 แสนล้านบาท เพราะต้องรีบกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น เอาเข้าจริงตั้งแต่เริ่มโครงการมาจนถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2552 ก็ใช้จ่ายไปเพียงแค่ 23,000 ล้านบาทเท่านั้น ซึ่งแสดงว่าที่หลายฝ่ายคัดค้านว่าไม่ได้มีความเร่งรีบจนต้องออกพระราชกำหนดนั้นก็มีมูลความจริง และสามารถใช้วิธีพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีเป็นปกติได้
ขนาดใช้จ่ายงบไทยเข้มแข็งไปต่ำกว่าเป้าหมาย แต่ในทางตรงกันข้ามกลับมีแต่กระแสข่าวในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นจำนวนมาก เพราะการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการนำเอาโครงการยิบย่อยจากกระทรวง ทบวง กรมต่างๆมารวมผสมกันนั้น เป็นเรื่องที่ง่ายแก่การรั่วไหล และยากแก่การควบคุมในทางปฏิบัติ
แต่ก็ต้องชื่นชมนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ตรงที่มีความจริงใจในการแก้ไขเรื่องนี้ อย่างน้อยนักการเมืองในพรรคประชาธิปัตย์ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุขที่มีข่าวความไม่โปร่งใสต้องแสดงสปีริตลาออกจากตำแหน่ง
เมื่อวันอังคารที่ 6 มกราคม 2553 ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรี ได้แจกจ่ายรายงานของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีมีเรื่องร้องเรียนการทุจริตในโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข ที่มี นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธานกรรมการฯ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบ และนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดอีก โดยในรายงานดังกล่าวมีข้อเสนอสรุปว่า
1. ควรมีการทบทวนการพิจารณาโครงการใหม่ทั้งหมด ควรดำเนินการโดยมุ่งคุณภาพเพื่อให้เกิดการสร้างความเข้มแข็งของประเทศอย่างแท้จริง มิใช่ทำให้ประเทศชาติอ่อนแอลง และสร้างปัญหาในระยะยาว จะต้องมีหลักเกณฑ์และวิธีการอย่างสมเหตุสมผล โปร่งใส
2. ควรมีการสอบสวนข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องทั้งที่ยังรับราชการและเกษียณอายุไปแล้ว ในกรณีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำที่เข้าข่ายว่าเป็นความผิดที่ได้ทำมาเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป
3. ควรพิจารณาดำเนินการกับนักการเมืองที่เกี่ยวข้องตาม “กฎเหล็ก 9 ข้อ” ของนายกรัฐมนตรีที่แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2551 โดยเฉพาะในข้อ 2 ที่ “เน้นให้ยึดถือการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตอย่างเคร่งครัด” และข้อ 9 ที่ระบุว่า “ความรับผิดชอบทางการเมืองนั้น มีมาตรฐานที่สูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย”
นี่เป็นเพียงสัญญาณจากยอดภูเขาน้ำแข็งของปัญหาทั้งหมด !
คำถามมีอยู่ว่าถ้างบประมาณจะต้องใช้จ่ายไปมากกว่านี้จนหมดมาตรการไทยเข้มแข็ง การทุจริตคอร์รัปชั่นมันจะไม่ใหญ่มากกว่านี้หลายเท่าหรอกหรือ เมื่อถึงเวลานั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้งจะเข้าไปแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีกับทุกโครงการได้แค่ไหน? และอย่างไร ?
แต่ตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา “จนถึงปัจจุบัน” มีรายงานทางวิชาการว่านักการเมืองและข้าราชการไทยเขาคอร์รัปชั่นกันหนึ่ง กินกันดุถึง 30% ของบประมาณในการลงทุนแทบทุกประเภท แต่ปีนี้ดุที่สุดเมื่องบประมาณรายจ่ายกระจายไปยังท้องถิ่น มีการคอร์รัปชั่นกันหนักถึง 40% - 50%
ประเทศไทยมีงบลงทุนจากงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเฉลี่ย ปีละประมาณ 300,000 ล้านบาท 9 ปีก็ตกเป็นงบลงทุนรวม 2.7 ล้านล้านบาท
ลองคิดดูว่าค่าคอร์รัปชั่นที่นักการเมืองและข้าราชการโกงกินกันไป 30% ของงบลงทุนตลอด 9 ปีนี้คิดเป็นเงินถึง 810,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินจำนวนมากมายมหาศาลที่น่าเสียดายอย่างยิ่ง ยังไม่นับการเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานหรือการต่อสัญญากับหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจทั้งหลายซึ่งมีการทุจริตคอร์รัปชั่นอีกมโหฬาร
9 ปีที่แล้ว เมื่อปี 2544 ประเทศไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 2.9 ล้านล้านบาท มาปี 2552 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นมาเป็น 4 ล้านล้านบาท แปลว่ารัฐบาลได้กู้เพิ่มเติมขึ้นมาจากการขาดดุลงบประมาณไปแล้วประมาณ 1.1 ล้านล้านบาทตลอดระยะเวลา 9 ปี แต่เงินที่คนไทยทั้งชาติต้องเป็นหนี้กลับต้องนำไปให้นักการเมืองและข้าราชการไปทุจริตคอร์รัปชั่นโกงกินของไปแล้วอย่างน้อยถึง 810,000 ล้านบาท
ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีมาตรการอีกมากที่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยไม่ต้องอาศัยการจัดซื้อจัดจ้างเพียงอย่างเดียว เช่น การควบคุมราคาพลังงานของ ปตท. และ ปตท.สผ. การบริหารจัดการส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากให้แคบลง เปิดให้ใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ให้มากขึ้นเพื่อทำให้เกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ การบริหารค่าเงินบาทหรือการใช้นโยบายทางด้านภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นต้น
สำคัญอยู่ที่ว่าเมื่อเริ่มต้นปีนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีเจตนาที่จะหยุดยั้งการทุจริตคอร์รัปชั่นแล้ว ประชาชนก็ควรต้องให้กำลังใจนายอภิสิทธิ์ให้มีความกล้าหาญจัดการกับปัญหาการทุจริตในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยมาตรฐานเดียวกันอย่างถึงที่สุด
อย่าให้เป็นเหมือนปีที่แล้วที่ท่าดีทีเหลวจนองค์กรเพื่อความโปร่งใสระหว่างประเทศประเมินว่าสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชั่นปีที่แล้วของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์แย่ลงกว่ารัฐบาลก่อนหน้าเสียอีก
เมื่อประชาชนให้กำลังใจแล้วนายอภิสิทธิ์ ก็อย่าทำให้ประชาชนต้องผิดหวังเป็นอันขาด!