ความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ กตร.ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานการประชุม เมื่อบ่ายวันที่ 30 ธันวาคม 2552 มิใช่แต่จะเป็นการประชุมนัดส่งท้ายปีเก่า ที่บรรยากาศในประเทศเรากว่าครึ่ง ต่างเอาใจไปจดจ่ออยู่กับการเฉลิมฉลองเสียหมดแล้ว ยังเป็นการประชุมนัดพิเศษสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหลาย เพราะจู่ๆ ก็มีการนำวาระแทรกเข้าไปเร่งรีบพิจารณากันภายใน ทั้งที่เรื่องดังกล่าวมีความสำคัญเกี่ยวข้องกับการคืนความเป็นธรรมให้กับสังคม ด้วยการพิจารณาโทษผู้กระทำความผิดสั่งฆ่าประชาชนในเหตุการณ์ 7 ตุลาเลือด
โดยในช่วงท้ายการประชุม พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ ก.ตร. ในฐานะประธานอนุกรรมอุทธรณ์ ก.ตร. ได้เสนอเรื่องให้ ก.ตร.พิจารณาเห็นชอบว่า นายตำรวจ 3 นายไม่มีความผิด ประกอบด้วย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว และ พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ ภราดรศักดิ์ ผบก.จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นการขัดแย้งกับความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งเห็นว่าตำรวจทั้ง 3 นาย มีความผิดในเหตุการณ์การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. และเหตุการณ์การทำร้ายกลุ่มผู้ชุมนุมพันธมิตรฯ ของกลุ่ม นปช.ที่สวนสาธารณะหนองประจักษ์ จ.อุดรธานี
ตามข่าวนั้น วาระที่พล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์เสนอได้ก่อให้เกิดการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางภายในที่ประชุม เพราะมองว่า ความเห็นแย้งดังกล่าว ขัดกับหลักกฎหมายที่กำหนดไว้ว่า หน่วยงานรัฐต้องดำเนินการตามมติของ ป.ป.ช. ซึ่งมีการเสนอให้ส่งเรื่องนี้ให้กฤษฎีกาตีความ ขณะเดียวกับที่มี ก.ตร.บางท่านที่ไม่เห็นด้วย ที่จะมีมติเห็นแย้งกับคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ได้ประท้วงด้วยการเดินออกจากห้องไปทันที ประกอบด้วย นางเบญจวรรณ สร่างนิทร เลขาธิการ ก.พ. นายสมศักดิ์ บุญทอง ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รอง ผบ.ตร.ก.ตร.โดยตำแหน่ง และมี พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ก.ตร.โดยตำแหน่ง งดออกเสียง
ขณะที่ผู้เข้าร่วมประชุมที่เหลือ ต่างร่วมกันลงมติไปแล้วเห็นชอบตามคณะอนุฯอุทธรณ์ ที่มีพล.ต.ต.เพิ่มศักดิ์ เป็นประธาน ทั้งยังสรุปว่า ไม่จำเป็นต้องส่งกฤษฎีกาตีความ ประเด็นนี้อีกด้วย
ประเด็นนี้ยังยิ่งน่าสนใจ เมื่อสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์อุ้มมติ กตร.อีกโดยว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมาย โดย ป.ป.ช.ก็ใช้อำนาจของป.ป.ช. ขณะที่ตำรวจก็ใช้ช่องทางตาม พ.ร.บ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งยังสนับสนุนให้ ก.ตร.ส่งเรื่องนี้ให้ ครม.ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความกรอบอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช.
แต่นายสุเทพ ก็ต้องหน้าหงายผึ่ง เมื่อนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.ออกมาชี้แจงชัดเจนว่า ไม่ต้องเสียเวลาส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความแม้แต่น้อย เพราะประเด็นนี้ เคยมีคำวินิจฉัยออกมาแล้ว ดังตัวอย่าง ขอยกมาด้านล่างนี้ กรณีที่ ป.ป.ช.ไต่สวนและมีมติว่า นายวีรพล ดวงสูงเนิน อดีตรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่อย่างร้ายแรง หลังจากนั้น นายวีรพลได้อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการ ก.พ. ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าไม่มีความผิดฐานประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ มาตรา 82 วรรคสาม และมาตรา 98 วรรคสอง แต่เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง จากนั้น ครม.ได้มีมติให้นายวีรพลกลับเข้ารับราชการตามมติ ก.พ.
กรณีข้างต้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ปัจจุบันคือ มาตรา 214 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 โดยอ้างว่าเป็นการขัดกันของอำนาจองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ท้ายที่สุดที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า คณะกรรมการบริหารงานบุคคลที่รับอุทธรณ์ ไม่อาจจะพิจารณาเปลี่ยนแปลงฐานความผิดทางวินัยตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้วินิจฉัยแล้ว ตามคำวินิจฉัยที่ 2/2646 ลง 6 กุมภาพันธ์ 2546
(คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญโดยย่อ)
คำวินิจฉัยที่ ที่ 2/2546 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2546
เรื่อง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 266 เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ
ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัย คืออำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 301 วรรคหนึ่ง (3) เพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ไต่สวนและวินิจฉัยแล้ว เป็นอันยุติหรือไม่
เมื่อพิจารณาหลักการและเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ แล้ว เห็นได้ว่า มีสาระสำคัญที่แตกต่างกัน คือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในการไต่สวนและวินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่มุ่งเน้นการปฏิรูปการเมือง ด้วยการกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นกลไกในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ทั้งนี้ โดยมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายเฉพาะที่บัญญัติรายละเอียดในเรื่องดังกล่าวไว้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ เป็นกฎหมายทั่วไปที่กำหนดอำนาจหน้าที่ของ ก.พ.เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล วินัยและการรักษาวินัย
การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเป็นหลัก และดำเนินการตามกระบวนการที่บัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญโดยการไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดทุจริตต่อหน้าที่ซึ่งเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ถือได้ว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ครบถ้วนแล้ว ดังนั้น การวินิจฉัยข้อเท็จจริงและการมีมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่า ผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จึงต้องฟังเป็นที่ยุติ
ผู้ถูกกล่าวหาผู้ใดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติว่า กระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่ และผู้บังคับบัญชาพิจารณาลงโทษไล่ออกนั้น พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมิได้ตัดสิทธิผู้นั้นในการอุทธรณ์ โดยมาตรา 96 บัญญัติให้ผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกลงโทษตามมาตรา 93 ใช้สิทธิอุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับผู้ถูกกล่าวหานั้น ๆ ก็ได้
ขณะที่พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ มาตรา 124 บัญญัติว่า “ผู้ใดถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัตินี้ให้ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่บัญญัติไว้ในหมวดนี้” และมาตรา 126 บัญญัติว่า “การอุทธรณ์คำสั่งลงโทษปลดออกหรือไล่ออก ให้อุทธรณ์ต่อ ก.พ.ภายในสามสิบวันนับแต่วันรับทราบคำสั่ง....”
เห็นว่า การอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ และการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ มีความแตกต่างกัน กล่าวคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ใช้คำว่า “อุทธรณ์ดุลพินิจในการสั่งลงโทษ” พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ ใช้คำว่า “อุทธรณ์คำสั่งลงโทษ”
การใช้สิทธิอุทธรณ์ของผู้ถูกล่าวหา อันเนื่องมาจากการลงโทษทางวินัยของผู้บังคับบัญชาตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติ มิใช่ฐานความผิดจากการสอบสวนวินัยโดยผู้บังคับบัญชาของผู้ถูกกล่าวหาเอง และมิใช่กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกสั่งลงโทษตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือนฯ การอุทธรณ์จึงต้องอยู่ในขอบเขตที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้โดยมีสิทธิอุทธรณ์ ดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาเท่านั้นอุทธรณ์ได้เฉพาะระดับโทษตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ องค์กรกลางในการบริหารงานบุคคลของผู้ถูกกล่าวหา (ก.พ.) และองค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ของผู้ถูกกล่าวหาตามขั้นตอนต่อจากกระบวนการที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการสมบูรณ์เสร็จสิ้นแล้ว จึงมีอำนาจพิจารณาเฉพาะเรื่องดุลพินิจในการสั่งลงโทษของผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนตามฐานความผิดเดิมที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติเท่านั้น
การที่องค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ใช้อำนาจหน้าที่ล่วงล้ำ หรือกระทบกระเทือนอำนาจหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นการเฉพาะ โดยการวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงใหม่ แล้วเปลี่ยนฐานความผิดเพื่อกำหนดโทษใหม่ จึงไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนและวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 301 วรรคหนึ่ง (3) เพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่จึงเป็นอันยุติ ดังนั้น องค์กรที่มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ จึงไม่อาจพิจารณาเปลี่ยนแปลงฐานความผิดทางวินัยตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. วินิจฉัยยุติแล้ว ให้เป็นประการอื่นได้อีก
(ประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอน 121 ก. 15 ธ.ค. 46)
ความพยายามของคณะกรรมการ ก.ตร. ชุดที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธาน ที่ต้องการกลับผิดเป็นถูก อุ้มผู้ถูกกล่าวหาฆ่าประชาชน กลับเข้ากรมกองอีก ถือเป็นท่าทีที่สวนทางอย่างสิ้นเชิงกับการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้บังคับบัญชา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ก่อนหน้านี้ ก็เมตตาให้ลงโทษ “ปลดออก” แก่พล.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ซึ่งก็เป็นโทษสถานเบาสุด สำหรับ “ความผิดวินัยร้ายแรง” อยู่แล้ว
และยังเป็นการต่อสู้แบบศรีธนญชัย กล่าวถือ ถูก ป.ป.ช.ใช้กฎหมาย ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และตัวก็ขอใช้สิทธิตามกฎหมาย ป.ป.ช.ในการอุทธรณ์ แต่ทะลึ่งจะขออุทธรณ์ในเนื้อสาระที่เป็นไปตามกฎหมายอีกฉบับ ของ พ.ร.บ.ตำรวจ ถ้าอยากจะอุทธรณ์ตามเนื้อหาของ พ.ร.บ.ตำรวจ เอาไว้รอให้เป็นคดีที่ตำรวจพวกเดียวกันสอบกันเองดีกว่ามั้ย จะได้ไม่ขัดหลักกฎหมาย
และถ้าคุณสุเทพดึงดันจะส่งเรื่องนี้เข้า ครม.เพื่อหวังส่งต่อไปตีความยังศาล รัฐธรรมนูญ ดึงเรื่องให้ยืดยาวออกไป เพราะหวังจะซื้อเวลา ระวังว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวจะเป็นการทำร้ายความรู้สึกประชาชน ที่พ่อแม่พี่น้องเขาบาดเจ็บล้มตาย จนพวกเขาอดรนทนไม่ได้ โหยหาความยุติธรรมอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เขาจะพากันออกมาบอกเล่าความจริงด้วยตัวเองว่า ตกลง 7 ตุลาคม เมื่อปี 2551 “น้องเพื่อนคุณ มันทำผิดอะไรไว้บ้าง”